แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก เพื่อขอแบ่งปันทรัพย์มรดก โดยโจทก์และจำเลยต่างเป็นทายาท การฟ้องคดีของโจทก์จึงไม่เข้าลักษณะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 แต่เป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ห้ามมิให้ฟ้องร้องเกินห้าปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง การที่จะวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง หรือไม่นั้น จำต้องฟังข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติก่อนว่า การจัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้วหรือไม่ เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยแบ่งปันทรัพย์มรดก จำเลยให้การต่อสู้ว่า มีข้อตกลงในการแบ่งปันทรัพย์มรดกกัน ศาลจึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่า มีข้อตกลงกันจริงหรือไม่ เมื่อฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยได้มีข้อตกลงขายที่ดินทรัพย์มรดกในส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยจริง และไม่มีทรัพย์มรดกในส่วนอื่นที่จะต้องแบ่งปันอีก จึงถือว่าการจัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้ว โดยมีการจัดการทรัพย์มรดกครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2550 โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 9 ธันวาคม 2557 เกินกว่าห้าปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนนิติกรรมจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 25153 อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ แล้วให้จำเลยนำที่ดินดังกล่าวมาแบ่งให้โจทก์กึ่งหนึ่ง เนื้อที่ 10 ไร่ 2 งาน 92.5 ตารางวา โดยให้ด้านหน้าติดถนนชยางกูรมีระยะกว้างเท่ากัน หากจำเลยไม่ยินยอมให้โจทก์ไถ่ถอนเองโดยถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยชดใช้เงินที่ไถ่ถอนพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและกำจัดมิให้จำเลยรับมรดกของนางค่ำหรือค้ำ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติตามที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ว่า โจทก์และจำเลยเป็นบุตรต่างสามีของนางค่ำหรือค้ำ เจ้ามรดก โดยโจทก์มีพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันอีกสองคน คือนายบุญธรรม กับนายบรรเทิง ส่วนจำเลยเป็นบุตรคนเดียวของบิดามารดา นอกจากนี้เจ้ามรดกยังมีบุตรต่างสามีอีกหนึ่งคน คือ นายคำ เจ้ามรดกถึงแก่ความตายเมื่อปี 2531 มีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินจำนวน 2 แปลง คือที่ดินส่วนที่ปลูกบ้านอยู่อาศัย ซึ่งเจ้ามรดกยกให้แก่จำเลยกับนายบุญธรรมคนละครึ่ง และส่วนที่ดินที่ทำนาซึ่งพิพาทกันในคดีนี้ จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้ขอออกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 25153 อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ และแบ่งเป็นโฉนดย่อยให้แก่ทายาทอื่นทุกคนแล้วยกเว้นโจทก์ โดยยังเหลือที่ดินที่ยังไม่ได้แบ่งเนื้อที่ประมาณ 21 ไร่เศษ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ เนื่องจากโจทก์ฟ้องในฐานะบุคคลที่จะจดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ไม่ใช่คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก จึงให้ยกคดีกลับไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีต่อไป เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล มีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายในอันที่จะรวบรวมทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งปันแก่ทายาท ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์เป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดพิพาทมาก่อน เมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสองต่างเป็นทายาท การฟ้องคดีของโจทก์จึงเป็นเรื่องของการขอแบ่งมรดกที่มีจำเลยเป็นผู้จัดการไม่เข้าลักษณะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ตามความเห็นของศาลอุทธรณ์ภาค 