คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5218/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ไม่ได้ยินยอมชำระเบี้ยปรับตามที่จำเลยเรียกร้องกลับปรากฎว่าเมื่อจำเลยมีหนังสือแจ้งสงวนสิทธิการเรียกค่าปรับไปถึงโจทก์โจทก์ก็ได้มีหนังสือของลดค่าปรับไปถึงจำเลยแสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่ได้ยินยอมชำระเบี้ยปรับให้แก่จำเลยตามที่จำเลยเรียกร้องส่วนที่จำเลยอ้างว่าจำเลยมีสิทธิหักค่าเบี้ยปรับจากเงินที่จำเลยต้องจ่ายค่ารถลากให้แก่โจทก์โดยการหักกลบลบหนี้หรือตามข้อผูกพันที่ระบุไว้ในสัญญาและตามระเบียบของทางราชการนั้นถึงแม้จำเลยมีสิทธิที่อาจจะกระทำได้แต่จะถือว่าโจทก์ยินยอมชำระเบี้ยปรับให้แก่จำเลยอันจะเป็นเหตุให้สิทธิเรียกร้องขอลดเบี้ยปรับเป็นอันขาดไปตามที่บัญญัติในมาตรา383วรรคแรกหาได้ไม่

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2531และวันที่ 13 กรกฎาคม 2531 จำเลยได้ประกาศเรียกประกวดราคาซื้อรถลากและรถหัวลากรวม 2 คัน โดยกำหนดระยะห่างระหว่างล้อหน้าและล้อหลังให้มีระยะไม่ต่ำกว่า 3,800 มิลลิเมตรผลการประกวดราคาปรากฎว่า โจทก์ชนะการประกวดราคา ต่อมาเมื่อวันที่ 28 และ 30 กันยายน 2531 โจทก์กับจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายรถลากและรถหัวลากและรถหัวลากเป็นรถยี่ห้อDIAMOND REO แบบ C 11664 DBH ทั้ง 2 คัน รถลากกำหนดระยะห่างระหว่างล้อหน้าและล้อหลังไว้ประมาณ 5,000 มิลลิเมตร ราคา2,839,500 บาท รถหัวลากกำหนดระยะห่างระหว่างล้อหน้าและล้อหลังไว้ประมาณ 5,385 มิลลิเมตร ราคา 2,839,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2532 โจทก์ได้นำรถทั้ง 2 คัน ดังกล่าวไปส่งมอบแก่จำเลย จำเลยไม่ยอมรับมอบอ้างว่า รถที่โจทก์ส่งมอบมีระยะห่างระหว่างล้อหน้าและล้อหลังเพียง 4,300 มิลลิเมตร ไม่ได้ระยะตามที่กำหนดไว้ในสัญญา โจทก์ได้มีหนังสือลงวันที่3 สิงหาคม 2532 ชี้แจงไปยังจำเลยขอให้รับการส่งมอบ ปรากฎว่าจำเลยมิได้แจ้งตอบให้โจทก์ทราบถึงผลการพิจารณาของจำเลยในเวลาอันควร กลับปล่อยปละละเลยให้เนิ่นช้าจนถึงวันที่ 27 มีนาคม 2533จึงมีหนังสือตอบปฏิเสธมายังโจทก์ จากนั้นโจทก์จึงได้ดำเนินการจัดหาและส่งมอบให้แก่จำเลยตามสัญญาเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2533 ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2533 จำเลยได้มีหนังสือแจ้งมายังโจทก์ว่าจำเลยขอสงวนสิทธิในการเรียกเบี้ยปรับตามสัญญา เนื่องจากการส่งมอบล่าช้าเป็นรายวัน วันละ 4,259.25 บาท รวม 2,108,328.75 บาทสำหรับรถลาก และวันละ 4,258.50 บาท รวม 2,099,440.50 บาทสำหรับรถหัวลาก โจทก์ได้โต้แย้งและขอให้จำเลยลดเบี้ยปรับโดยขอชำระเบี้ยปรับเป็นเงินร้อยละ 10 ของราคาซื้อขายเป็นเงิน 283,950 บาทสำหรับรถลากและเป็นเงิน 283,900 บาท สำหรับรถหัวลากจำเลยไม่ยอมกลับหักเอาเงินจำนวนดังกล่าวข้างต้นทั้งสองรายการออกจากเงินค่ารถทั้ง 2 ค้นดังกล่าวที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์การกระทำของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม เพราะจำเลยประกาศเรียกประกวดราคาโดยกำหนดระยะห่างระหว่างล้อหน้าและล้อหลังของรถไว้อย่างหนึ่ง แต่ระบุไว้ในสัญญาอีกอย่างหนึ่งเป็นเหตุให้โจทก์ผิดหลง นอกจากนั้นจำเลยยังไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับอันเนื่องมาจากการส่งมอบล่าช้า เพราะจำเลยไม่ได้สงวนสิทธิในการเรียกเบี้ยปรับไว้ในขณะส่งมอบ และความล่าช้าในการส่งมอบเป็นเพราะความผิดของจำเลยด้วย ที่พิจารณาเรื่องล่าช้า เบี้ยปรับสูงเกินไปเมื่อเทียบกับความเสียหาย ดังนั้น จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องคืนเงินเบี้ยปรับในส่วนที่เกินร้อยละ 10 ของราคารถแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินสำหรับรถลากเป็นเงิน 1,955,584.07 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินจำนวน 1,824,378.75บาท และสำหรับรถหัวลากเป็นเงิน 1,878,213.