แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนมีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ข้อ 76 ระบุให้กำหนดเท่าราคาของทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนใช้บังคับ หากวันดังกล่าวไม่มีการซื้อขายที่ดินบริเวณนั้น โจทก์นำสืบถึงราคาที่ซื้อขายในช่วงเวลาที่ พ.ร.ฎ. ใช้บังคับมาเป็นเกณฑ์พิจารณาได้ จะอาศัยราคาตามราคาตลาดที่ใช้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมมาเป็นเกณฑ์ไม่ได้ เพราะไม่ใช่ราคาที่ดินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาด โจทก์เพียงนำเอาค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือจากถูกเวนคืนแต่ลดน้อยถอย ราคาลง ไปเปรียบเทียบกับค่าทดแทนที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืน เพื่อเป็นเกณฑ์กำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ลดลงเท่านั้นหาทำให้ค่าทดแทนส่วนนี้ซ้ำซ้อน กับค่าทดแทนที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนไม่ แม้ขณะที่โจทก์ฟ้องจะไม่มี พ.ร.บ. เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ใช้บังคับ แต่โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้โดยอาศัยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 67 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้เรียกดอกเบี้ยได้ร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี หากยอดเงินที่ต้องชำระเพิ่มขึ้น นับแต่วันที่ พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนใช้บังคับ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายสมาน สุดโต ดำเนินคดีแทนโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 14660 และเลขที่ 287 ซึ่งอยู่ติดต่อกัน รวมเนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 9 ตารางวา ใช้ปลูกบ้านอยู่อาศัยและสิ่งปลูกสร้างอื่น จำเลยเป็นนิติบุคคล จำเลยได้ทำการสำรวจแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกา ปรากฎว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงถูกเวนคืนรวมเนื้อที่ 612 ตารางวา จำเลยเข้าครอบครองที่ดินโจทก์ ส่วนที่ถูกเวนคืน จำเลยได้มีหนังสือแจ้งการเข้าครอบครอง ลงวันที่ 18 กันยายน 2527 ที่จำเลยเข้าครอบครองและจ่ายค่ารื้นถอนสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ จำเลยมิได้จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนให้โจทก์ในเวลาอันควร โจทก์จึงมอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือถึงจำเลย ขอให้ชำระค่าทดแทนที่ดินและค่าเสียหายให้โจทก์ภายใน 30 วัน ต่อมาจำเลยได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ส่วนที่ถูกเวนคืนให้โจทก์เป็น 2 ราคา ที่ดินโฉนดเลขที่ 14660รวมเป็นค่าทดแทน 126,550 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 287 รวมที่แปลงนี้เป็นเงิน 395,900 บาท รวมเงินค่าทดแทนที่ดินที่จำเลยกำหนดให้ทั้งสองแปลงเป็นเงิน 522,450 บาท ส่วนที่ดินที่เหลือจากถูกเวณคืนลดน้อยถอยราคาลงจำเลยมิได้กำหนดให้ จำเลยให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนที่จำเลยกำหนดดังกล่าว โจทก์เห็นว่าจำนวนเงินค่าทดแทนน้อยไปจึงไม่ยอมรับ จำเลยจึงได้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปวางไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม โดยหักภาษีแล้วเป็นเงิน 504,164.20 บาท โจทก์ได้รับความเดือดร้อนในการปลูกสร้างบ้านใหม่จึงไปรับเงินที่สำนักงานวางทรัพย์กลาง โดยสงวนสิทธิที่จะเรียกร้องค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นอีก ที่ดินของโจทก์มีอาณาเขตติดต่อเป็นผืนเดียวกัน หากไม่ถูกเวนคืน โจทก์จะดำเนินการปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ในที่ดิน โจทก์จะใช้ประโยชน์ทำการจัดสรรขายให้แก่บุคคลทั่วไปเพื่อปลูกสร้างบ้านในการกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์ จำเลยได้ถือเอาราคาตามบัญชีกำหนดราคาที่ดินตามราคาตลาด เพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ซึ่งเป็นราคาที่กำหนดขึ้นกว้าง ๆ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งแขวงบางปะกอกโดยมิได้กำหนดค่าทดแทนตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ที่ดินของบุคคลอื่นซึ่งอยู่ลึกเข้าไปจากที่ดินของโจทก์ เป็นที่ดินไม่ติดกับซอยสุขสวัสดิ์ 26 จำเลยกำหนดค่าที่ดินใ้ตารางวาละ 1,100 บาท นอกจากนี้ยังมีที่ดินของผู้มีชื่อได้จดทะเบียนขายเมื่อเดือนธันวาคม 2522 ก่อนพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวบังคับใช้ในราคาตารางวาละ 2,100 บาท และเมื่อเดือนสิงหาคม 2526ตารางวาละ 3,000 บาท โจทก์ก็ควรได้รับค่าทดแทนตารางวาละ 3,000 บาทรวมเนื้อที่ที่ถูกเวนคืน 612 ตารางวา เป็นเงิน 1,836,000 บาท โจทก์รับเงินมาแล้วจำนวน 522,450 บาท คงเหลือค่าทดแทนอีกจำนวน 1,313,550บาท โจทก์ขอเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของจำนวนเงินดังกล่าว นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวประกาศใช้บังคับจนถึงวันฟ้อง แต่โจทก์ขอคิดเพียง 3 ปี เป็นเงิน 295,548.75 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 1,609,098.75 บาท และเนื่องจากที่ดินที่ถูกเวนคืนของโจทก์คงเหลือส่วนที่ติดกับทางพิเศษเพียง 10 เมตรและถูกห้ามทำทางเชื่อมกับทางพิเศษ ที่ดินโจทก์ส่วนที่เหลือถูกปิดกั้นโดยสิ้นเชิง ไม่ได้รับประโยชน์จากทางพิเศษ จึงทำให้ที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากเวนคืนลดน้อยถอยราคาลง ปัจจุบันราคาที่ดินบริเวณดังกล่าว ตารางวาละ 4.000 บาท จำเลยได้กำหนดค่าทดแทนให้โจทก์เพียงตารางวาละ 1,100 บาท ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนในระยะ20 เมตร จากซอยสุขสวัสดิ์ 26 เนื้อที่ 277 ตารางวา โจทก์ขอคิดตารางวาละ 4,000 บาท เมื่อหักจากจำนวนที่จำเลยจ่ายค่าทดแทนให้โจทก์แล้ว คงเหลือตารางวาละ 2,900 บาท เป็นเงิน 803,300 บาท แต่โจทก์ขอคิดเพียงครึ่งหนึ่งเป็นเงิน 401,650 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,010,748.75 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,609,098.75บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงิน1,313,550 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ ให้จำเลยชำระเงินค่าที่ดินในส่วนที่เหลือจากถูกเวนคืนลดน้อยถอยราคาลงเป็นเงิน401,650 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยกำหนดค่าทดแทนที่ดินโจทก์เป็นเงิน 522,450 บาทนั้น เป็นจำนวนเหมาะสมแล้ว เนื่องจากประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2515 ให้จำเลยมีอำนาจหน้าที่ในการสร้างทางพิเศษ ต่อมามีประกาศกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2525 กำหนดให้ทางสายดาวคะนอง-ท่าเรือ เป็นทางพิเศษที่จะสร้าง โดยกำหนดแนวทางผ่านท้องที่เขตบางขุนเทียนเขตราษฎร์บูรณะ และเขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร และวันที่ 1พฤษภาคม 2525 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวณคืนในท้องที่ดังกล่าว พ.ศ.2525 พร้อมแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาเนื่องจากมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างทางพิเศษโดยเร่งด่วน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงออกประกาศกระทรวงมหาดไทย โดยอาศัยอำนาจประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2515กำหนดให้สร้างทางพิเศษสายดังกล่าวโดยเร่งด่วน วันที่ 25พฤศจิกายน 2525 เจ้าหน้าที่ของจำเลยออกสำรวจตามแนวแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาแล้ว ปรากฎว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงถูกเวนคืนเป็นเนื้อที่ 612 ตารางวา จำเลยคิดค่าทดแทนที่ดินให้ตามที่คณะกรรมการปรองดอง เพื่อพิจารณาไกล่เกลี่ยค่าทดแทนค่าทดแทนที่ดินดังกล่าวตารางวาละ 1,100 บาท เป็นเนื้อที่ 277 ตารางวา เป็นเงิน304,700 บาท ตารางวาละ 650 บาท เนื้อที่ 335 ตารางวา เป็นเงิน217,750 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 522,450 บาท ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์ต่ำกว่าราคาท้องตลาดนั้น ความจริงค่าทดแทนที่ดินที่จำเลยกำหนดให้โจทก์เป็นค่าทดแทนที่คณะกรรมการปรองดองดังกล่าวเป็นผู้กำหนดตามราคาท้องตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในเขตท้องที่แขวงบางปะกอก เขตราษฎร์บูรณะ ซึ่งที่ดินของโจทก์ตั้งอยู่ คือ ที่ดินข้างละ 20 เมตร จากเขตทางหรือถนนหรือซอยหรือตรอก รถยนต์เข้าออกได้ ตารางวาละ 1,100 บาท และที่ดินลึกเข้าไปอีก 100 เมตร ตารางวาละ 650 บาท โจทก์จะนำราคาซื้อขายที่ดินของนางอรพิณท์ นาครอด