แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3(1) บัญญัติว่า ‘ออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น’ และข้อความในตอนท้ายของมาตราดังกล่าวที่บัญญัติว่า ‘ถ้าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้น มีความผิด …….ฯลฯ……..’ เป็นองค์ประกอบที่ทำให้การกระทำผิดเกิดขึ้นสำเร็จ จะขาดองค์ประกอบข้อใดข้อหนึ่งมิได้ การกระทำที่จะเป็นความผิดดังกล่าวจะต้องได้ความว่า จำเลยไม่มีเงินอยู่ในบัญชีเพียงพอที่จะจ่ายตามเช็คของตนในวันออกเช็ค ฉะนั้นหากมีการเรียกเก็บเงินตามเช็คหลังจากวันที่เช็คถึงกำหนดโจทก์จะต้องนำสืบให้ได้ความว่าในวันออกเช็คจำเลยไม่มีเงินในบัญชีธนาคารพอจ่ายตามเช็ค คดีนี้เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าในวันออกเช็ค จำเลยมีเงินในบัญชีพอที่จะจ่ายตามเช็คนั้นได้หรือไม่ ข้อนำสืบของโจทก์จึงขาดสาระสำคัญที่จะแสดงให้เห็นว่าคดีโจทก์มีมูลความผิดตามฟ้อง แม้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ก็ต้องนำสืบให้ปรากฏถึงข้อเท็จจริงเช่นว่านั้นด้วยเมื่อโจทก์มิได้นำสืบ คดีโจทก์ก็ไม่มีมูล
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยออกเช็คชำระหนี้ให้โจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำเข้าบัญชี แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินด้วยเหตุผลว่าบัญชีปิดแล้วการกระทำของจำเลยเป็นการสั่งจ่ายเช็คโดยมีเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ ไม่มีคำว่า’ใบขณะออกเช็ค’ ดังนั้นเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยจึงต้องมีความผิด ซึ่งในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์นำสืบว่า จำเลยเป็นผู้ออกเช็คและธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน คดีโจทก์จึงมีมูลแล้วพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายการกระทำของจำเลยที่อ้างว่าเป็นความผิดก็คือจำเลยออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้ใช้เงินตามเช็คนั้น ซึ่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓(๑) บัญญัติว่า ‘ออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น’และข้อความในตอนท้ายของมาตราดังกล่าวที่บัญญัติว่า ‘ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็คนั้น มีความผิด……..ฯลฯ………’ เป็นองค์ประกอบที่ทำให้การกระทำผิดเกิดขึ้นสำเร็จ จะขาดองค์ประกอบข้อใดข้อหนึ่งมิได้ ดังนั้นการกระทำที่จะเป็นความผิดดังกล่าวจะต้องได้ความว่า จำเลยไม่มีเงินอยู่ในบัญชีเพียงพอที่จะจ่ายตามเช็คของตนในวันออกเช็ค เพราะถ้าจำเลยมีเงินพอจ่ายตามเช็คแต่เป็นเพราะความผิดของโจทก์ผู้ทรงที่ไม่นำเช็คไปเรียกเก็บเงินตามวันสั่งจ่ายที่ระบุลงในเช็คหรือวันออกเช็ค ย่อมจะถือว่าจำเลยออกเช็คดังกล่าวโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้นไม่ได้ ด้วยเหตุนี้หากมีการเรียกเก็บเงินตามเช็คหลังจากวันที่เช็คถึงกำหนดเช่นนี้ โจทก์จะต้องนำสืบให้ได้ความว่าในวันออกเช็คจำเลยไม่มีเงินในบัญชีธนาคารพอจ่ายตามเช็คด้วย คดีนี้เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าในวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๒๖ ซึ่งเป็นวันออกเช็ค จำเลยมีเงินในบัญชีพอที่จะจ่ายตามเช็คนั้นได้หรือไม่ ข้อนำสืบของโจทก์จึงขาดสาระสำคัญที่จะแสดงให้เห็นว่าคดีโจทก์มีมูลความผิดตามฟ้อง แม้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ก็ต้องนำสืบให้ปรากฏถึงข้อเท็จจริงเช่นว่านั้นด้วย เมื่อโจทก์มิได้นำสืบ คดีโจทก์ก็ไม่มีมูล
พิพากษายืน.