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินจำนวน 1,815,540.50 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า โจทก์ส่งมอบรถไม่ถูกต้องตามสัญญาจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา การส่งมอบล่าช้าเป็นความผิดของโจทก์และเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหาย ทำให้ภารกิจการงานของจำเลยต้องหยุดชะงัก โจทก์ไม่มีสิทธิขอลดเบี้ยปรับและไม่มีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ ทั้ง สอง สำนวน อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน2,529,269.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลย ทั้ง สอง สำนวน ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ได้ใช้เงินตามเบี้ยปรับให้แก่จำเลยแล้ว สิทธิขอลดเบี้ยปรับของโจทก์จึงหมดสิ้นไปนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคแรก บัญญัติไว้ว่า ฯลฯ เมื่อได้ใช้เงินตามเบี้ยปรับแล้วสิทธิเรียกร้องขอลดก็เป็นอันขาดไป บทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่า ถ้าผู้ที่จะถูกเรียกให้ใช้เบี้ยปรับยินยอมชำระเบี้ยปรับตามจำนวนที่เรียกร้องให้แก่ผู้เรียกร้องแล้ว ย่อมหมดสิทธิที่จะขอลดเบี้ยปรับที่ได้ชำระไปแล้ว แต่กรณีของโจทก์กับจำเลย โจทก์ไม่ได้ยินยอมชำระเบี้ยปรับตามที่จำเลยเรียกร้อง กลับปรากฎว่าเมื่อจำเลยมีหนังสือลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2533 แจ้งสงวนสิทธิการเรียกค่าปรับไปถึงโจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.24 และ จ.25 โจทก์ก็ได้มีหนังสือลงวันที่ 27 ธันวาคม 2533 ขอลดค่าปรับไปถึงจำเลยตามเอกสารหมาย จ.26 และ จ.27 แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่ได้ยินยอมชำระเบี้ยปรับให้แก่จำเลยตามที่จำเลยเรียกร้อง ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยมีสิทธิหักค่าเบี้ยปรับจากเงินที่จำเลยต้องจ่ายค่ารถลากให้แก่โจทก์โดยการหักกลบลบหนี้หรือตามข้อผูกพันที่ระบุไว้ในสัญญาและตามระเบียบของทางราชการนั้น เห็นว่า ถึงแม้จำเลยมีสิทธิที่อาจจะกระทำได้ แต่จะถือว่าโจทก์ยินยอมชำระเบี้ยปรับให้แก่จำเลยตามที่บัญญัติในมาตรา 383 วรรคแรก หาได้ไม่
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ส่งมอบรถลากทั้ง 2 คัน ล่าช้าก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการในงานก่อสร้างทางหลวงและจำนวนเงินเบี้ยปรับเป็นข้อตกลงที่กำหนดไว้ในสัญญาโดยชัดแจ้งซึ่งโจทก์ทราบดีอยู่แล้ว จึงต้องถือว่าจำนวนเบี้ยปรับที่จำเลยหักจากค่ารถลากทั้ง 2 คน ชอบด้วยกฎหมายแล้วนั้น ตามประกาศกรมทางหลวงเรื่อง ประกวดราคาซื้อพัสดุ ที่ ก.32/2531 และที่ ก.55/2531 เอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 ตามลำดับ ได้กำหนดระยะห่างระหว่างล้อหน้าและล้อหลังไม่ต่ำกว่า 3,800 มิลลิเมตร ต่อมาก็มีประกาศกองการพัสดุกรมทางหลวง เรื่อง ประกาศผลการประกวดราคาซื้อพัสดุที่ก.32/2531 และที่ ก.55/2531 ว่า โจทก์เสนอรายละเอียดถูกต้องตามประกาศซึ่งจำเลยตกลงรับราคาและรับเป็นคู่สัญญากับโจทก์แล้วตามเอกสารหมาย จ.10 และ จ.11 แสดงให้เห็นว่า จำเลยตกลงรับรถลากและรถหัวลากตามประกาศเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 