ขายให้กระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 8สิงหาคม 2526 ราคาตารางวาละ 3,000 บาท กำหนดเป็นราคาตามท้องตลาดดังโจทก์อ้างหาได้ไม่ โจทก์ใช้ที่ดินของโจทก์ปลูกบ้านอยู่อาศัยโจทก์ไม่เคยมีความคิดที่จะปลูกอาคารพาณิชย์แต่อย่างใด ทั้งที่ดินของโจทก์ไม่อยู่ในทำเลการค้า และโจทก์มิได้แจ้งให้คณะกรรมการปรองดองทราบแต่อย่างใด โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้เพิ่มค่าทดแทน สำหรับที่ดินของโจทก์ เนื้อที่ 277 ตารางวา ที่ต้องลดน้อยถอยราคาลงเป็นเงิน 401,650 บาทนั้น โจทก์ไม่เคยเรียกร้องจากจำเลยมาก่อนแม้ภายหลังที่ถูกเวนคืนแล้วที่ดินของโจทก์จะมีหน้าดินเป็นทางเข้าออกซอยสุขสวัสดิ์ 26 เพียง 10 เมตร โจทก์ก็ยังใช้ประโยชน์ในที่ดินได้เต็มที่เช่นเดียวกับก่อนถูกเวนคืน และการเวนคืนที่ดินพิพาทจำเลยกระทำไปเพื่อประโยชน์ของรัฐ และถูกต้องตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าที่ดินของโจทก์ที่ต้องลดน้อยถอยราคาลงจากจำเลยได้ เมื่อจำเลยกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ดังกล่าวแล้ว ถือว่าค่าทดแทนดังกล่าวเป็นราคาเด็ดขาด โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเมื่อจำเลยมิได้ผิดนัดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกดอกเบี้ยจากจำเลย และขณะนี้ยังไม่มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ใช้บังคับ และโจทก์ไม่ได้บอกกล่าวทวงถามจำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 405,200 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 3 ปี
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 622,550บาท ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 572,550 บาท นับแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2525 เป็นต้นไปมีกำหนดเวลา 3 ปี ในต้นเงิน 50,000 บาท นับแต่วันฟ้อง(วันที่ 25 กรกฎาคม 2528) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันและไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน 2 แปลงตามฟ้อง รวมเนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 9 ตารางวา มีส่วนที่ติดซอยสุขสวัสดิ์ 26กว้างประมาณ 85 เมตร ต่อมามีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษสายดาวคะนอง-ท่าเรือ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2525 ที่ดินโจทก์ทั้ง 2 แปลงดังกล่าวถูกเวนคืนรวมเนื้อที่ 612 ตารางวา เป็นเนื้อที่ส่วนที่อยู่ติดซอยสุขสวัสดิ์ 26 ในรัศมี 20 เมตร จำนวน 277 ตารางวาส่วนที่ถัดไปจำนวน 335 ตารางวา จำเลยกำหนดค่าทดแทนที่ดินโจทก์ส่วนที่ถูกเวนคืนโดยอาศัยบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นเกณฑ์กำหนด โดยกำหนดค่าทดแทนที่ดินส่วนอยู่ติดซอยสุขสวัสดิ์ 26 ในรัศมี 20 เมตร ตารางวาละ1,100 บาท ที่ดินส่วนที่ถัดไปกำหนดให้ตารางวาละ 650 บาท รวมเป็นค่าทดแทนที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสิ้น 522,450 บาท โจทก์ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปแล้ว คดีมีข้อวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์แรับเงินจำนวนดังกล่าวไปแล้ว คดีมีข้อวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์และจำเลยหลายประการด้วยกันซึ่งศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยตามลำดับไป
สำหรับปัญหาข้อที่ว่า โจทก์จะมีสิทธิได้ค่าทดแทนเพิ่มขึ้นหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าการจ่ายค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนมิใช่ค่าทดแทนความเสียหายตามความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง แต่เป็นค่าทดแทนให้โดยคำนึงถึงความเป็นเพื่อประโยชน์ของรัฐในลักษณะที่เป็นธรรมและเหมาะสมเท่านั้น ที่จำเลยกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์โดยอาศัยราคาตามบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมซึ่งคณะกรรมการกำหนดขึ้นใช้ในระหว่างที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับมาเป็นหลักเกณฑ์พิจารณากำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์จึงเป็นการกำหนดค่าทดแทนที่ชอบด้วยกฎหมาย พิเคราะห์แล้ว การกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนได้มีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515ข้อ 76 ระบุไว้ให้กำหนดเท่าราคาของทรัพย์สิน ตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกาได้กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ หากในวันดังกล่าวไม่มีซื้อขายที่ดินบริเวณดังกล่าว โจทก์นำสืบถึงราคาที่ดินที่ซื้อขายกันในช่วงเวลาที่พระราชกฎษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับมาเป็นเกณฑ์พิจารณาได้ จะอาศัยราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมมาเป็นเกณฑ์กำหนดหาได้ไม่ เพราะไม่ใช่ราคาที่ดินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาด ได้ความจากการนำสืบของโจทก์ซึ่งจำเลยไม่โต้เถียงฟังได้ว่าพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2525 ก่อนพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ใช้บังคับ นางชิด เชยแสง ขายที่ดิน 2 แปลง ซึ่งอยู่ละแวกเดียวกันและไม่แตกต่างกับที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนให้แก่นางสาวศิรินทรจิตต์วิวัฒน์ไปเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2522 ในราคาตารางวาละ2,100 บาท และหลังจากพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวใช้บังคับนางอรพิณท์ นาครอด ขายที่ดิน 1 แปลง ซึ่งอยู่ในละแวกเดียวกันและไม่ต่างกับที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนให้แก่กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2526 ในราคาตารางวาละ 3,000 บาท เห็นว่าวันซื้อขายที่ดินทั้ง 3 แปลงดังกล่าวใกล้เคียงกับวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ…กรณีฟังได้ว่าราคาที่ซื้อขายกันดังกล่าวเป็นราคาธรรมดาในท้องตลาดเมื่อเป็นราคาที่สูงกว่าค่าทดแทนที่จำเลยชดใช้ให้แก่โจทก์ ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทดแทนสำหรับที่ดินโจทก์ซึ่งอยู่ติดชอยสุขสวัสดิ์ 26 ในรัศมี 20 เมตร ตารางวาละ 2,500 บาท ส่วนที่อยู่ถัดไปตารางวาละ 1,500 บาท จึงชอบและสมเหตุผลสมผล
สำหรับปัญหาข้อที่ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือจากถูกเวนคืน ที่ลดน้อยถอยราคาลงหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่ฟ้องเรียกค่าลดน้อยถอยราคาลงจากที่ดินส่วนที่เหลือจากถูกเวนคืน แต่ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนซึ่งจำเลยได้จ่ายค่าทดแทนให้แก่โจทก์ไปแล้ว จึงเป็นการเรียกค่าทดแทนที่ซ้ำช้อนนั้น เห็นว่าโจทก์เพียงแต่นำเอาค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือจากถูกเวนคืนแต่ลดน้อยถอยราคาลงไปเปรียบเทียบกับค่าทดแทนที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนเพื่อเป็นเกณฑ์กำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ลดน้อยถอยราคาลงเท่านั้น จึงหาทำให้ค่าทดแทนส่วนนี้ซ้ำช้อนกับค่าทดแทนที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนไม่ ได้ความว่าเดิมที่ดินโจทก์ส่วนที่ติดซอยสุขสวัสดิ์ 26 ยาวประมาณ 85 เมตร เมื่อถูกเวนคืนทำให้ส่วนที่อยู่ติดซอยดังกล่าวเหลือกว้างเพียง 10 เมตร เช่นนี้ย่อมทำให้ใช้ประโยชน์ที่ดินส่วนที่เหลือได้น้อยลง ที่ดินโจทก์ส่วนที่เหลือจากถูกเวนคืนจึงลดน้อยถอยราคาลงเป็นธรรมดา ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทดแทนส่วนนี้เป็นเงิน 50,000 บาท จึงสมควรและเหมาะสมแล้ว
สำหรับปัญหาเกี่ยวกับดอกเบี้ย จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยเพราะขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่ดินโจทก์ใช้บังคับ เห็นว่าแม้จะไม่มีพระราชบัญญัติดังกล่าวดังที่จำเลยฎีกา แต่โจทก์ก็มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ตามฟ้อง โดยอาศัยอำนาจประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 67 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้เรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากยอดเงินที่จะต้องชำระเพิ่มขึ้น นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ จึงเหลือค่าทดแทนที่ดจำเลยต้องจ่ายเพิ่มรวมทั้งสิ้น 722,550 บาท”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 722,550 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 672,550 บาท นับแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2525 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยก่อนฟ้องต้องไม่เกิน 3 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.