แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า จำเลยฎีกาขอให้แก้ไขดุลพินิจของศาลอุทธรณ์เป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนและลงโทษจำเลยไม่เกิน 5 ปี อีกทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต่างลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 1 ปี คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218และ 219 ไม่รับฎีกาของจำเลย
จำเลยเห็นว่า จำเลยฎีกาทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายว่าศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยหนักเกินไป ข้อเท็จจริงต่าง ๆ และพฤติการณ์แห่งคดีสมควรรอการลงโทษเพื่อให้โอกาสจำเลยได้กลับตนเป็นพลเมืองดี หรือให้คุมประพฤติไว้ตามกฎหมาย และคดีนี้เป็นความผิดอันยอมความกันได้ โจทก์จำเลยได้ตกลงประนีประนอมยอมความกันและจำเลยได้ชำระหนี้ให้โจทก์ตามข้อตกลงไปบางส่วนแล้วสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2)อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนจำเลยจึงมีสิทธิฎีกาได้ โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณา
หมายเหตุ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าโจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้วหรือไม่คดีทั้งสามสำนวนนี้ โจทก์จำเลยเป็นคู่ความเดียวกัน ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยโจทก์ฟ้องในทำนองเดียวกันขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล จึงมีคำสั่งให้ประทับฟ้องโจทก์ตามเช็ค 4 ฉบับไว้พิจารณา ยกเว้นเช็คหมายเลขที่6459237 คดีขาดอายุความจึงให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ให้จำคุกจำเลยสำนวนละ 1 เดือน 10 วัน รวมจำคุก 4 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 เดือน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับดังกล่าว (อัดนับ 99)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ โดยมีคำร้องประกอบ (อันดับ 106,109)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาว่าศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยหนักเกินไปและพฤติการณ์แห่งคดีสมควรรอการลงโทษจำเลยไว้ก่อนนั้นเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการลงโทษเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงส่วนฎีกาที่ว่าได้มีการตกลงประนีประนอมยอมความกันแล้ว โดยจำเลยจะหาเงินมาชำระให้โจทก์ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 8ธันวาคม 2527 ทำให้คดีอาญาระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายแต่ปรากฏว่าตามรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวไม่มีข้อความใดที่จะแสดงให้เห็นว่ามีการตกลงประนีประนอมยอมความกัน จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาของจำเลยชอบแล้ว ยกคำร้อง