คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5187/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การพิจารณาค่าทดแทนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนนอกจากจะคำนึงถึงราคาประเมินเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินแล้ว ยังจะต้องคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตามที่เป็นอยู่ในวันที่ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินฯ ออกใช้บังคับสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน ดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 (1)(4) และ (5) มาประกอบการพิจารณาด้วย ทั้งนี้ ตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ข้อ 1 และข้อ 5
เมื่อราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในวันที่ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินฯ ออกใช้บังคับสูงกว่าราคาที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดให้ แต่เนื่องจากเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนครั้งนี้ ก็เพื่อสร้างและขยายทางหลวงแผ่นดิน อันเป็นการอำนวยความสะดวกแก่การจราจรและการขนส่งซึ่งเป็นกิจการสาธารณูปโภคเป็นประโยชน์ต่อสังคม มิได้เป็นการกระทำที่มีการแสวงหากำไรรวมอยู่ด้วย การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์เพิ่มโดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) จึงเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม และชอบด้วยกฎหมายแล้ว
อำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนที่ดินเฉพาะส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันมีราคาลดลง เมื่อตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคสาม บัญญัติว่า ถ้าต้องเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แต่เพียงส่วนหนึ่ง และส่วนที่เหลือนั้นมีราคาลดลง ให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้เฉพาะสำหรับส่วนที่เหลืออันมีราคาลดลงนั้นด้วย การที่โจทก์ไม่พอใจจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดให้ และได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ขอให้กำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้น แม้โจทก์มิได้กล่าวในอุทธรณ์ขอเพิ่มค่าทดแทนที่ดินเฉพาะส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันมีราคาลดลงไว้ด้วย ก็ย่อมหมายถึงได้อุทธรณ์เงินค่าทดแทนที่ดินทั้งหมดที่โจทก์ควรจะได้รับเนื่องจากเหตุการเวนคืนที่ดินของโจทก์ในครั้งนี้แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนส่วนนี้ได้
แม้ที่ดินตามโฉนดส่วนที่เหลือจากการเวนคืนเนื้อที่ 27 ไร่1 งาน 7 3/10 ตารางวา จะมีถนนล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน แต่ที่ดินดังกล่าวก็อยู่ใกล้กันกับที่ดินส่วนที่เหลือตามโฉนดของโจทก์อีกแปลงหนึ่งที่ถูกเวนคืน ซึ่งมีเนื้อที่เหลือจากการถูกเวนคืนถึง 178 ไร่ 1 งาน 48 4/10 ตารางวา และต่อมาโจทก์ได้ให้ พ.เช่าที่ดินส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนตามโฉนดอีกแปลงหนึ่งดังกล่าวสร้างศูนย์การค้า ดังนี้ สภาพโดยส่วนรวมแล้วที่ดินส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนจึงมีราคาสูงขึ้น มิใช่ราคาลดลง ส่วนที่โจทก์อ้างว่าที่ดินส่วนที่เหลือเนื้อที่ 27 ไร่1 งาน 7 3/10 ตารางวา ถูกทางหลวงแผ่นดินล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน ไม่สะดวกในการเข้าออกเพราะมีการเดินรถทางเดียว เมื่อปรากฏว่าโจทก์สามารถขออนุญาตต่อทางราชการขอเชื่อมทางเข้าออกที่ดินโจทก์กับทางหลวงแผ่นดินได้ ดังนี้แม้จะมีการเดินรถทางเดียวทำให้ไม่สะดวกไปบ้าง ก็ไม่ทำให้ราคาที่ดินของโจทก์ลดลงเนื้อที่ดินของโจทก์ยังมีเหลือจากการถูกเวนคืนถึง 27 ไร่ 1 งาน 7 3/10ตารางวา ก่อนถูกเวนคืนที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันตกติดถนนด้านทิศใต้ติดทางหลวงแผ่นดิน หากมีการก่อสร้างอาคารในที่ดินของโจทก์ โดยที่มิได้มีการเวนคืน โจทก์ก็ต้องถอยร่นปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522อยู่แล้ว ดังนั้นหากมีการก่อสร้างอาคารภายหลังการเวนคืนและโจทก์ต้องถอยร่นจากถนน จึงก็ไม่ทำให้ราคาที่ดินของโจทก์ลดลง
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530มาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติว่า ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราคงที่ตลอดไปจึงขัดกับบทกฎหมายข้างต้น และศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษาแก้ให้ถูกต้องตามมาตรา 26 วรรคสามได้โดยอัตราดอกเบี้ยสูงสุดต้องไม่เกินที่โจทก์ขอมา และแม้จำเลยจะมิได้ตกเป็นผู้ผิดนัด จำเลยก็ต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวสำหรับจำนวนเงินค่าทดแทนที่ศาลพิพากษาให้ชำระเพิ่มขึ้นตามบทกฎหมายดังกล่าวนั้นด้วย และเมื่อโจทก์กับจำเลยได้ทำบันทึกข้อตกลงกันในกรณีสงวนสิทธิอุทธรณ์ตามมาตรา 10 เมื่อวันที่7 มกราคม 2534 ซึ่งตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง จำเลยต้องจ่ายเงินค่าอสังหา-ริมทรัพย์ตามบันทึกข้อตกลงให้แก่โจทก์ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันคือภายในวันที่ 7พฤษภาคม 2534 อันเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามความในมาตรา 26วรรคสาม โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าว

Share