คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 520/2494

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การรับสภาพหนี้นั้น ตาม ป.ม.แพ่งฯมาตรา 172 ตอนท้ายก็แสดงอยู่ชัดว่า ทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอันปราศจากเคลือบแคลงสงสัย ตระหนักเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพตามสิทธิเรียกร้องนั้น ก็ได้จึงหาจำเป็นต้องทำเป็นหนังสือเสมอไปไม่
บิดาทำสัญญาขายเรือนให้เขา ครั้นต่อมาบิดาตายตนเป็นผู้รับมรดก และยอมรับจะโอนเรือนให้เขาตามสัญญาซื้อขายโดยวาจา และยังได้ยินยอมให้เขาครอบครองเรือนนั้นตั้งแต่บิดาตายตลอดมา ดังนี้ เรียกได้ว่าบุตรยอมรับสภาพต่อผู้ซื้อซึ่งเป็นเจ้าหนี้ อายุความย่อมสะดุดหยุดลงตาม ป.ม.แพ่งฯมาตรา 172

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๔๘๘ นายฉาย นิ่มมณีได้ทำหนังสือขายเรือนเลขที่ ๒๐ ซึ่งเช่าที่ดินของจุฬาลงกรณ์ปลูกอยู่ให้โจทก์เป็นเงิน ๑๕๐๐ บาท นายฉายได้รับเงินแล้ว ๑๐๐๐ บาท อีก ๕๐๐ บาทจะชำระให้ภายใน ๖ เดือน นายฉายได้มอบเรือนให้โจทก์เข้าครอบครองตลอดมาจนบัดนี้ ต่อมายังไม่ถึง ๖ เดือนนายฉายตายลง เมื่อวันที่ ๙ หรือ ๑๐ เมษายน ๒๔๘๙ จำเลยเป็นผู้รับมรดก จำเลยรับรองต่อโจทก์ว่า เมื่อจำเลยได้รับมรดกแล้ว จะโอนขายเรือนให้โจทก์ตามสัญญา จำเลยได้รับมรดกแล้ว กลับไม่ยอมโอนขาย จึงฟ้องขอให้จำเลยโอนขาย
จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ชำระเงินภายในกำหนด และตัดฟ้องว่า โจทก์ฟ้องเกินกว่ ๑ ปี ขาดอายุความตามป.ม.แพ่งฯ มาตรา ๑๗๕๔
ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ได้ ๒ ปาก แล้วสั่งงด แล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ผิดสัญญาเอง และฟ้องคดีเกิน ๑ ปี นับแต่รู้ว่านายฉายตายลงพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา ศาลสั่งรับเฉพาะในเรื่องรับสารภาพหนี้ตามมาตรา ๑๗๒
ศาลฎีกาเห็นว่า การรับสภาพหนี้นั้น มาตรา ๑๗๒ ตอนท้ายก็แสดงอยู่ชัดว่า ทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอันปราศจากเคลือบแคลงสงสัยตระหนักเป็นปริยายว่า ยอมรับสภาพตามสิทธิที่เรียกร้องนั้น จึงหาจำเป็นต้องทำเป็นหนังสือเสมอไปไม่ ดังที่ศาลฎีกาได้ เคยวินิจฉัยไว้ตามฎีกาที่ ๖๐๗/๒๔๘๑ ในคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยผู้รับมรดกยอมรับจะโอนเรือนให้ตามสัญญาซื้อขายโดยวาจา และจำเลยยังได้ยินยอมให้โจทก์ครอบครองเรือนรายนี้ ตั้งแต่นายฉายตายเป็นต้นมาจนบัดนี้ด้วย ดังนี้ เรียกได้ว่าจำเลยรับสภาพต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ อายุความย่อมสะดุดหยุดลงตามมาตรา ๑๗๒ ที่ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์เพียง ๒ ปาก ก็สั่งงดเสียนั้น ข้อเท็จจริงเรื่องรับสภาพหนี้ จึงยังไม่พอจะชี้ขาดตัดสินคดีได้ จึงพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลล่างทั้ง ๒ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์ จำเลยต่อไป แล้วพิพากษาใหม่

Share