แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยได้รับอนุญาตให้ตั้งสถานพยาบาล ได้รับใบอนุญาตให้ขายยาแผนโบราณ และได้รับใบอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ สาขาเภสัชกรรม เมื่อยาของกลางมีไว้เพื่อกิจการค้าของจำเลย และถูกเก็บซุกซ่อนอยู่ในสถานพยาบาล แม้มิได้นำออกแสดงโดย เปิดเผยให้คนทั่วไปทราบ แต่จำเลยพร้อมที่จะนำมาขายให้แก่ คนไข้หรือผู้มาขอซื้อได้ การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิด ตามพระราชบัญญัติ ยา พ.ศ. 2510 มาตรา 4,72,122 ซึ่งตาม มาตรา 4 ให้ถือว่า การมีไว้เพื่อขายเป็นการขายด้วย ก่อนเกิดเหตุ จำเลยถูกร้องเรียนจากราษฎรว่าสถานพยาบาลของจำเลยมีพฤติการณ์หลอกลวงคนไข้ว่าสามารถรักษาโรคสารพัดโดยใช้คนขับรถสองแถวรับจ้างชักจูงคนไข้ เจ้าหน้าที่เคยตักเตือนจำเลยแล้ว ก็ยังไม่ยอมงดการกระทำอันเป็นการท้าทายเจ้าหน้าที่ โดยอาศัยโอกาสที่ได้รับใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะแผนโบราณสาขาเภสัชกรรม หากปล่อยให้จำเลยประกอบอาชีพต่อไป อาจกระทำความผิดได้อีก กรณีอยู่ในหลักเกณฑ์ใช้วิธีการเพื่อ ความปลอดภัยแก่จำเลยโดยห้ามจำเลยประกอบอาชีพผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ สาขาเภสัชกรรม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขายยาจำนวน 18 รายการ อันเป็นยาที่จำเลยมิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา และมิได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้ตามกฎหมาย จำเลยมียาดังกล่าวไว้เพื่อขายให้แก่บุคคลทั่วไป อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 4, 72, 122, 126ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 50 สั่งห้ามจำเลยประกอบอาชีพตั้งสถานพยาบาลและวิชาชีพผู้ประกอบโรคศิลปะ แผนโบราณ สาขาเภสัชกรรม เป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษและขอนับโทษต่อและริบของกลาง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยผิดตามพระราชบัญญัติยาพ.ศ. 2510 มาตรา 4, 72(4), 122, 126, ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 50 ลงโทษจำคุก 1 ปี ห้ามจำเลยประกอบอาชีพผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ สาขาเภสัชกรรม เป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษ ส่วนคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาจึงไม่นับโทษต่อให้ ของกลางริบ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่และเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรตำบลช้างเผือกได้ตรวจค้นบ้านเลขที่ 66 ถนนสนามกีฬาตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ได้พบและยึดยาชนิดต่าง ๆ รวม 18 รายการ ซึ่งได้แก่ ยาแก้ปวดข้อปวดหลัง และปวดเอว 60 กระปุก ยานิ่ว 62 กระปุก ยาแดงสารพัด20 กระปุก ยาบำรุงหัวใจ 46 กระปุก ยาเม็ดแก้ลม 31 กระปุกยาลูกกลอนบรรจุในตลับใส 36 ตลับ ยาแก้เส้นเอ็น 31 กระปุกยาแก้ปวด 174 กระปุก ยาเหลือง 35 กระปุก ยาเม็ดแคปซูลสีเขียวขาว22 กระปุก น้ำมันว่าน 52 ขวดเล็ก ยาแก้ปวดหัวผง 109 กระปุกยาน้ำสีน้ำตาล 14 ขวด ยาทาแผลตุ่ม 51 ขวด ยานิ่วชนิดผง41 กระปุก คั่งง้ามเล้ง เบอร์ 1 จำนวน 12 กระปุก เบอร์ 2จำนวน 7 กระปุก และเบอร์ 3 จำนวน 16 กระปุก ยาเม็ดแคปซูลสีฟ้าขาวจำนวน 5 กระป๋องและยาเม็ดลูกกลอน 1 กระป๋อง ซึ่งเป็นยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนโบราณตามกฎหมาย
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ จำเลยนำสืบต่อสู้ว่ายาของกลางเป็นของนายน้อย ใจมาไม่ใช่ของจำเลยเห็นว่า จำเลยอยู่ที่บ้านเลขที่ 66 ถนนสนามกีฬาตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่เกิดเหตุนายถาวร พรรณกุล สามีของจำเลยใช้สถานที่ดังกล่าวจดทะเบียนการค้าเป็นสถานการค้ายาแผนโบราณชื่อจื้อกิมโอสถ ตามภาพถ่ายใบทะเบียนการค้าเอกสารหมาย จ.23 และ จ.24 จำเลยได้รับใบอนุญาตให้ตั้งสถานพยาบาลชื่อสถานโบราณพยาบาลจื้อกิมโอสถระบุสถานที่ตั้งอยู่เลขที่ 66/1-2 ท้องที่เดียวกันตามเอกสารหมาย ล.3 ได้รับใบอนุญาตให้ขายยาแผนโบราณใช้ชื่อประกอบธุรกิจว่าร้านจื้อกิมโอสถ 2 ระบุอยู่เลขที่ 66/2 ตามเอกสาร หมาย จ.27นอกจากนี้ตามใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ประกอบยารักษาโรคแผนโบราณที่จำเลยได้รับจากทางราชการโดยระบุสถานที่ประกอบกิจการอยู่ที่เลขที่ 66 ท้องที่เดียวกันอีกตามเอกสารหมาย จ.28 ดังนั้นสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นเลขที่ 66 และ 66/1-2 จำเลยได้เข้ามาเกี่ยวข้องและรับผิดชอบทั้งสิ้น แม้ว่านายน้อย ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณในสาขาเวชกรรมตามเอกสารหมาย ล.2 ได้ใช้สถานพยาบาล ชื่อสถานโบราณพยาบาลจื้อกิมโอสถ ตั้งอยู่เลขที่ 66/1-2 เป็นสถานที่ดำเนินการตามใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาลเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งเป็นสถานที่แห่งเดียวกับสถานที่ที่จำเลยได้รับใบอนุญาตให้ตั้งสถานพยาบาลดังกล่าว แต่จำเลยมีคุณสมบัติพิเศษโดยได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณในสาขาเภสัชกรรมตามเอกสารหมาย ล.4 แสดงว่าจำเลยมีความรู้ความสามารถในการผลิตยาแผนโบราณอีกด้วย นายน้อยพยานจำเลยเบิกความว่าพยานเป็นผู้ปรุงยาในห้องยาและรักษาคนไข้ด้วยตนเอง เพื่อจะให้เข้าใจว่านายน้อยเป็นเจ้าของยาของกลาง แต่ไม่ปรากฏว่านายน้อยได้รับใบอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณในสาขาเภสัชกรรมเช่นเดียวกับจำเลยนายน้อยจึงไม่น่าจะมีความรู้ความสามารถผลิตหรือปรุงยาของกลาง สถานที่เกิดเหตุอยู่ในอำนาจควบคุมดูแลของจำเลยซึ่งมีสถานพยาบาลโรงงานประกอบยารักษาโรคแผนโบราณและร้านค้ายา ไม่ว่ายาของกลางจะเก็บหรือซุกซ่อนอยู่ ณ ส่วนใดของสถานที่ดังกล่าว พยานหลักฐานโจทก์ชี้ชัดว่ายาของกลางอยู่ในครอบครองของจำเลย และมิใช่จำเลยมีไว้เพื่อประโยชน์อย่างอื่นนอกจากเพื่อกิจการค้าของจำเลย แม้จะไม่นำยาของกลางออกมาแสดงโดยเปิดเผยให้บุคคลทั่วไปทราบ แต่เมื่อนายน้อยซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณในสาขาเวชกรรมให้การรักษาแก่คนไข้แล้ว จำเลยก็พร้อมที่นำยาของกลางมาขายให้คนไข้หรือผู้มาขอซื้อได้ โจทก์ไม่จำต้องมีพยานที่รู้เห็นจำเลยขายยาของกลางมานำสืบ พฤติการณ์ที่จำเลยมียาของกลางจำนวนมากไว้ในครอบครองย่อมมีเจตนาเพื่อขาย การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดตามฟ้อง
