คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5239/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลมีอำนาจเรียกสำนวนการสอบสวนจากพนักงานอัยการมาเพื่อประกอบการวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 175 การดำเนินการของศาลดังกล่าวมิใช่การพิจารณาและสืบพยานในศาล จึงไม่ต้องทำต่อหน้าจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง และเมื่อมิใช่การสืบพยาน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจถามค้านพยานตาม ป.วิ.พ. มาตรา 117 วรรคสอง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตาม ป.อ. มาตรา ๘๓, ๒๘๘
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๒๘๘ จำคุก ๒๐ ปี ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ ถึง ที่ ๔
โจทก์และจำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีคนร้ายใช้วัตถุมีคมแทงนายสมโภชน์ผู้ตายที่บริเวณลำคอด้านหน้า เป็นเหตุให้เส้นเลือดและหลอดลมขาดเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ ๑ ได้หลังเกิดเหตุ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ ว่า จำเลยที่ ๑ กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ พยานโจทก์ทั้งสามปากเบิกความได้สอดคล้องกัน ทั้งที่ไม่ปรากฏว่ามีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ ๑ มาก่อน ไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลยที่ ๑ ให้ต้องรับโทษพยานหลักฐานจำเลยที่ ๑ มีน้ำหนักน้อยไม่อาจฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักให้รับฟังว่าจำเลยที่ ๑ กระทำความผิดตามฟ้อง
ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นเรียกคำให้การชั้นสอบสวนเพื่อประกอบคำให้การพยานโจทก์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพราะการดำเนินคดีอาญาต้องทำต่อหน้าจำเลยและเอกสารดังกล่าวจำเลยไม่มีโอกาสซักค้านนั้น เห็นว่า ศาลมีอำนาจเรียกสำนวนการสอบสวนจากพนักงานอัยการมาเพื่อประกอบคำวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๗๕ การดำเนินการของศาลดังกล่าวมิใช่การพิจารณาและสืบพยานในศาล จึงไม่ต้องทำต่อหน้าจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๗๒ วรรคหนึ่ง และเมื่อมิใช่การสืบพยาน จำเลยที่ ๑ จึงไม่มีอำนาจถามค้านพยานตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๑๗ วรรคสอง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕ ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ ๑ ไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน.

Share