แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในช่วงที่ ผ. ทำหนังสือสัญญาโอนหลุดเป็นสิทธิ โจทก์ที่ 4 มีอายุประมาณ 22 ปี เป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้ว สัญญาโอนหลุดเป็นสิทธิดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้ หาตกเป็นโมฆะไม่
สำหรับที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ยังเป็นผู้เยาว์ในช่วงที่ ผ. ทำสัญญาโอนหลุดเป็นสิทธิแทนโจทก์ที่ 1 และที่ 2 แม้ในวันทำสัญญาดังกล่าวจะมีพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2477 ใช้บังคับแล้วโดยให้เพิ่มบทบัญญัติบรรพ 5 ตั้งแต่มาตรา 1435 ถึง 1598 เข้าเป็นส่วนหนึ่งแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้บทบัญญัติแห่งบรรพนี้ตั้งแต่วันที่ 1ตุลาคม 2478 เป็นต้นไป ซึ่งบทบัญญัติบรรพ 5 นี้ มีบทบัญญัติเกี่ยวกับผู้ใช้อำนาจปกครองจะทำนิติกรรมอันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินของผู้เยาว์ไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาตตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1546 แต่การโอนที่ดินให้หลุดเป็นสิทธิแก่ผู้รับจำนองนั้นไม่มีบัญญัติไว้ในมาตรา 1546(1) ถึง (8) แต่อย่างใด ดังนั้น การที่ ผ. ทำสัญญาโอนที่ดินพิพาทให้หลุดเป็นสิทธิแก่ จ. แทนโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ในขณะที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546(1) ถึง (8) ใช้บังคับ จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าว สัญญาที่ ผ. ทำไว้ดังกล่าวมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้โดยไม่จำต้องได้รับอนุญาตจากศาลเสียก่อน และหาตกเป็นโมฆะไม่
เมื่อที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ จ. ตามหนังสือสัญญาโอนหลุดเป็นสิทธิแล้ว การที่ต่อมา จ. ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ก็ดี จำเลยที่ 1 แบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 218086 ถึง 218088 และโฉนดที่ดินเลขที่ 3472 ในส่วนจำนวนเนื้อที่ของที่ดินที่เหลือแล้วจำเลยที่ 1 ยกกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 218086 และ 218088ให้แก่จำเลยที่ 2 ยกกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 218087 และ 3472 ในส่วนจำนวนเนื้อที่ของที่ดินที่เหลือให้แก่จำเลยที่ 3 ก็ดี และจำเลยที่ 3 ยกกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3472ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 4 ก็ดี ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยดังกล่าวโดยชอบโจทก์ทั้งหกหามีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่เพื่อขอให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้กลับสู่สภาพเดิมไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 3472 เป็นกรรมสิทธิ์ของนายโท้ สุขอร่ามนายโท้เป็นบิดาของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 นายผ่องและนางพรหม สุขอร่าม นายผ่องและนางพรหมเป็นบิดาและมารดาของโจทก์ที่ 5 และที่ 6 ตามลำดับ เมื่อก่อนปี 2475 นายโท้ยกกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 นายผ่องและนางพรหม แต่ทั้งนายโท้ โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 นายผ่องและนางพรหมก็ร่วมกันครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวตลอดมาจนกระทั่งนายโท้ถึงแก่กรรม ต่อมานางผิว โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4นายผ่องและนางพรหมเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมายและครอบครองทำประโยชน์ด้วยกัน แล้วต่อมาปี 2478 ถึง 2482 ซึ่งขณะนั้นโจทก์ที่ 1ที่ 2 และที่ 4 ยังเป็นผู้เยาว์ นางจุ้ย วงษ์นิล กับพวกร่วมกันปลอมลายมือชื่อและลายพิมพ์นิ้วมือของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 