แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การกระทำของโจทก์กับพวกเป็นเหตุให้จำเลยเข้าใจได้ว่าเป็นการบุกรุกที่สาธารณประโยชน์ และทำให้เสียทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ จำเลยแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนตรงตามสภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่วนการกระทำของโจทก์จะเป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่จำเลยแจ้งหรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะการแจ้งข้อความย่อมหมายถึงแจ้งเฉพาะข้อเท็จจริงไม่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย แม้ต่อมาพนักงานสอบสวนจะได้ดำเนินคดีแก่โจทก์ตามที่จำเลยแจ้ง และพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีโจทก์ ก็ยังถือไม่ได้ว่าข้อความที่จำเลยแจ้งนั้นเป็นความเท็จ คดีของโจทก์จึงไม่มีมูล
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2543 เวลากลางวัน จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอกันทรวิชัยว่า โจทก์ทั้งสองเข้าไปตัดต้นไม้ในที่สาธารณประโยชน์โคกป่าช้า ทำให้เสียทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ซึ่งจำเลยรู้อยู่แล้วว่ามิได้มีการกระทำผิดดังกล่าวเกิดขึ้น แต่เพื่อแกล้งให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายและได้รับโทษทางอาญา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 172, 173, 174
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนมูลฟ้องได้ความว่า เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2543 เวลาประมาณ 14 นาฬิกา โจทก์ทั้งสองร่วมกับชาวบ้านเข้าไปในที่สาธารณประโยชน์โคกป่าช้า ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม เพื่อสร้างศาลาพักศพและปรับปรุงเมรุเผาศพ โดยได้รับอนุญาตจากองค์การบริหารส่วนตำบลท่าขอนยาง ตามสำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการองค์การบริหารส่วนตำบลท่าขอนยาง เอกสารหมาย จ.2 และมีผู้ตัดต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ในบริเวณที่จะสร้างศาลาพักศพ ครั้งเวลาประมาณ 17 นาฬิกา จำเลยได้ไปแจ้งต่อร้อยตำรวจโทวิทยา กุศลวงศ์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอกันทรวิชัยว่า โจทก์ทั้งสองบุกรุกเข้าไปในที่สาธารณประโยชน์โคกป่าช้าแล้วตัดต้นไม้ทำให้เสียทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี เอกสารหมาย จ.1 โจทก์ทั้งสองถูกจับกุม และพนักงานสอบสวนยึดไม้ 3 ท่อน เป็นของกลางดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสอง ต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีโจทก์ทั้งสอง พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า คดีของโจทก์ทั้งสองมีมูลหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งสองเบิกความยอมรับว่าได้ร่วมกับชาวบ้านเข้าไปในที่สาธารณประโยชน์โคกป่าช้าและตัดต้นไม้เพื่อจะสร้างศาลาพักศพจริง ซึ่งตรงกับที่จำเลยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอกันทรวิชัย ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.1 โดยอ้างว่าได้รับอนุญาตจากองค์การบริหารส่วนตำบลท่าขอนยางแล้ว แต่ตามสำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการองค์การบริหารส่วนตำบลท่าขอนยาง เอกสารหมาย จ.2 ระบุว่า การก่อสร้างเมรุถาวรในที่สาธารณประโยชน์โคกป่าช้าจะต้องขออนุมัติต่อทางราชการ เนื่องจากเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน และโจทก์ที่ 1 ในฐานะกำนันตำบลท่าขอนยางก็ยอมรับว่ายังไม่ได้อนุมัติให้ดำเนินการดังกล่าวได้ การกระทำของโจทก์ทั้งสองกับพวกจึงเป็นเหตุให้จำเลยเข้าใจได้ว่าเป็นการบุกรุกที่สาธารณประโยชน์ และทำให้เสียทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ดังนั้น ข้อความที่จำเลยแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนตรงตามสภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องที่จำเลยแจ้งข้อความตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ส่วนการกระทำของโจทก์ทั้งสองจะเป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่จำเลยแจ้งหรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะการแจ้งข้อความย่อมหมายถึงแจ้งเฉพาะข้อเท็จจริงไม่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย แม้ต่อมาพนักงานสอบสวนจะได้ดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสองตามที่จำเลยแจ้ง และพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีโจทก์ทั้งสองก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าข้อความที่จำเลยแจ้งนั้นเป็นความเท็จ คดีของโจทก์ทั้งสองจึงไม่มีมูล”
พิพากษายืน.