3 แต่เป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่ได้มีคำวินิจฉัย แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้ว จึงเห็นควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียว โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอีก คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง บัญญัติห้ามมิให้มีการฟ้องร้องเกินห้าปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง คดีนี้เจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน 2 แปลง สำหรับแปลงพิพาท คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 25153 จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นที่นา ซึ่งจำเลยได้จัดการแบ่งเป็นแปลงย่อยและโอนให้แก่ทายาททุกคนตามสัดส่วนแล้ว ยกเว้นโจทก์เพียงคนเดียว โดยยังเหลือส่วนที่ยังไม่ได้แบ่งให้โจทก์และส่วนที่เป็นของจำเลยเนื้อที่รวมกันประมาณ 21 ไร่เศษ ในชื่อของจำเลย โดยจำเลยยืนยันว่าโจทก์ได้ขายที่พิพาทส่วนของตนให้แก่จำเลยแล้ว ซึ่งโจทก์แย้งว่าไม่เคยขายที่พิพาทและรับเงินจากจำเลย คดีจึงต้องพิจารณาว่า โจทก์และจำเลยมีข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกกันจริงหรือไม่ แม้โจทก์จะมีพยานปากนายบุญธรรมและนางทองสูน มาเบิกความสนับสนุนว่า เจ้ามรดกได้แบ่งที่ดินพิพาทให้แก่บุตรทั้งห้าคน ตามสัดส่วนที่ปรากฏในโฉนดที่ดิน และโจทก์ยังไม่ได้รับส่วนแบ่ง แต่นายบุญธรรมรับว่า จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้แบ่งที่ดินทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนหมดแล้ว ตั้งแต่ปี 2537 โดยรวมถึงผู้รับมรดกแทนที่และผู้ที่ไปมีภูมิลำเนาอยู่ที่อื่น ซึ่งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้โต้แย้งเป็นอื่น นอกจากกล่าวอ้างลอย ๆ ว่าตนไม่ทราบการแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่โจทก์อาศัยและประกอบอาชีพขับรถรับจ้างในเขตที่ดินพิพาทตั้งอยู่ จึงไม่น่าเชื่อว่าโจทก์จะไม่รับรู้ ทั้งโจทก์ก็รับว่าไม่เคยเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทคงมีแต่จำเลยทำประโยชน์มาโดยตลอดตั้งแต่เจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ และโจทก์ไม่เคยได้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการใช้ที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์จากจำเลย แต่กลับปล่อยปละละเลยให้เวลาล่วงเลยมานาน เพิ่งมาฟ้องเป็นคดีนี้หลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายเป็นเวลานานถึง 27 ปี และหลังจากมีการแบ่งปันที่ดินพิพาทให้แก่ทายาทอื่นเป็นเวลาเกือบ 20 ปี ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เคยทวงถามหรือคัดค้านการจัดการมรดกของจำเลย กลับได้ความจากโจทก์ว่าหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย โจทก์ได้เข้าไปถมดินในที่ดินพิพาทเพื่อจะปลูกบ้าน แต่จำเลยไม่ยินยอม ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าจำเลยปฏิเสธความชอบธรรมในที่ดินพิพาทของโจทก์ตลอดมา หากที่ดินเป็นของโจทก์จริงโจทก์ก็ควรใช้สิทธิเรียกร้องเอาคืนมาเสียโดยเร็ว การปล่อยปละละเลยมานานเช่นนี้ ประกอบพฤติการณ์ในการจัดการมรดกของจำเลยที่ได้แบ่งให้แก่ทายาทรวมทั้งผู้รับมรดกแทนที่ทุกคนต่างพอใจ ไม่มีใครโต้แย้ง ทำให้คำเบิกความของจำเลยมีน้ำหนักน่าเชื่อถือแม้จำเลยจะไม่มีบันทึกการตกลงซื้อขายที่ดินพิพาทมาแสดงเนื่องจากหาไม่พบ ก็ไม่เป็นพิรุธ เพราะเวลาผ่านมาเนิ่นนานเช่นนี้หลักฐานต่าง ๆ อาจสูญหายไปได้ อนึ่งจำเลยยังมีนางถาวร ผู้รู้เห็นในการทำบันทึกข้อตกลงมาเบิกความยืนยันว่า โจทก์และจำเลยได้ตกลงขายที่ดินกันจริง ดังนี้พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบจึงมีน้ำหนักมั่นคงกว่าพยานหลักฐานโจทก์ กรณีจึงถือว่าการจัดการมรดกของจำเลยได้เสร็จสิ้นแล้วโดยชอบ โดยครั้งหลังสุดเมื่อโอนขายส่วนของนายบุญธรรมให้แก่นางทองสูนในวันที่ 17 พฤษภาคม 2550 โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 เกินกว่าห้าปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