คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5218/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการฝ่ายบริหารส่วนภูมิภาคในเขตจังหวัดและรับผิดชอบงานบริหารราชการจังหวัดและมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติราชการของจำเลยที่ 1 ซึ่งรับราชการอยู่ในจังหวัดและอยู่ในบังคับบัญชารับผิดชอบของโจทก์ที่ 2 แต่เงินค่าเช่าบ้านที่จำเลยที่ 1 เบิกเอาไปโดยไม่มีสิทธินั้น มิใช่เป็นเงินงบประมาณของโจทก์ที่ 2 แต่เป็นเงินงบประมาณของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการโจทก์ที่ 1 เมื่อมีการกระทำละเมิดเอาเงินดังกล่าวไป ผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรงคือโจทก์ที่ 1 ส่วนประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 218 ข้อ 50,51,53 และฉบับที่ 310 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะละเมิดนั้นเป็นกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารราชการ และกำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการส่วนจังหวัดเท่านั้น หาได้ให้อำนาจแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะเป็นผู้ดำเนินการแทนหน่วยราชการในส่วนกลาง ที่เป็นผู้เสียหายด้วยไม่เมื่อโจทก์ที่ 2 ไม่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 2 จึงไม่ถูกโต้แย้งสิทธิ และไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นกรมในรัฐบาล เป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยทั้งสี่ และเป็นเจ้าของเงินงบประมาณค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลจัดสรรให้ โจทก์ที่ 2 เป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการฝ่ายบริหารส่วนภูมิภาคในเขตจังหวัดนนทบุรี และรับผิดชอบงานบริหารราชการของจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติราชการของจำเลยทั้งสี่ จำเลยที่ 1 ทำคำขอเบิกค่าเช่าบ้านอันเป็นเท็จหลอกลวงฉ้อโกงโจทก์ที่ 2 ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหายเป็นเงิน28,208.61 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีหน้าที่ตรวจสอบว่าจำเลยที่ 1 เช่าบ้านจริงหรือไม่ กลับละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายทั้งได้ทำคำรับรองการตรวจสภาพบ้านและทำคำรับรองของเจ้าของบ้านอันเป็นเท็จทำให้จำเลยที่ 1 สามารถหลอกลวงฉ้อโกงให้โจทก์ที่ 2 หลงเชื่ออนุมัติให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินค่าเช่าบ้านของโจทก์ที่ 2 ไป หากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อฝ่าฝืนคำสั่งระเบียบแบบแผนของทางราชการก็จะตรวจพบว่าจำเลยที่ 1 เบิกค่าเช่าบ้านโดยไม่มีสิทธิ และโจทก์ที่ 2 จะไม่อนุมัติให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินค่าเช่าบ้านของโจทก์ที่ 2 ไป การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของเงินและเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่ 2ซึ่งเป็นผู้ควบคุมบังคับบัญชาการปฏิบัติงานราชการของจำเลยทั้งสี่โจทก์ที่ 2 จึงได้รับความเสียหายด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมหรือแทนกันชำระหนี้ 28,208.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะประธานกรรมการมีอำนาจสั่งให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 ในฐานะกรรมการไปตรวจสอบและรายงานตามคำสั่งของนายอำเภอได้ไม่จำต้องไปตรวจด้วยตนเอง เมื่อจำเลยที่ 3 ที่ 4 ทำรายงานมาให้ จำเลยที่ 2มีหน้าที่ลงชื่อและรายงานต่อไปตามลำดับชั้น จำเลยที่ 2 จึงทำหน้าที่ครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย โจทก์รู้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน จนถึงวันฟ้องเกินกว่า 1 ปี คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ที่ 4 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยที่ 3ที่ 4 ได้รับแต่งตั้งจากนายอำเภอปากเกร็ดให้เป็นกรรมการมีหน้าที่ไปตรวจสอบสภาพบ้านเช่าว่ามีความมั่นคงแข็งแรงและเหมาะสมกับราคาค่าเช่าหรือไม่ มิได้แต่งตั้งให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 ตรวจสอบว่ามีการเช่ากันจริงหรือไม่ การที่จำเลยที่ 1 ปลอมลายมือชื่อของเจ้าของบ้านเช่า มิใช่เพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 ที่ 4 โจทก์ได้รู้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิด รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่มีการสอบสวนทางวินัยเสร็จ หรือตั้งแต่วันที่มีคำสั่งไล่จำเลยที่ 1 ออกจากราชการคือวันที่ 3 มีนาคม2529 โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2530 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ การที่ทางราชการอนุมัติให้จำเลยที่ 1 เบิกค่าเช่าบ้านมิใช่เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 3 ที่ 4 จำเลยที่ 3ที่ 4 ไม่ต้องรับผิดขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน28,208.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 24 เมษายน 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1ส่วนฟ้องโจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1รับราชการตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี 2 สำนักงานศึกษาธิการอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี อยู่ในสังกัดของโจทก์ที่ 1ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 โดยทำการเบิกเงินค่าเช่าบ้านไปโดยไม่มีสิทธิ ทำให้โจทก์ที่ 1 เสียหายเป็นเงิน 28,208.61 บาทกรณีพิพาทนี้นอกจากโจทก์ที่ 1 จะได้ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในเงินจำนวนดังกล่าวแล้ว โจทก์ที่ 2 ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีซึ่งมีจำเลยที่ 1 รับราชการอยู่ได้ร่วมเป็นโจทก์ฟ้องด้วย ปัญหาในชั้นฎีกาตามที่โจทก์ทั้งสองฎีกามีเพียงว่าโจทก์ที่ 2 มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์ที่ 2 จะเป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการฝ่ายบริหารส่วนภูมิภาคในเขตจังหวัดนนทบุรีและรับผิดชอบงานบริหารราชการจังหวัดและมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติราชการของจำเลยที่ 1 ซึ่งรับราชการอยู่ในจังหวัดนนทบุรี และอยู่ในบังคับบัญชารับผิดชอบของโจทก์ที่ 2 แต่เงินค่าเช่าบ้านที่จำเลยที่ 1 เอาไปนั้นมิใช่เป็นเงินงบประมาณของโจทก์ที่ 2 หากแต่เป็นเงินงบประมาณของโจทก์ที่ 1 เมื่อมีการกระทำละเมิดเอาเงินดังกล่าวไป ผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรงคือโจทก์ที่ 1หาใช่โจทก์ที่ 2 ไม่ ที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าโจทก์ที่ 2 มีอำนาจฟ้องเพราะถูกโต้แย้งสิทธิตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ข้อ 50,51, 53 และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 310 นั้น เห็นว่า ประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นเป็นกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารราชการ และกำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการส่วนจังหวัดเท่านั้น หาได้ให้อำนาจแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะเป็นผู้ดำเนินการแทนหน่วยราชการในส่วนกลางที่เป็นผู้เสียหายด้วยไม่ ดังนั้นเมื่อโจทก์ที่ 2 ไม่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 2 จึงไม่ถูกโต้แย้งสิทธิโจทก์ที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาในส่วนนี้ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share