คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5218/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยประเมินภาษีโจทก์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 49 เป็นการไม่ชอบเพราะได้นำเอาทรัพย์สินซึ่งมิได้เป็นกรรมสิทธิ์ของ โจทก์มาเป็นฐานในการคำนวณภาษี กับได้เอาค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับการหารายได้ของโจทก์มาเป็นรายได้ของโจทก์ แม้จะไม่ได้ระบุ ว่าทรัพย์สินเป็นอะไร ราคาเท่าใดและค่าใช้จ่ายนั้นมีจำนวนเท่าใดก็ตาม แต่คดีพิพาทกันเฉพาะภาษีเงินได้ประจำปี พ.ศ. 2514-2517เจ้าพนักงานประเมินได้หมายเรียกโจทก์ไปทำการตรวจสอบ ไต่สวน เกี่ยวกับทรัพย์สินและค่าใช้จ่ายของโจทก์แล้วทำการประเมิน ภาษีเพิ่มจากหลักฐานดังกล่าว ทั้งโจทก์ได้อุทธรณ์การประเมิน จำเลยย่อมทราบเรื่องดีมิใช่เพิ่งจะมากล่าวอ้างเมื่อฟ้องคดีต่อศาล ถือได้ว่าฟ้องโจทก์แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอ บังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็น หลัก แห่งข้อหาเช่นว่านั้นเพียงพอที่ จำเลยจะให้การต่อสู้คดีแล้ว ฟ้อง โจทก์ จึงไม่เคลือบคลุม เจ้าพนักงานประเมินหมายเรียกโจทก์นำเอกสารหลักฐานไป ทำ การตรวจสอบ แต่โจทก์ไม่นำบัญชีเอกสารการรับจ่ายไปให้ ทำการ ตรวจสอบเจ้าพนักงานประเมินไม่สามารถทราบได้ว่า โจทก์มีเงินได้แท้จริงเป็นจำนวนเท่าใด เจ้าพนักงานประเมินย่อมมี อำนาจทำการประเมินภาษีโจทก์เพิ่มได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 49 โดยได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้โดยมิชอบ เพราะถือเอาทรัพย์สินที่มิได้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์และทรัพย์สินที่มิได้มาจากเงินได้พึงประเมินมาใช้เป็นหลักฐานในการประเมินภาษี ทั้งภาษีรายพิพาทเป็นภาษีประจำปีพ.ศ. 2515-2517 จำเลยไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องภายใน 10 ปีคดีขาดอายุความแล้วขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถูกต้องตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ และการประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยชอบหรือไม่ โจทก์นำสืบว่า บันทึกคำให้การของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.5 และ ล.6 เป็นการบันทึกคำให้การที่โจทก์ให้การโดยสำคัญผิดเพราะรวมเอาทรัพย์สินของภริยาและบุตรโจทก์เข้าไปด้วย ส่วนรายการหนี้สินและทรัพย์สินตามเอกสารหมาย ล.7 ล.9 ล.10 และ ล.11เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยบันทึกแล้วให้โจทก์ลงชื่อ โดยไม่ทราบรายละเอียดเพราะโจทก์อ่านบันทึกไม่ออกในระหว่างปี พ.ศ. 2514ถึง พ.ศ. 2517 โจทก์มีกำไรจากการค้าขายประมาณ 200,000 บาทซึ่งโจทก์เสียภาษีเงินได้ไปเรียบร้อยแล้ว แต่ที่เจ้าพนักงานประเมินมีความเห็นว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าวโจทก์จะต้องมีค่าใช้จ่ายเป็นเงินจำนวน 600,000 บาท นั้น เพราะภริยาโจทก์ถอนเงินฝากจากธนาคารกรุงไทย จำกัด จำนวน 600,000 บาท มาใช้จ่าย และโจทก์ยังมีรายได้จากการขายรถยนต์เป็นเงินประมาณ 100,000 บาท มารวมเป็นค่าใช้จ่ายด้วย ซึ่งเงินที่เบิกถอนจากธนาคารและค่าขายรถยนต์ดังกล่าวโจทก์เสียภาษีเงินได้เรียบร้อยแล้ว จึงนำมาคำนวณเพื่อให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มอีกไม่ได้
จำเลยนำสืบว่า บันทึกคำให้การของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.5และ ล.6 เป็นการบันทึกตามคำให้การของโจทก์กับภริยาโจทก์ ส่วนรายการหนี้สินและทรัพย์สินตามเอกสารหมาย ล.7 ถึง ล.11 โจทก์กับภริยาโจทก์เป็นผู้ให้รายละเอียด เอกสารทุกฉบับบันทึกแล้วอ่านให้โจทก์ฟังก่อนแล้วจึงให้โจทก์ลงชื่อ เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยคำนวณภาษีเงินได้ของโจทก์ตามหลักฐานที่โจทก์และภริยาแจ้งต่อเจ้าพนักงานประเมิน
สำหรับในปัญหาฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าเจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้นำทรัพย์สินอะไรจำนวนเท่าใดซึ่งไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของโจทก์ และค่าใช้จ่ายจำนวนเท่าใดตลอดจนทรัพย์สินสิ่งใด ราคาเท่าใดที่โจทก์ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย และเพราะเหตุใดที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้นำมาคำนวณเรียกเก็บภาษีจากโจทก์ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม ทำให้จำเลยไม่สามารถยื่นคำให้การแก้คดีได้ถูกต้องครบถ้วนนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องมาแล้วว่า เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยประเมินภาษีโจทก์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 49 เป็นการไม่ชอบเพราะได้นำเอาทรัพย์สินซึ่งมิได้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์มาเป็นฐานในการคำนวณภาษี กับได้นำเอาค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับการหารายได้ของโจทก์มาเป็นรายได้ของโจทก์โดยไม่คำนึงว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินสะสมที่คงเหลือจากการชำระภาษีในปีก่อนมีการประเมินภาษีรายพิพาทแล้วนำมาใช้จ่ายในปีภาษีพิพาทมาเป็นฐานในการประเมินภาษีให้โจทก์ต้องชำระเพิ่ม ฟ้องโจทก์ดังกล่าวนี้แม้จะไม่ได้ระบุว่า ทรัพย์สินนั้นเป็นอะไร ราคาเท่าใดและค่าใช้จ่ายนั้นมีจำนวนเท่าใดก็ตามแต่คดีนี้พิพาทกันเฉพาะเรื่องภาษีเงินได้ของโจทก์ประจำปี พ.ศ. 2514 ถึง พ.ศ. 2517 ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินได้หมายเรียกโจทก์ไปทำการตรวจสอบไต่สวนเกี่ยวกับทรัพย์สินและค่าใช้จ่ายของโจทก์ที่มีอยู่และทำบันทึกไว้เป็นหลักฐาน แล้วทำการประเมินภาษีเพิ่มจากหลักฐานดังกล่าวนอกจากนี้โจทก์ยังได้อุทธรณ์โต้แย้งการประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไว้ด้วย มิใช่เพิ่งจะมากล่าวอ้างเมื่อฟ้องคดีต่อศาล กรณีเช่นนี้จำเลยย่อมทราบดีกว่า ทรัพย์สินและค่าใช้จ่ายของโจทก์เป็นอะไร มีจำนวนและราคาเท่าใด ทั้งเหตุที่โจทก์ขอให้เพิกถอนการประเมิน จึงถือได้ว่าฟ้องโจทก์แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นเพียงพอที่จำเลยจะให้การต่อสู้คดีแล้ว หาได้เป็นฟ้องเคลือบคลุมแต่อย่างใดไม่ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องพิจารณาต่อไปมีว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบหรือไม่จำเลยมีนายเอกชัย บุญนันท์ และนายจรัส เกษมศิลป์ เจ้าพนักงานประเมินเบิกความว่า เหตุที่ออกหมายเรียกโจทก์มาทำการตรวจสอบไต่สวนเพราะได้รับรายงานจากนายวิวัธน์ สงวนพวก สมุห์บัญชีอำเภอโคกสำโรงว่า การยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ของโจทก์ไม่เหมาะสมเนื่องจากกิจการค้าของโจทก์เป็นกิจการใหญ่แต่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ไว้ต่ำ เจ้าพนักงานประเมินจึงหมายเรียกโจทก์มาทำการตรวจสอบไต่สวนตามหมายเรียกเอกสารหมาย ล.16หมายเรียกดังกล่าวได้แจ้งให้โจทก์นำเอกสารหลักฐานไปทำการตรวจสอบด้วย เมื่อเดือนกรกฎาคม 2518 โจทก์ไปให้ทำการไต่สวนโดยไม่ได้นำบัญชีเอกสารการรับจ่ายไปให้ทำการตรวจสอบ เจ้าพนักงานประเมินได้ทำบันทึกคำให้การโจทก์ไว้ตามเอกสารหมาย ล.5 ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2518 เจ้าพนักงานประเมินก็ได้หมายเรียกโจทก์มาทำการตรวจสอบไต่สวนอีกครั้ง โจทก์ได้ให้การต่อเจ้าพนักงานประเมินว่าโจทก์ประกอบกิจการค้าพืชไร่ทางการเกษตรร่วมกับบุคคลในครอบครัวมานานกว่า 10 ปี และรับว่ามีทรัพย์สินเป็นของโจทก์หลายรายการปรากฏตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย ล.6 และแบบสำรวจทรัพย์สินและหนี้สินท้ายคำให้การเอกสารหมาย ล.7 ถึง ล.11 ส่วนบัญชีเอกสารโจทก์อ้างว่าทำบัญชีรายรับไว้อย่างเดียว แต่ไม่ได้เก็บรักษาไว้ให้ทำการตรวจสอบ บันทึกคำให้การของโจทก์ทั้งสองฉบับเจ้าพนักงานได้อ่านให้โจทก์ฟังแล้วจึงให้ลงชื่อไว้จากพยานหลักฐานดังกล่าวนี้เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยเชื่อได้ว่า