แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศว่าด้วยการให้เงินบำเหน็จแก่ลูกจ้างซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง มีผลผูกพันให้นายจ้างต้องปฏิบัติตามนับแต่วันที่นายจ้างประกาศใช้เป็นต้นไป แม้ต่อมานายจ้างจะประกาศใช้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานขึ้นใหม่โดยมีบทเฉพาะกาลขัดแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมและมิใช่เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เป็นคุณยิ่งกว่า เมื่อลูกจ้างมิได้ตกลงยินยอมด้วย ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องการให้เงินบำเหน็จให้เป็นไปตามบทเฉพาะกาลของข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จึงไม่มีผลผูกพันลูกจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 20
ค่าชดเชยเป็นเงินที่กฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างซึ่งถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้กระทำผิดโดยมีหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้ ส่วนเงินบำเหน็จตามประกาศว่าด้วยการให้เงินบำเหน็จแก่ลูกจ้างซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะให้เป็นกำลังใจในการปฏิบัติงานหรือเป็นสวัสดิการพิเศษแก่ลูกจ้างที่ได้ปฏิบัติงานให้นายจ้างด้วยดีตลอดมาโดยไม่มีความผิดอันมีลักษณะเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนคุณงามความดีของลูกจ้าง วัตถุประสงค์และหลักการของการจ่ายค่าชดเชยกับเงินบำเหน็จจึงแตกต่างกัน เมื่อประกาศการให้เงินบำเหน็จมิได้กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่า เงินบำเหน็จที่โจทก์พึงจะได้รับนั้นให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้างในกรณีที่ค่าชดเชยมีจำนวนมากกว่าเงินบำเหน็จจึงไม่อาจถือได้ว่าเงินค่าชดเชยที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างนั้นได้รวมเอาเงินบำเหน็จที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับจากจำเลยตามประกาศการให้เงินบำเหน็จแล้วได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จเนื่องจากโจทก์เกษียณอายุราชการเป็นเงิน 300,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่ วันที่ 31 ธันวาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 12,513.69 บาท
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยจะต้องจ่ายเงินบำเหน็จจำนวน 300,000 บาท ให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ประกาศว่าด้วยการให้เงินบำเหน็จแก่เจ้าหน้าที่ประจำบริษัทจำเลยเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งมีผลผูกพันให้จำเลยจะต้องปฏิบัติตามนับแต่วันที่ 7 มีนาคม 2522 อันเป็นวันที่จำเลยประกาศใช้เป็นต้นไป และแม้ต่อมาในปี 2540 จำเลยจะประกาศใช้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย โดยมีบทเฉพาะกาลว่าพนักงานที่ครบเกษียณอายุแล้วจะได้รับเงินที่บริษัทฯ จ่ายสมทบให้พร้อมผลประโยชน์จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามระเบียบที่ได้กำหนดไว้ หากคำนวณแล้วยอดเงินที่จะได้รับเมื่อรวมกับค่าชดเชยที่ได้รับตามระเบียบฉบับนี้แล้วได้น้อยกว่าเงินบำเหน็จที่ได้กำหนดไว้ในระเบียบฉบับเดิม ทางบริษัทฯ จะจ่ายเพิ่มให้ในส่วนที่ขาดอยู่เพื่อให้ได้รับอัตราที่กำหนดไว้ในระเบียบเดิมก็ตาม แต่บทเฉพาะกาลดังกล่าวนั้นมีความหมายว่า หากพนักงานที่ครบเกษียณอายุได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพรวมกับจำนวนค่าชดเชยแล้วมีจำนวนมากกว่าเงินบำเหน็จที่ได้รับตามประกาศว่าด้วยการให้เงินบำเหน็จแก่เจ้าหน้าที่ประจำบริษัทของจำเลย จำเลยก็จะไม่จ่ายเงินบำเหน็จให้แก่พนักงานที่ครบเกษียณอายุนั้นอีก บทเฉพาะกาลตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยจึงขัดแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเรื่องประกาศว่าด้วยการให้เงินบำเหน็จแก่เจ้าหน้าที่ประจำของบริษัท และมิใช่เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เป็นคุณยิ่งกว่า เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ตกลงยินยอมให้จำเลยแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องการให้เงินบำเหน็จให้เป็นไปตามบทเฉพาะกาลของข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 20 ค่าชดเชยเป็นเงินที่กฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างซึ่งถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้กระทำผิด โดยมีหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้ ส่วนเงินบำเหน็จตามประกาศว่าด้วยการให้เงินบำเหน็จแก่เจ้าหน้าที่ประจำบริษัทของจำเลย มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะให้เป็นกำลังใจในการปฏิบัติงานหรือเป็นสวัสดิการพิเศษแก่เจ้าหน้าที่ประจำของจำเลยที่ได้ปฏิบัติงานให้จำเลยด้วยดีตลอดมาโดยไม่มีความผิด อันมีลักษณะเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนคุณงามความดีของลูกจ้าง ฉะนั้นวัตถุประสงค์และหลักการของการจ่ายค่าชดเชยกับเงินบำเหน็จตามประกาศว่าด้วยการให้เงินบำเหน็จแก่เจ้าหน้าที่ประจำบริษัทของจำเลย จึงแตกต่างกัน เมื่อประกาศดังกล่าวมิได้กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่า เงินบำเหน็จที่โจทก์พึงจะได้รับนั้นให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าชดเชยที่โจทก์ได้รับจากจำเลยในกรณีที่ค่าชดเชยมีจำนวนมากกว่าเงินบำเหน็จ จึงไม่อาจถือเอาได้ว่าเงินค่าชดเชยที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์แล้วนั้นได้รวมเอาเงินบำเหน็จจำนวน 300,000 บาท ที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากจำเลยตามประกาศการให้เงินบำเหน็จไว้แล้ว ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์.