แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรมธนารักษ์วางเงื่อนไขสำหรับผู้ประมูลสิทธิการเช่าเพื่อปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ในที่ราชพัสดุแปลงพิพาทว่าจะต้องเป็นนิติบุคคลซึ่งมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10,000,000 บาท การที่โจทก์ทำสัญญามอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นตัวแทนโจทก์ไปดำเนินการดังกล่าวจึงไม่สามารถทำได้ เพราะโจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4มิใช่นิติบุคคล ไม่มีสิทธิประมูล ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2ถึงที่ 4 จึงไม่มีผลบังคับ ขณะทำสัญญามอบอำนาจ จำเลยที่ 1 ยังไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคลจำเลยที่ 1 จึงไม่จำต้องรับผิดต่อโจทก์ตามข้อตกลงดังกล่าว จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการก็ไม่จำต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นกันและเมื่อจำเลยที่ 1 ยังไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล ขณะทำสัญญาจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่อาจเป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 1 ได้ สัญญาตัวการตัวแทนต่างฝ่ายต่างมีสิทธิเลิกสัญญาเวลาใด ๆ ก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 827 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ได้บอกเลิกสัญญาแล้วเพราะการดำเนินการตามที่มอบหมายขัดต่อกฎกระทรวงการคลัง การบอกเลิกสัญญาดังกล่าวจึงมิได้กระทำเมื่องานที่ได้รับมอบหมายได้กระทำสำเร็จแล้ว หาเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 รับผิดตามสัญญาโดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เชิดให้จำเลยที่ 1 กระทำการในนามของตน จึงเป็นตัวการตัวแทนต้องรับผิดต่อโจทก์ ตามคำฟ้องไม่ได้กล่าวอ้างเรื่องการใช้ชื่อสกุลของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นชื่อของจำเลยที่ 1 มาเป็นเหตุให้ต้องรับผิดร่วมกัน ฎีกาข้อนี้ของโจทก์จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันในนามจำเลยที่ 1 จัดให้โจทก์ได้เข้าทำสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์ที่จำเลยทั้งห้าในนามจำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติให้ปลูกสร้างขึ้นในที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ สค.43 (7421) จำนวน 1 คูหา กับผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครในราคาค่าตอบแทนจำนวนเงิน 640,000 บาทโดยให้จำเลยทั้งห้าไปรับเงินจำนวน 140,000 บาท จากสำนักงานวางทรัพย์และคิดเงินมัดจำจำนวน 10,000 บาท ให้ด้วย หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามก็ขอให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย และหากจำเลยทั้งห้าไม่อาจจัดให้โจทก์เข้าทำสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์ดังกล่าวกับผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครในราคาค่าตอบแทนดังกล่าว ก็ขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นจำนวนเงิน550,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวคิดตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งห้าจะชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เสร็จสิ้น กับให้จำเลยทั้งห้าคืนเงินมัดจำให้โจทก์ 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ให้การว่า ขณะโจทก์มอบอำนาจจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มิได้เป็นหุ้นส่วนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1เพิ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลภายหลังที่มีการมอบอำนาจ จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มิได้เป็นตัวการหรือตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 4 เป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดไม่ต้องรับผิดในหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลัง จำเลยที่ 4 ไม่เคยเชิดให้จำเลยที่ 1 กระทำการแทนแต่อย่างใด โจทก์ไม่เคยนำเงินจำนวน140,000 บาท มาชำระให้ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันในนามจำเลยที่ 1 จัดให้โจทก์ได้เข้าทำสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์ที่จำเลยที่ 1ได้รับอนุมัติให้ปลูกสร้างขึ้นในที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่สค.43 (7421) จำนวน 1 คูหา กับผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครในราคาค่าตอบแทนจำนวนเงิน 640,000 บาท หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย และหากจำเลยทั้งสี่ไม่อาจจัดให้โจทก์เข้าทำสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์ดังกล่าวกับผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ในราคาค่าตอบแทนดังกล่าว ก็ให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นจำนวนเงิน 550,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวคิดตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เสร็จสิ้นกับให้จำเลยทั้งสี่คืนเงินให้โจทก์ 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องจำเลยที่ 5