โจทก์มีรายได้จากการประกอบกิจการของโจทก์มากกว่าที่โจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ไว้ตามเอกสารหมาย ล.1ถึง ล.4 และในการตรวจสอบไต่สวนเจ้าพนักงานประเมินไม่สามารถจะทราบได้จากเอกสารหลักฐานของโจทก์ว่า โจทก์มีเงินได้ที่แท้จริงเป็นจำนวนเท่าใด กรณีเช่นนี้เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจที่จะทำการประเมินภาษีโจทก์เพิ่มได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 49 โดยได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร ที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์เป็นคนต่างด้าวอ่านบันทึกคำให้การไม่ออก ที่ให้การต่อเจ้าพนักงานประเมินเพราะเกิดจากความสำคัญผิดโดยไม่ทราบว่าเจ้าพนักงานเอาทรัพย์สินของภริยาและบุตรโจทก์รวมเข้าไปด้วยนั้น ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะไปหักล้างการใช้อำนาจตามมาตรา 49 ของเจ้าพนักงานประเมินได้ ส่วนในปัญหาที่ว่า เจ้าพนักงานประเมินนำเอาทรัพย์สินซึ่งมิใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และรายจ่ายในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับการหารายได้ของโจทก์มาเป็นรายได้ของโจทก์ โดยไม่คำนึงว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินสะสมที่คงเหลือจากการชำระภาษีในปีก่อนมีการประเมินภาษีรายพิพาท แล้วนำมาใช้จ่ายในปีภาษีพิพาทมาเป็นฐานในการประเมินภาษีโจทก์ตามฟ้องของโจทก์หรือไม่นั้น เห็นว่าโจทก์เพิ่งจะอ้างเอกสารหลักฐานมาแสดงต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เมื่อปรากฏจากเอกสารหลักฐานของโจทก์เองตามบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.21 ว่า นางม่วย แซ่ล้อ ภริยาโจทก์มีเงินฝากในธนาคารจำนวนหลายแสนบาท โดยไม่ปรากฏว่านางม่วยเคยยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ไว้เลย ส่วนการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.4 โจทก์ก็ระบุว่าโจทก์มีรายได้ผู้เดียว ภริยาโจทก์ไม่มีเงินได้ทั้งโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาแสดงให้เห็นว่าเงินฝากดังกล่าวเป็นเงินได้ที่เหลือจากโจทก์ได้ชำระภาษีเงินได้ในปีก่อนไปแล้ว ดังนี้ที่โจทก์อ้างว่าเงินฝากของนางม่วยเป็นเงินสะสมของโจทก์ที่คงเหลือจากการชำระภาษีในปีก่อนมีการประเมินภาษีรายพิพาทจึงฟังไม่ขึ้น ส่วนในเรื่องทรัพย์สินซึ่งเป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์อ้างว่าเป็นของบุตรโจทก์นั้น แม้ตามเอกสารหลักฐานของโจทก์ระบุว่านายบุญเลิศ วงศ์กิตติรักษ์ บุตรของโจทก์เป็นเจ้าของก็ตาม แต่ในระหว่างปีภาษี พ.ศ. 2514 ถึง พ.ศ. 2516 นั้น โจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของโจทก์ โดยหักค่าลดหย่อนบุตรคือนายบุญเลิศไว้ด้วย แสดงว่าในปีดังกล่าวนายบุญเลิศยังไม่ได้ประกอบกิจการใดและไม่มีเงินได้ หรือหากนายบุญเลิศจะมีเงินได้ก็คงมีเงินได้ไม่เกินจำนวนตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนดเพื่อการหักลดหย่อนสำหรับบุตรน่าเชื่อว่าทรัพย์สินที่มีชื่อนายบุญเลิศเป็นเจ้าของนั้นยังเป็นของโจทก์อยู่ การที่โจทก์ไม่มีชื่อเป็นเจ้าของทางทะเบียนอาจจะเนื่องมาจากโจทก์เป็นบุคคลต่างด้าวจึงให้นายบุญเลิศบุตรเป็นผู้ถือสิทธิแทน อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ได้พิจารณาให้ตัดรายการทรัพย์สินประเภทที่ดิน รถยนต์ และเงินสดให้แก่โจทก์เป็นบางส่วนไปแล้ว โดยเห็นว่าโจทก์ได้โอนกิจการให้แก่นายบุญเลิศเมื่อปี พ.ศ. 2515 คงเรียกเก็บภาษีจากโจทก์สำหรับปีพ.ศ. 2516 จำนวน 4,017.94 บาท และปี พ.ศ. 2517 จำนวน10,354.74 บาท เมื่อรวมค่าภาษีและเงินเพิ่มที่โจทก์จะต้องชำระในปี พ.ศ. 2514 ถึง พ.ศ. 2517 แล้วเป็นจำนวน 128,991.44 บาทเท่านั้น จึงเป็นการชอบแล้ว คดีไม่มีเหตุที่โจทก์จะขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยได้ คำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.

Share