คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5183/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์จำเลยยังไม่ได้หย่ากัน เพียงแต่แยกกันอยู่ จึงถือไม่ได้ว่ามีการแบ่งสินสมรสกันแล้ว ฉะนั้นเมื่อที่นาและยุ้งข้าวเป็นสินสมรสจึงต้องแบ่งให้โจทก์และจำเลยได้ส่วนเท่ากันตาม ป.พ.พ.มาตรา 1533 โจทก์ฟ้องขอหย่ากับจำเลยและขอแบ่งสินสมรส เป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัว แม้ราคาทรัพย์สินที่พิพาทไม่เกินห้าหมื่นบาท และศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพียงเล็กน้อยก็ตาม ก็ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่19 ธันวาคม 2520 ระหว่างอยู่กินด้วยกันมีทรัพย์สินคือเงินสดและสิ่งของราคาประมาณ 53,200 บาท ยุ้งข้าว 1 หลัง ราคาประมาณ 4,000 บาทที่นา 1 แปลง เนื้อที่ 15 ไร่ ราคาประมาณ 30,000 บาท เมื่อเดือนธันวาคม 2523 จำเลยขับไล่โจทก์ออกจากบ้านและได้แต่งงานใหม่เมื่อเดือนมีนาคม 2526 นับจากนั้นจำเลยไม่อุปการะเลี้ยงดูโจทก์แต่อย่างใดการกระทำของจำเลยเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนหย่าและแบ่งสินสมรสให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นฝ่ายแยกกลับไปอยู่บ้านเดิมเองเพราะโจทก์ไม่ยอมอยู่กับบุตรของจำเลยซึ่งเกิดจากภริยาคนเดิม และได้มีการแบ่งทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสจนหมดแล้ว ต่อมาอีก 2 เดือนโจทก์กลับมาอยู่กับจำเลยตามเดิมอีกแต่ไม่ได้นำสินสมรสที่ได้รับแบ่งกลับมา หลังจากนั้นโจทก์ก็ละทิ้งร้างจำเลยกลับไปอยู่บ้านเดิมอีกจำเลยไม่มีทรัพย์สินที่จะแบ่งให้โจทก์อีกแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ และให้จำเลยแบ่งทรัพย์สินคือยุ้งข้าวและที่นาให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องสำหรับการแบ่งทรัพย์สินทั้งสองรายการ (คือยุ้งข้าวกับที่นา) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยแก้ฎีกาว่า คดีนี้ราคาทรัพย์สินที่พิพาทไม่เกินห้าหมื่นบาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพียงเล็กน้อย จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงนั้นศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอหย่ากับจำเลยและขอแบ่งสินสมรสเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัว ไม่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 จำเลยจึงมีสิทธิฎีกาได้
ในปัญหาเรื่องการแบ่งทรัพย์สินที่นาและยุ้งข้าวตามฎีกาของโจทก์นั้น ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า ทรัพย์พิพาทดังกล่าวเป็นสินสมรสจำเลยนำสืบว่า โจทก์กับจำเลยแยกกันอยู่ 2 ครั้ง ในครั้งแรกมีการแบ่งทรัพย์สินกัน โจทก์ได้เงินสด 10,000 บาท จักรเย็บผ้า 1 คันไม้กระดานพื้นเรือน 30 แผ่น ข้าวเปลือก 720 กิโลกรัม ตู้ไม้ 1 หลังที่นอนหมอนมุ้งและโอ่งน้ำซีเมนต์ 2 ใบ ส่วนจำเลยได้ที่นาและยุ้งข้าวจำเลยจึงไม่ต้องแบ่งทรัพย์พิพาทสองรายการนี้ให้โจทก์อีก ส่วนโจทก์นำสืบว่า ในครั้งนั้นโจทก์กลับไปอยู่บ้านเดิมของโจทก์ โดยเอาไม้กระดานพื้นเรือน 30 แผ่น และจักรเย็บผ้า 1 คันไปด้วย แต่ภายหลังเมื่อโจทก์กลับมาอยู่กับจำเลย โจทก์ได้เอาทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนมาด้วยแล้ว เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ มาตรา 1533 บัญญัติว่า เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน การที่โจทก์จำเลยยังไม่ได้หย่ากันเพียงแต่เคยแยกกันอยู่ จึงถือไม่ได้ว่ามีการแบ่งสินสมรสกันแล้วในชั้นฎีกาพิพาทกันเฉพาะที่นาและยุ้งข้าวซึ่งเป็นสินสมรส จึงต้องแบ่งให้โจทก์และจำเลยได้ส่วนเท่ากันตามนัยมาตรา 1533 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share