ปัญหาต่อมามีว่า สมควรใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัยโดยห้ามการประกอบอาชีพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 50 แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ก่อนที่เจ้าพนักงานจะรับจำเลยมาดำเนินคดีนี้ โจทก์นำสืบให้เห็นว่าก่อนเกิดเหตุ 1 วัน มีนางตุ่นแก้วนำนายคำ อินปิ๊ก ซึ่งป่วยมาจากจังหวัดลำปางไปที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่เพื่อให้แพทย์ตรวจรักษา ขณะกำลังทำบัตรคนไข้มีคนขับรถสองแถวรับจ้างมาชักจูงให้ไปรับการรักษาที่สถานโบราณพยาบาลจื้อกิมโอสถของจำเลย จำเลยบอกว่าผู้ป่วยเป็นโรคดีซ่านแล้วเรียกค่ายาและค่ารักษา 3,000 – 4,000 บาทนางตุ่นแก้วเห็นว่าแพงไปจึงปฏิเสธและกลับไปโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ พร้อมกับแจ้งพฤติการณ์หลอกลวงให้เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลทราบ และแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยในข้อหาประกอบโรคศิลปะผิดสาขาโดยไม่ได้รับอนุญาตและก่อนหน้านี้นางทองคำ วันทนา ราษฎรจากจังหวัดอุตรดิตถ์เดินทางมาจังหวัดเชียงใหม่เพื่อรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลสวนดอกก็ประสบเหตุการณ์จากสถานโบราณพยาบาลจื้อกิมโอสถนางทองคำได้แจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจตามสำเนาภาพถ่ายรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีลงวันที่ 16 กันยายน 2524เอกสารหมาย จ.16 เมื่อปี 2526 กระทรวงสาธารณสุขได้รับคำร้องเรียนจากราษฎรอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ตามเอกสารหมาย จ.18 และนางบัวผัด ใจแก้ว ราษฎรจังหวัดพะเยาได้ร้องเรียนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ลงวันที่ 1พฤศจิกายน 2532 ตามเอกสารหมาย จ.19 เล่าถึงพฤติการณ์ของสถานโบราณจื้อกิมโอสถที่มีลักษณะหลอกลวงคนไข้ว่าสามารถรักษาโรคได้สารพัดโดยใช้คนขับรถสองแถวรับจ้างชักจูงคนไข้จากต่างจังหวัดตามสถานีรถไฟและสถานีขนส่งเป็นเครื่องมือชี้นำ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2535 เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ได้เรียกจำเลยมาตักเตือนเกี่ยวกับการดำเนินกิจการตามคำร้องเรียนสถานพยาบาลแห่งนี้ตามเอกสารหมาย จ.20 มาแล้ว จำเลยก็ไม่ยอมงดการกระทำอันมีลักษณะท้าทายเจ้าพนักงานของรัฐและกฎหมายบ้านเมืองโดยมุ่งประโยชน์ตนและพวกพ้องแต่อย่างเดียวโดยอาศัยโอกาสที่จำเลยได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณสาขาเภสัชกรรมกระทำความผิดคดีนี้จากการประกอบอาชีพหรือเนื่องจากการประกอบอาชีพ หากปล่อยให้จำเลยยังคงประกอบอาชีพในลักษณะนี้ต่อไปอาจจะกระทำความผิดเช่นนั้นขึ้นอีกได้ และการที่จำเลยแสวงหาทรัพย์สินจากผู้เจ็บป่วยโดยอาจขายยาซึ่งมิได้ผ่านการตรวจสอบรับรองจากเจ้าพนักงานของรัฐ อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนผู้มาขอรับบริการโดยรู้เท่าไม่ถึงการได้ กรณีอยู่ในหลักเกณฑ์นำวิธีการเพื่อความปลอดภัยมาใช้แก่จำเลย”
พิพากษายืน