นายผ่องและนางพรหมลงในหนังสือสัญญาจำนองกรรมสิทธิ์ที่ดิน ฉบับลงวันที่ 25 เมษายน 2478 หนังสือสัญญาโอนหลุดเป็นสิทธิ ฉบับลงวันที่ 1กรกฎาคม 2482 สารบัญจดทะเบียนท้ายโฉนดที่ดินในช่องวันที่ 1 กรกฎาคม 2482 และเอกสารอื่น ๆ อีกหลายฉบับ และไม่ได้มีการขออนุญาตต่อศาลตามกฎหมายเสียก่อนนิติกรรมดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและตกเป็นโมฆะ ต่อมานายผ่องและนางพรหมถึงแก่กรรม โจทก์ที่ 5 และที่ 6 ได้รับมรดกที่ดินแปลงดังกล่าว เมื่อปี 2482 นางจุ้ยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตร และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้โอนแบ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรและหลานของตน และจำเลยทั้งสี่ร่วมกันแบ่งแยกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 218086 ถึง 218088 หลังแบ่งแยกแล้วมีชื่อจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินเลขที่ 3472 มีชื่อจำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินเลขที่ 218086,218088 และมีชื่อจำเลยที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินเลขที่ 218087 การกระทำของจำเลยทั้งสี่ดังกล่าวเป็นการกระทำโดยไม่มีสิทธิและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ทั้งหกซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวได้รับความเสียหาย โจทก์ทั้งหกเพิ่งทราบเรื่องนี้เมื่อประมาณต้นปี 2533 ขอให้พิพากษาเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 3472(บางส่วน) และเลขที่ 218086 ถึง 218088 เป็นโมฆะ และให้กลับสู่สภาพเดิมเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 3472 แก่โจทก์ทั้งหก
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 3472 เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 นายผ่อง สุขอร่าม นางสาวพรหม สุขอร่าม และนางผิว สุขอร่าม โดยรับโอนมรดกจากนายโท้ตามสัดส่วนแห่งกฎหมายลักษณะผัวเมีย กล่าวคือ ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนางผิวในฐานะเป็นภริยา 1 ส่วนที่เหลืออีก 2 ส่วน เป็นทรัพย์มรดกตกแก่ทายาทคือบุคคลทั้งเจ็ดดังกล่าวคนละ 1 ส่วน นายโท้ไม่เคยยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้โจทก์ที่ 1ถึงที่ 4 นายผ่องและนางสาวพรหม ต่อมาเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2478 นางผิวจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวไว้แก่นางจุ้ย และต่อมาเมื่อปี 2480 นางสาวพรหมถึงแก่กรรม ที่ดินเฉพาะส่วนของนางสาวพรหมจึงโอนตกเป็นมรดกของนางผิว ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2482โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 นายผ่องและนางผิวโอนที่ดินแปลงดังกล่าวพร้อมบ้าน 1 หลัง ตีใช้หนี้และทำสัญญาหลุดเป็นสิทธิแก่นางจุ้ย ซึ่งสัญญาจำนอง สัญญาหลุดเป็นสิทธิและสารบัญจดทะเบียนท้ายโฉนดที่ดินคู่สัญญาได้กระทำตามขั้นตอนของกฎหมายโดยถูกต้องต่อหน้าเจ้าพนักงานที่ดินไม่จำต้องร้องขอต่อศาลเพราะขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องขออนุญาตต่อศาลเสียก่อน ซึ่งนางผิวลงลายพิมพ์นิ้วมือในนามตนเองและในนามมารดาผู้ปกครองโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ผู้เยาว์โดยมีโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ลงชื่อให้ความยินยอมไว้ ไม่มีผู้ใดปลอมแปลงลายมือชื่อหรือลายพิมพ์นิ้วมือของคู่สัญญาคนใดแต่ประการใด นิติกรรมดังกล่าวจึงสมบูรณ์ไม่เป็นโมฆะ และในวันเดียวกันนั้น จำเลยที่ 1ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวต่อจากนางจุ้ยโดยสุจริต และเสียค่าตอบแทนและได้ครอบครองทำประโยชน์โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่มาเกินกว่า 10 ปีแล้ว โดยได้ให้นางผิวและบริวารคือโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และนายผ่องเช่าที่ดินแปลงดังกล่าวทำนาและให้อยู่อาศัยในบ้านหลังดังกล่าวตั้งแต่ปี 2482 เป็นต้นมา โดยเสียค่าเช่าตอบแทนปีละครั้ง จนกระทั่งปี 2490 ถึง 2495 โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และนายผ่องย้ายออกไปอยู่ที่อื่นไม่ได้มาเกี่ยวข้องอีกเลย คงมีแต่โจทก์ที่ 1 เพียงคนเดียวที่กลับมาอาศัยนางผิวอยู่ ต่อมาในปี 2529 จำเลยที่ 1 ได้ให้เจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินแปลงดังกล่าวออกเป็น 4 แปลง และแบ่งแยกออกโฉนดเสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ 13มีนาคม 2533 ซึ่งที่ดินบางส่วนถูกกรุงเทพมหานครเวนคืนสร้างเป็นถนนพระราม 9 ที่เหลือแบ่งแยกแล้วเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 3472 และ 218086 ถึง 218088 และจำเลยที่ 1 ยกที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 3472 ให้แก่จำเลยที่ 4 ยกที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 218086 และ 218088ให้แก่จำเลยที่ 2 และยกที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 218087 ให้แก่จำเลยที่ 3 ซึ่งโจทก์ทั้งหกทราบดีไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน โจทก์ที่ 5 และที่ 6 ไม่เคยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าว ทั้งมิได้เป็นผู้รับมรดกสืบต่อจากนายผ่องและนางสาวพรหม เมื่อนายผ่องถึงแก่กรรม โจทก์ที่ 5 ไม่ได้ดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวอย่างใด และโจทก์ที่ 6 มิได้เป็นบุตรของนางสาวพรหม โจทก์ทั้งหกจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ทั้งฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมและโจทก์ทั้งหกนำคดีมาฟ้องเกิน 10 ปี จึงขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งหกฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 408 ตำบลบางกะปิ (ลาดพร้าวฝั่งเหนือ) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 37 ไร่ 43 ตารางวาเป็นกรรมสิทธิ์ของนายโท้ สุขอร่าม กับนายปุ้ย ไม่ทราบนามสกุล ต่อมากรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนของนายโท้ตกเป็นของนางผิว สุขอร่าม ภริยานายโท้ และบุตร 6 คน คือ โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 นายผ่อง สุขอร่าม และนางสาวพรมหรือพรหมหรือนางพรมหรือนางพรหม สุขอร่าม(ซึ่งต่อไปจะเรียกชื่อเพียงว่า นางสาวพรม) โดยนางผิวและบุตร 6 คน ดังกล่าวมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 408 ร่วมกับนายปุ้ย ต่อมาวันที่ 17 พฤษภาคม 2475 นายปุ้ย นางผิวนายผ่อง นางสาวพรมและโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันแบ่งให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 408 แก่นางผิวนายผ่อง นางสาวพรมและโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 โดยแบ่งให้เฉพาะที่ดินเลขที่ 107 หน้าสำรวจ352 เนื้อที่ 18 ไร่ 1 งาน 72 ตารางวา ตามหนังสือสัญญาแบ่งให้กรรมสิทธิ์ที่ดินและแผนที่ต่อท้ายเอกสารหมาย จ.3 และมีการออกโฉนดที่ดินส่วนที่แบ่งให้ใหม่เป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 3472 คือที่ดินพิพาทตามสำเนาสารบัญจดทะเบียนในสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.18 หรือโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 หรือสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.2เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2478 มีการนำที่ดินพิพาทไปจำนองไว้แก่นางจุ้ย วงษ์นิล ซึ่งนางผิวเป็นผู้จำนองคนหนึ่งตามหนังสือสัญญาจำนองกรรมสิทธิ์ที่ดินเอกสารหมาย ล.7 หรือสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเอกสารหมาย ล.13 และเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2482มีการยกกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตีใช้หนี้จำนองดังกล่าวโดยทำหนังสือสัญญาโอนหลุดเป็นสิทธิให้แก่นางจุ้ยซึ่งนางผิวเป็นผู้ทำสัญญาดังกล่าวคนหนึ่งตามหนังสือสัญญาโอนหลุดเป็นสิทธิ (ฉบับสำหรับหอทะเบียน) เอกสารหมาย จ.4 หรือหนังสือสัญญาโอนหลุดเป็นสิทธิ (ฉบับสำหรับผู้รับจำนอง) เอกสารหมาย ล.24 แล้วในวันเดียวกันนางจุ้ยขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ตามหนังสือสัญญาขายกรรมสิทธิ์ที่ดินเอกสารหมาย จ.5ต่อมาจำเลยที่ 1 แบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็น 4 แปลง คือโฉนดที่ดินเลขที่ 218086 ถึง218088 และโฉนดที่ดินเลขที่ 3472 ในส่วนจำนวนเนื้อที่ของที่ดินที่เหลือ วันที่ 13 มีนาคม2533 จำเลยที่ 1 ยกกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 218086 และ 218088 ให้แก่จำเลยที่ 2ยกกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 218087 และ 3472 ในส่วนจำนวนเนื้อที่ของที่ดินที่เหลือให้แก่จำเลยที่ 3 แล้วจำเลยที่ 3 ยกกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3472 ให้แก่จำเลยที่ 4นายโท้ นางผิว นายผ่อง นางสาวพรมและนางจุ้ยถึงแก่กรรมไปแล้ว คดีมีปัญหาตามฎีกาโจทก์ทั้งหกหลายประการ เห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสัญญาจำนองตามเอกสารหมาย ล.7 หรือ ล.13 เสียก่อนว่า นายผ่อง นางสาวพรม และโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4ร่วมกับนางผิวจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่นางจุ้ยตามที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าวหรือไม่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายผ่อง นางสาวพรม และโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4ร่วมกับนางผิวจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่นางจุ้ยตามหนังสือสัญญาจำนองกรรมสิทธิ์ที่ดินเอกสารหมาย ล.7
ปัญหาต่อไปสมควรวินิจฉัยปัญหาว่า นายผ่องและโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกับนางผิวโอนที่ดินพิพาทให้หลุดเป็นสิทธิแก่นางจุ้ยตามหนังสือสัญญาโอนหลุดเป็นสิทธิเอกสารหมาย จ.4 และ ล.24 หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงเชื่อว่า โจทก์ที่ 4 ลงลายพิมพ์นิ้วมือในช่องลงลายมือชื่อผู้จำนองในเอกสารหมาย จ.4 และ ล.24 ดังนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ที่ 4 ร่วมกับนางผิว นายผ่องและโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 โอนที่ดินพิพาทให้หลุดเป็นสิทธิแก่นางจุ้ยตามเอกสารหมาย จ.4 และ ล.24
สำหรับปัญหาต่อไปที่โจทก์ทั้งหกฎีกาว่า ในช่วงทำหนังสือสัญญาโอนหลุดเป็นสิทธิเอกสารหมาย จ.4 และ ล.24 นั้น โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ยังเป็นผู้เยาว์ การทำนิติกรรมตามหนังสือสัญญาโอนหลุดเป็นสิทธิดังกล่าวผู้ใช้อำนาจปกครองจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลเสียก่อน แต่ไม่ปรากฏว่ามีการขออนุญาตจากศาลนิติกรรมตามหนังสือโอนหลุดเป็นสิทธิดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ เห็นว่า หนังสือสัญญาจำนองกรรมสิทธิ์ที่ดินเอกสารหมาย ล.7 ทำขึ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2478 ซึ่งในเอกสารนี้ระบุว่า โจทก์ที่ 4มีอายุ 18 ปี โจทก์ทั้งหกไม่ได้ฎีกาโต้เถียงว่าอายุของโจทก์ที่ 4 ตามที่ระบุไว้ในเอกสารดังกล่าวไม่ถูกต้องแต่อย่างใด จึงน่าเชื่อว่า ขณะนั้นโจทก์ที่ 4 มีอายุ 18 ปี ดังนี้ ในช่วงทำหนังสือสัญญาโอนหลุดเป็นสิทธิเอกสารหมาย จ.4 และ ล.24 ซึ่งทำขึ้นเมื่อวันที่ 1กรกฎาคม 2482 โจทก์ที่ 4 จึงมีอายุประมาณ 22 ปี จึงเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้วหาใช่ยังเป็นผู้เยาว์ไม่ ที่โจทก์ที่ 4 ทำสัญญาโอนหลุดเป็นสิทธิดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้ หาตกเป็นโมฆะไม่ สำหรับกรณีที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ยังเป็นผู้เยาว์ในช่วงที่นางผิวทำสัญญาโอนหลุดเป็นสิทธิแทนโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามหนังสือสัญญาโอนหลุดเป็นสิทธิดังกล่าวมาแล้วนั้น แม้ในวันทำสัญญาดังกล่าวจะมีพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2477 ใช้บังคับแล้วโดยให้เพิ่มบทบัญญัติบรรพ 5 ตั้งแต่มาตรา 1435 ถึง 1598 เข้าเป็นส่วนหนึ่งแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้บทบัญญัติแห่งบรรพนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม2478 เป็นต้นไปซึ่งบทบัญญัติบรรพ 5 นี้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับผู้ใช้อำนาจปกครองจะทำนิติกรรมอันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินของผู้เยาว์ไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต คือมาตรา 1546 บัญญัติว่า “นิติกรรมใดอันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินของเด็กดั่งต่อไปนี้ ผู้ใช้อำนาจปกครองจะทำมิได้เว้นแต่ศาลจะอนุญาต (1) ขายแลกเปลี่ยน หรือจำนองอสังหาริมทรัพย์ (2) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินกว่าสามปี (3) ให้กู้ยืมเงิน (4) ประนีประนอมยอมความ (5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่จะเอาจากเงินได้ของเด็กให้แทนเด็กเพื่อการศาสนาหรือการสมาคมตามประเพณีพอสมควรฐานานุรูปของเด็ก (6) ไม่รับมรดกหรือพินัยกรรมหรือการให้โดยเสน่หาซึ่งไม่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน (7) รับหรือไม่รับมรดกหรือพินัยกรรม หรือการให้โดยเสน่หาซึ่งมีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน (8) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย”ก็ตาม แต่การโอนที่ดินให้หลุดเป็นสิทธิแก่ผู้รับจำนองดังคดีนี้ไม่มีบัญญัติไว้ในมาตรา 1546(1) ถึง (8) แต่อย่างใดเลย ดังนั้น ที่นางผิวทำสัญญาโอนที่ดินพิพาทให้หลุดเป็นสิทธิแก่นางจุ้ยแทนโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ในขณะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1546(1) ถึง (8) ใช้บังคับ จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าว สัญญาที่นางผิวทำไว้ดังกล่าวมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้โดยไม่จำต้องได้รับอนุญาตจากศาลเสียก่อนจึงหาตกเป็นโมฆะไม่
เมื่อข้อเท็จจริงได้ความดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนางจุ้ยตามหนังสือสัญญาโอนหลุดเป็นสิทธิเอกสารหมาย จ.4 และ ล.24 กรณีที่ต่อมานางจุ้ยขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ก็ดี จำเลยที่ 1 แบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 218086 ถึง 218088 และโฉนดที่ดินเลขที่ 3472 ในส่วนจำนวนเนื้อที่ของที่ดินที่เหลือแล้วจำเลยที่ 1 ยกกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 218086 และ 21808ให้แก่จำเลยที่ 2 ยกกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 218087 และ 3472 ในส่วนจำนวนเนื้อที่ของที่ดินที่เหลือให้แก่จำเลยที่ 3 ก็ดี และจำเลยที่ 3 ยกกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3472ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 4 ก็ดี ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยดังกล่าวโดยชอบโจทก์ทั้งหกหามีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่เพื่อขอให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้กลับสู่สภาพเดิมไม่ ฎีกาของโจทก์ทั้งหกในปัญหาข้ออื่นและที่จำเลยแก้ฎีกาว่า การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ที่ 2 ไม่ชอบ โจทก์ที่ 6 มิใช่บุตรของนางสาวพรม โจทก์ที่ 2และที่ 6 ไม่มีอำนาจฟ้องนั้นจึงไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน