คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 522/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจออกหมายเรียกเจ้าหนี้ ลูกหนี้หรือบุคคลใดมาสอบสวนในเรื่องหนี้สินแล้วทำความเห็นลงสำนวนเรื่องหนี้สินที่ขอรับชำระนั้นต่อศาล พร้อมทั้งรายงานว่ามีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ประการใดหรือไม่แล้วศาลเป็นผู้มีอำนาจสั่ง
เพียงแต่ศาลเขียนสั่งในรายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า “ได้พิจารณาตลอดแล้วเห็นชอบด้วย” เช่นนี้แม้จะมิได้ใช้ถ้อยคำให้ชัดเจนว่าได้สั่งอนุญาตให้รับชำระหนี้ตามรายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้นก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาแล้วก็พอถือได้ว่าเป็นคำสั่งที่สั่งอนุญาตให้รับชำระหนี้ได้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้นเอง เพราะไม่ปรากฏว่าศาลได้มีความเห็นเป็นอย่างอื่น.

ย่อยาว

คดีนี้เนื่องจากศาลได้พิพากษาให้บริษัทโรงงานฝ้ายกรุงเทพฯ จำกัด ล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำความเห็นรายงานต่อศาลว่ากระทรวงอุตสาหกรรมยื่นคำขอรับชำระหนี้เช่าประเภทต่าง ๆ และดอกเบี้ยรวม ๗ รายการเงิน ๕๘,๘๓๘.๙๕ บาท ภายหลังที่ลูกหนี้ล้มละลายแล้วโรงงานทอผ้าไทยได้โอนไปขึ้นสังกัดกรมการอุตสาหรรมกระทรวงกลาโหม คำขอรับชำระหนี้รายนี้ไม่มีเจ้าหนี้คัดค้านและผู้ล้มละลายก็ไม่คัดค้าน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเห็นควรให้ผู้ขอรับชำระหนี้ได้ชำระหนี้ ๕ รายการ ในฐานเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิเป็นจำนวนเงิน ๑๗๙๔,๓๙๐.๐๘ บาท ตาม ป.พ.พ. ม.๒๖๑ และรายการอันดับ ๖,๗ ในฐานเป็นเจ้าหนี้ธรรมดารวมเป็นเงิน ๕๘,๘๓๘.๙๕ บาท
ศาลแพ่งสั่งในรายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า ได้พิจารณาแล้วเห็นชอบด้วย
โจทก์อุทธรณ์ขอให้กลับคำสั่งของศาลแพ่งที่ได้สั่งรับชำระหนี้รายการอันดับ ๑ ถึง ๕ เป็นบุริมสิทธินั้นเสียและพิพากษาให้หนี้ที่กล่าวนี้เป็นหนี้สามัญธรรมดา ได้ส่วนเฉลี่ยเช่นหนี้รายอื่น ๆ
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการที่ผู้ขอรับชำระหนี้จะพึงได้รับชำระหนี้เพียงไรหรือไม่นั้นไม่ใช่เรื่องที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขอความเห็นชอบจากศาล เป็นเรื่องของศาลที่จะสั่งตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๓ ม.๑๐๖ หรือ ๑๐๗ กรณีนี้เพียงแต่ศาลเขียนสั่งในรายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า “ได้พิจารณาตลอดแล้วเห็นชอบด้วย” นั้นก็มีคำวินิจฉัยหรือความเห็นเท่านั้นยังไม่มีคำสั่งตาม ม.๑๐๖ หรือ ๑๐๗ ไม่สมควรที่ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาข้อโต้เถียงตามที่โจทก์ได้อุทธรณ์คัดค้านมาในเวลานี้ จึงพิพากษาให้ศาลแพ่งมีคำสั่งให้ตามรูปความให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๓ ม.๑๐๖ ฯลฯ
กระทรวงกลาโหมเจ้าหนี้ฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาเห็นว่าในการตรวจคำขอรับชำระหนี้นั้นพ.ร.บ.ล้มละลาย ม.๑๐๕ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจออกหมายเรียกเจ้าหนี้ ลูกหนี้หรือบุคคลใดมาสอบสวนในเรื่องหนี้สินแล้วทำความเห็นส่งต่อศาลพร้อมทั้งรายงานว่ามีผู้ใดโต้แย้งหรือไม่ มาตรา ๑๐๖ บัญญัติว่า กรณีที่ไม่มีข้อโต้แย้ง ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้รับชำระหนี้ไว้ เว้นแต่มีเหตุสมควรสั่งเป็นอย่างอื่น และ ม.๑๐๗ บัญญัติใจความว่า กรณีที่มีข้อโต้แย้ง ให้ศาลพิจารณาสั่งอย่างใดอย่างหนึ่ง (๑) ยกคำขอรับชำระหนี้ (๒) อนุญาตให้รับชำระหนี้เต็มจำนวน (๓) อนุญาตให้รับชำระหนี้แต่บางส่วน
การขอรับชำระหนี้ของกระทรวงกลาโหมนี้ไม่มีผู้ใดโต้แย้ง กรณีจึงเข้า ม.๑๐๖ ซึ่งศาลมีอำนาจสั่งให้รับชำระหนี้ได้ เว้นแต่มีเหตุอันสมควรสั่งเป็นอย่างอื่น การที่ศาลชั้นต้นเขียนสั่งในรายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวข้างต้น จริงอยู่แม้จะมิได้ใช้ถ้อยคำให้ชัดเจนว่าได้สั่งอนุญาตให้รับชำระหนี้ตามรายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาแล้วก็พอถือได้ว่เป็นคำสั่งสั่งอนุญาตให้รับชำระหนี้ได้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้นเอง เพราะไม่ปรากฏว่าศาลได้มีความเห็นเป็นอย่างอื่น
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไป.

Share