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญามอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.5 เป็นหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นตัวแทนโจทก์ดำเนินการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น มีชั้นลอย 1 ชั้น ซึ่งจะก่อสร้างในที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ ซึ่งเคยปลูกสร้างอาคารไม้2 ชั้น เลขที่ 896/1-9 ให้ถูกต้องตามรูปแบบและรายละเอียดของกรมธนารักษ์ การที่จะสามารถก่อสร้างอาคารพาณิชย์ในที่ราชพัสดุดังกล่าวได้ จะต้องดำเนินการเพื่อให้ได้สิทธิการเช่าก่อน เมื่อได้สิทธิการเช่ามาแล้วจึงจะสามารถปลูกสร้างอาคารตามแบบแปลนแผนผังของกรมธนารักษ์ โดยมีข้อตกลงว่ารายการก่อสร้างหากต่ำกว่าที่ประมาณจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จะคืนเงินส่วนที่เกินแก่โจทก์ แต่หากราคาค่าก่อสร้างสูงกว่าที่ประมาณไว้ โจทก์ก็จะเพิ่มจำนวนเงินให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อจำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 ไปดำเนินการตามสัญญามอบอำนาจ ปรากฏว่าทางราชการได้กำหนดเงื่อนไขสำหรับผู้ขอสิทธิการเช่าที่จะปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ในที่ราชพัสดุดังกล่าวจะต้องเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10,000,000 บาท ดังนั้น การที่โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไปดำเนินการดังกล่าวจึงไม่สามารถทำได้ เพราะโจทก์และจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มิใช่นิติบุคคลตามเงื่อนไขที่ทางราชการกำหนด และไม่มีสิทธิประมูลเช่าที่ราชพัสดุดังกล่าวข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 จึงไม่มีผลบังคับ ประกอบกับขณะทำสัญญามอบอำนาจ จำเลยที่ 1ยังไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 1 จึงไม่จำต้องรับผิดต่อโจทก์ตามข้อตกลงดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่จำต้องรับผิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการก็ไม่จำต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นกัน ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 1 เข้าทำสัญญากับโจทก์นั้นเห็นว่า ขณะทำสัญญามอบอำนาจ จำเลยที่ 1 ยังไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลจึงเป็นไปไม่ได้ที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จะเป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 1 ได้ทั้งโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้รับผิดในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการและหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด แต่ขณะทำสัญญามอบอำนาจ จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มิได้อยู่ในฐานะเป็นหุ้นส่วนแต่อย่างใด เนื่องจากจำเลยที่ 1 ยังมิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลนอกจากนี้สัญญามอบอำนาจเป็นข้อตกลงที่โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 เป็นตัวแทนในการเจรจาขอเช่าที่ราชพัสดุจากกรมธนารักษ์ หากการเจรจาเป็นผลโจทก์ตกลงว่าจ้างจำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 ดำเนินการก่อสร้างอาคารพาณิชย์และขอเช่าอาคารพาณิชย์จากกรมธนารักษ์โดยให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4ตามข้อตกลงซึ่งเป็นสัญญาตัวการตัวแทนระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 ที่ต่างฝ่ายต่างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเวลาใด ๆ ก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 827 ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ได้บอกเลิกสัญญาแล้วเพราะการดำเนินการตามที่มอบหมายเป็นการขัดต่อกฎกระทรวงการคลัง จึงไม่สามารถดำเนินการได้การบอกเลิกสัญญาดังกล่าวจึงมิได้กระทำเมื่องานที่ได้รับมอบหมายได้กระทำสำเร็จแล้ว หากเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตดังที่โจทก์ฎีกา สัญญาตัวการตัวแทนระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 เป็นอันระงับไป
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 รับผิดตามสัญญา โดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เชิดให้จำเลยที่ 1 กระทำการในนามของตนจึงเป็นตัวการตัวแทนต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ และตามคำฟ้องไม่ได้กล่าวอ้างเรื่องการใช้ชื่อสกุลของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นชื่อจำเลยที่ 1 มาเป็นเหตุให้ต้องรับผิดร่วมกัน ฎีกาข้อนี้ของโจทก์จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยและฟังข้อเท็จจริงว่าเงิน 10,000 บาท เป็นเงินค่าใช้จ่าย หาใช่เงินมัดจำที่จะต้องคืน
พิพากษายืน