คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 522/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในฎีกา โจทก์จะต้องโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยไม่ชอบด้วยเหตุผลหรือไม่ถูกต้องอย่างไร หากโจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นข้อใดแล้ว แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ โจทก์จะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ข้อใดและเป็นการไม่ชอบอย่างไร เมื่อโจทก์มิได้ฎีกาดังกล่าว จึงถือว่าเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงิน 982,189.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงิน 682,500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่า คดีนี้โจทก์กล่าวอ้างว่านายปรีชากระทำละเมิดด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ให้ฟังได้ตามที่โจทก์กล่าวอ้างตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84/1 แต่พยานหลักฐานที่โจทก์นำมาสืบไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่ให้ฟังได้ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่านายปรีชา กระทำละเมิดต่อพันเอก (พิเศษ) ภาณุพงศ์ ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่จำต้องวินิจฉัยในรายละเอียดอื่นตามอุทธรณ์ของโจทก์อีกต่อไป เพราะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับฎีกาของโจทก์ในข้อ 2.1 ถึง 2.3 ซึ่งมีข้อความทำนองเดียวกับอุทธรณ์ของโจทก์ข้อ 2.1 ถึง 2.3 นั้น เห็นว่า ในฎีกา โจทก์จะต้องโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยไม่ชอบด้วยเหตุผลหรือไม่ถูกต้องอย่างไร หากโจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นข้อใดแล้ว แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ โจทก์จะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ข้อใดและเป็นการไม่ชอบอย่างไร เมื่อโจทก์มิได้ฎีกาดังกล่าว จึงถือว่าเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนฎีกาของโจทก์ในข้อ 2.4 ที่ว่า นายฤทธี พยานโจทก์ซึ่งเป็นนิติกรชำนาญการเบิกความไปตามข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับคดี คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ที่โจทก์แต่งตั้งขึ้น และตามความเห็นของกระทรวงการคลังซึ่งมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและมีความเชี่ยวชาญในการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่เป็นผู้พิจารณาเรื่องดังกล่าวเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายและรักษาผลประโยชน์ของรัฐและคดีนี้ไม่มีประจักษ์พยานเห็นเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุ แต่มีคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ว่า เหตุเกิดจากความประมาทของนายปรีชาที่ขับรถล้ำเข้าไปในช่องทางเดินรถของสิบเอกเชนแล้วไม่สามารถบังคับรถกลับมายังช่องทางเดินรถของตนได้จึงเกิดเหตุชนกันแต่เพียงฝ่ายเดียว นายปรีชา สิบเอกเชน และพันเอก (พิเศษ)ภาณุพงศ์ต่างถึงแก่ความตายทั้งหมด กรณีมีเหตุจำเป็นเนื่องจากไม่สามารถนำพยานบุคคลซึ่งเป็นผู้เห็นเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุมาเป็นพยานได้ และมีเหตุผลสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมอันควรรับฟังพยานบอกเล่าของโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 95/1 (2) พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาทั้งหมดย่อมมีน้ำหนักรับฟังได้นั้นเห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษา ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 23 วรรคหนึ่ง
จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความฎีกา คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

Share