แต่เมื่อโจทก์จำเลยทำสัญญาซื้อขายกันกลับปรากฎว่าได้กำหนดระยะห่างระหว่างล้อหน้าและล้อหลังของรถลากและรถหัวลากตามประกาศที่ ก.32/2531 เอกสารหมาย จ.6 ว่า ต้องมีระยะห่างประมาณ5,000 มิลลิเมตร และตามประกาศที่ ก.55/2531 เอกสารหมาย จ.7 ว่าต้องมีระยะห่างประมาณ 5,385 มิลลิเมตร ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.12 และ จ.13 ตามลำดับต่อมาเมื่อโจทก์ส่งมอบรถลากและรถหัวลากทั้ง 2 ค้น ที่มีช่องห่างระหว่างล้อหน้าและล้อหลัง4,300 มิลลิเมตร ให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2532 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาเอกสารหมาย จ.12 และ จ.13 ตามหนังสือส่งมอบเอกสารหมาย จ.16 และ จ.17 ตามลำดับ คณะกรรมการตรวจรับของจำเลยทำการตรวจรับแล้ว เห็นว่า ยังมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไขรวม 8 รายการ ตามหนังสือลงวันที่ 30 มิถุนายน 2532ที่จำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบ เอกสารหมาย จ.18 และ จ.19ก่อนหน้านั้นโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบถึงข้อที่จำเลยอ้างว่าเป็นข้อบกพร่องซึ่งโจทก์ได้แก้ไขแล้วตามหนังสือลงวันที่6 มิถุนายน 2532 เอกสารหมาย ล.5 และได้มีหนังสือชี้แจงเฉพาะเรื่องช่วงห่างระหว่างล้อหน้าและล้อหลังของรถลากและรถหัวลากทั้ง2 ค้น ตามหนังสือลงวันที่ 3 สิงหาคม 2532 เอกสารหมาย จ.20ต่อมาจำเลยมีหนังสือลงวันที่ 27 มีนาคม 2533 แจ้งให้โจทก์ทราบว่าให้ส่งมอบรถลากที่มีช่วงห่างระหว่างล้อหน้าและล้อหลังตามที่ระบุไว้ในสัญญา ตามเอกสารหมาย จ.21 เห็นว่า แม้โจทก์จะส่งมอบรถลากและรถหัวลากทั้ง 2 คัน ที่มีช่วงห่างระหว่างล้อหน้าและล้อหลังไม่ตรงตามที่ระบุไว้ในสัญญา แต่ก็เป็นไปตามประกาศประกวดราคาซื้อพัสดุและประกาศผลการประกวดราคาซื้อพัสดุของจำเลยและเมื่อโจทก์ส่งมอบให้จำเลยแล้ว จำเลยก็ไม่ได้ปฏิเสธที่จะไม่รับมอบรถลากและรถชักลากทั้ง 2 คัน เสียทีเดียว แต่ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคุณภาพของรถดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมการมีความเห็นว่าไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการตรวจรับและสามารถใช้งานได้ แต่เนื่องจากนิติกรของจำเลยเห็นว่าไม่อาจแก้ไขสัญญาได้ จำเลยจึงแจ้งให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญา ตามเอกสารหมาย จ.21 ดังกล่าวแล้ว แสดงให้เห็นว่าหากนิติกรของจำเลยเห็นว่าให้มีการแก้ไขสัญญาในส่วนที่เกี่ยวกับช่วงห่างระหว่างล้อหน้าและล้อหลังได้ จำเลยก็คงแก้ไขสัญญาและยอมรับมอบรถลากและรถหัวลากทั้ง 2 คัน ที่โจทก์ส่งมอบให้แล้วซึ่งโจทก์ส่งมอบให้แล้ว ซึ่งโจทก์ก็จะไม่ผิดสัญญา เช่นนี้ต้องถือว่าก่อนที่จำเลยมีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.21 แจ้งให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญา จำเลยยังไม่ได้ปฏิเสธที่จะไม่ยอมรับมอบรถลากและรถหัวลากทั้ง 2 คัน โดยจำเลยยังไม่ถือว่าโจทก์ผิดสัญญา จำเลยเพิ่งถือว่าโจทก์ผิดสัญญาตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือตามเอกสารหมาย จ.21คือหลังจากวันที่ 27 มีนาคม 2533 เมื่อคิดถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2533อันเป็นวันที่โจทก์ส่งมอบรถลากและรถหัวลากทั้ง 2 คัน ตามสัญญาให้แก่จำเลย โดยคิดค่าปรับวันละ 4,259.25 บาท และ 4,258.50 บาทตามลำดับ ก็จะเป็นเงินจำนวน 804,998.25 บาท และ 804,856.50 บาทตามลำดับ ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยคิดค่าปรับจากโจทก์จำนวน 839,500 บาท และ 839,000 บาท เสียอีกที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน

Share