คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5190/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในการที่ธนาคารพาณิชย์ประกอบการธนาคารพาณิชย์นั้นต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 โดยเฉพาะในการเรียกดอกเบี้ยหรือส่วนลดตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวมาตรา 14 (2) บัญญัติให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดที่ธนาคารพาณิชย์อาจเรียกได้และหากธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 14 (2) ดังกล่าว ย่อมมีความผิดทางอาญาที่ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 300,000 บาท ตามมาตรา 44 และปรากฏว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 14 (2) ดังกล่าว คือประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ดังนั้นธนาคารพาณิชย์ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในประกาศฉบับนี้ ซึ่งตามประกาศฉบับนี้ข้อ 3 กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติในเรื่องเกี่ยวกับดอกเบี้ยและส่วนลดเงินให้สินเชื่อ สรุปได้ว่าธนาคารพาณิชย์ต้องประกาศอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้า และอัตราสูงสุดที่จะเรียกจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข และให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยจากลูกค้าทุกประเภทได้ไม่เกินอัตราที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดีบวกด้วยส่วนต่างสูงสุดตามที่ประกาศไว้ดังกล่าวแล้วเว้นแต่ในกรณีที่ลูกค้าปฏิบัติผิดเงื่อนไขจึงเรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราที่ธนาคารพาณิชย์นั้นได้ประกาศกำหนดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ดังนั้นหากลูกค้ามิได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขธนาคารพาณิชย์จะเรียกดอกเบี้ยในอัตราที่ประกาศกำหนดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขไม่ได้ และการฝ่าฝืนนั้น นอกจากจะเป็นการกระทำความผิดทางอาญาดังกล่าวแล้ว การเรียกดอกเบี้ยเช่นว่านั้นยังเป็นการขัดต่อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนอันมีผลให้การกำหนดเรียกดอกเบี้ยนั้นตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
สัญญาทรัสต์รีซีท ข้อ 4 มีข้อความว่า จำเลยที่ 1 ยอมให้ธนาคารคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ตามที่มีประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด (ปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 19 ต่อปี) นับแต่วันที่ธนาคารได้ชำระเงินค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 นอกจากนี้โจทก์ได้บรรยายไว้ในคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ตกลงยอมรับผิดชำระเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดซึ่งเท่ากับร้อยละ 19 ต่อปี และเมื่อนำสืบก็ปรากฏว่ามีการคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาทรัสต์รีซีทในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ธนาคารชำระเงินค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 แต่อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในสัญญาทรัสต์รีซีท ร้อยละ 19 ต่อปีเป็นอัตราดอกเบี้ยกรณีลูกค้าผิดนัดชำระหนี้ ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ จึงเป็นการเรียกดอกเบี้ยโดยฝ่าฝืนต่อประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดอันเป็นการต้องห้ามตาม พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 14 (2) และ 44 ดังกล่าวแล้วดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกตามอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญาทรัสต์รีซีทจึงเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาดังกล่าว แต่เนื่องจากเป็นหนี้เงิน ป.พ.พ. มาตรา 224 ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ต้นเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงินจำนวน 94,904,038.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 65,704,526.45 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งเจ็ดให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนสืบพยานโจทก์ บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต
ระหว่างพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 7 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาตและจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 4 และที่ 7 ออกจากสารบบความ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันใช้เงิน 94,904,038.90 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราลอยตัวตามประกาศของโจทก์ แต่ไม่เกินร้อยละ 14.5 ต่อปี ตามที่ขอโดยคำนวณจากต้นเงิน 65,704,526.45 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 23 สิงหาคม 2543) จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 100,000 บาท
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 6 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ในการที่ธนาคารพาณิชย์ประกอบการธนาคารพาณิชย์นั้นต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 โดยเฉพาะในการเรียกดอกเบี้ยหรือส่วนลด ตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวมาตรา 14 (2) บัญญัติให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดที่ธนาคารพาณิชย์อาจเรียกได้และหากธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 14 (2) ดังกล่าวย่อมมีความผิดทางอาญาที่ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 300,000 บาท ตามมาตรา 44 และปรากฏว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 14 ดังกล่าว คือประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ดังนั้น ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในประกาศฉบับนี้ ซึ่งตามประกาศฉบับนี้ข้อ 3 กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติในเรื่องเกี่ยวกับดอกเบี้ยและส่วนลดเงินให้สินเชื่อสรุปได้ว่า ธนาคารพาณิชย์ต้องประกาศอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้า ได้แก่ อัตราที่เรียกจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา อัตราที่เรียกจากลูกค้าย่อยชั้นดี ส่วนต่างสูงสุดที่จะให้บวกเข้ากับอัตราที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี และอัตราสูงสุดที่จะเรียกจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข และให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยจากลูกค้าทุกประเภทได้ไม่เกินอัตราที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดีบวกด้วยส่วนต่างสูงสุดตามที่ประกาศไว้ดังกล่าวแล้ว เว้นแต่ในกรณีที่ลูกค้าปฏิบัติผิดเงื่อนไขจึงเรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราที่ธนาคารพาณิชย์นั้นได้ประกาศกำหนดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ดังนั้น หากลูกค้ามิได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขธนาคารพาณิชย์จะเรียกดอกเบี้ยในอัตราที่ประกาศกำหนดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขไม่ได้ และการฝ่าฝืนนั้นนอกจากจะเป็นการกระทำความผิดทางอาญาดังกล่าวแล้ว การเรียกดอกเบี้ยเช่นว่านั้นยังเป็นการขัดต่อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนอันมีผลให้การกำหนดเรียกดอกเบี้ยนั้นตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แต่อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในสัญญาทรัสต์รีซีทร้อยละ 19 ต่อปี เป็นอัตราดอกเบี้ย กรณีลูกค้าผิดนัดชำระหนี้ ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ จึงเป็นการเรียกดอกเบี้ยโดยฝ่าฝืนต่อประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดอันเป็นการต้องห้ามตาม พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 14 (2) และ 44 ดังกล่าวแล้ว ดอกเบี้ยที่ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) เรียกตามอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญาการขอเครดิตรับสินค้าไปก่อนชำระเงิน และสัญญาทรัสต์รีซีททุกฉบับจึงเป็นโมฆะ ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) รวมทั้งโจทก์ซึ่งได้รับโอนสินทรัพย์จากธนาคารดังกล่าวย่อมไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาดังกล่าว แต่เนื่องจากเป็นหนี้เงินซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 224 บัญญัติให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ด้วยเหตุนี้ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ต้นเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีทรวม 4 ฉบับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2541 สำหรับสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ.21 วันที่ 1 เมษายน 2541 สำหรับสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ.23 และวันที่ 23 มีนาคม 2541 สำหรับสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ.24 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด โดยให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) คิดถึงวันที่ 30 มกราคม 2541 วันที่ 1 เมษายน 2541 วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2541 และวันที่ 23 มีนาคม 2541 หักออกจากดอกเบี้ยและต้นเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ.21 ถึง จ.24 ตามลำดับ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ดังกล่าว แม้จำเลยที่ 5 ไม่ได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 5 ด้วย เพราะมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ที่แบ่งแยกไม่ได้ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ดังนั้น เมื่อธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ควบรวมกิจการกับโจทก์โดยโอนทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์ และหลังจากนั้นโจทก์ได้โอนสิทธิเรียกร้องหนี้สินในคดีนี้ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ผู้เข้าแทนที่โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 จึงต้องร่วมกันรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ดังกล่าวแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 82,257,608.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 23,551,812.32 บาท นับตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2541 ของต้นเงิน 17,024,811.96 บาท นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2541 ของต้นเงิน 13,716,001.39 บาท นับตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2540 และของต้นเงิน 27,964,982.83 บาท นับตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2541 ซึ่งเป็นวันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ โดยให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) คิดถึงวันที่ 30 มกราคม 2541 วันที่ 1 เมษายน 2541 วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2541 และวันที่ 23 มีนาคม 2541 หักออกจากดอกเบี้ยและต้นเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ.21 ถึง จ.24 ตามลำดับ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 6 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 80,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง.

Share