แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การมีเมทแอมเฟตามีน2,000เม็ดและอีเฟดรีน 4,600 เม็ด โดยไม่ปรากฏเหตุผลความจำเป็นอย่างอื่น ผิดปกติวิสัยที่จะมีไว้เพื่อเสพเอง ทั้งมีการแบ่งบรรจุในถุงพลาสติก4 ถุง ถุงละ 200 เม็ด เท่า ๆ กัน ประกอบกับในขณะจับกุมจำเลยที่ 1 รับสารภาพว่ามีวัตถุออกฤทธิ์ไว้เพื่อขาย จึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนและอีเฟดรีน ไว้เพื่อขายจริง
ในระหว่างพิจารณาคดีมีประกาศกระทรวงสาธารณสุขบังคับใช้แล้วและมีผลให้เมทแอมเฟตามีนไม่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อไป แต่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 การที่จำเลยมีเมทแอมเฟตามีน ไว้ในครอบครองเกินปริมาณเพื่อขาย และมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเป็นการกระทำความผิดในวาระเดียวกันจับได้พร้อมกัน แม้วัตถุแห่งการกระทำความผิดต่างชนิดกันแต่ก็เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ด้วยกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
ความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 มีโทษหนักกว่าความผิดฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขายตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 89 ดังนั้นจึงต้องนำกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยลงโทษแก่จำเลยทั้งสอง
การมีเมทแอมเฟตามีนและอีเฟดรีนไว้ในครอบครองเพื่อขายในขณะเดียวกันย่อมเป็นความผิดกรรมเดียว และเป็นกรรมเดียวกับการมีไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีกำหนด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 13 ทวิ, 89, 106 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 67, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 11ขอให้ริบของกลาง และให้ลงโทษจำเลยที่ 1 สามเท่าตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 ให้การรับว่า มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 มียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 และอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจริง แต่ไม่ได้มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขาย
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89, 106 ทวิพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 7, 72 วรรคสาม ฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขายและมีไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีโทษเท่ากันให้ลงโทษฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขาย จำคุกคนละ 20 ปี ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี ฐานมีอาวุธปืนที่ผู้อื่นได้รับใบอนุญาตไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตปรับคนละ 2,100 บาทรวมโทษจำคุกคนละ 21 ปี และปรับคนละ 2,100 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา กรณีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 14 ปี และปรับ1,400 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30ของกลางริบ คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนและอีเฟดรีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อขายหรือไม่และจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนและอีเฟดรีนเกินกว่าปริมาณที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดไว้ในครอบครองเพื่อขายและมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า กรณีสำหรับจำเลยที่ 1 การมีเมทแอมเฟตามีนและอีเฟดรีนไว้ในครอบครองจำนวนมากถึง 6,600 เม็ดโดยไม่ปรากฏเหตุผลความจำเป็นอย่างอื่น ผิดปกติวิสัยที่จะมีไว้เพื่อเสพเอง ทั้งมีการแบ่งบรรจุในถุงพลาสติกจำนวนถุงละ 200 เม็ดเท่ากัน และได้ความจากพันตำรวจตรีทรงเกียรติ พยานโจทก์ว่าสืบทราบว่าที่บ้านของจำเลยทั้งสองมีพฤติการณ์ขายวัตถุออกฤทธิ์ โดยพันตำรวจตรีทรงเกียรติเบิกความตอบคำถามทนายจำเลยว่า ในขณะจับกุมตัวจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพว่ามีวัตถุออกฤทธิ์ไว้เพื่อจำหน่ายให้บุคคลนอกพื้นที่ที่รับผิดชอบของสถานีตำรวจภูธรตำบลประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ เมื่อผลการตรวจพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญ ปรากฏว่าวัตถุออกฤทธิ์ของกลางเป็นเมทแอมเฟตามีน2,000 เม็ด และเป็นอีเฟดรีน 4,600 เม็ด พยานโจทก์ดังวินิจฉัยมาข้างต้นจึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนและอีเฟดรีนไว้เพื่อขายจริงตามฟ้อง ข้อที่จำเลยที่ 1นำสืบต่อสู้ว่า รับฝากวัตถุออกฤทธิ์และเฮโรอีนของกลางไว้จากนายเร่ตอนเช้าวันเกิดเหตุขณะจำเลยที่ 2 ไม่อยู่บ้าน ก็มีเพียงคำเบิกความของจำเลยที่ 1 คนเดียวเบิกความลอย ๆทั้งขัดกับคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.13 ที่อ้างว่านายเร่นำมาฝากไว้ประมาณ 1 สัปดาห์แล้ว จึงมีน้ำหนักน้อยไม่น่ารับฟัง ไม่อาจหักล้างพยานโจทก์ได้
สำหรับจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 2 เป็นภริยาของจำเลยที่ 1พักอาศัยอยู่ด้วยกันที่บ้านเกิดเหตุซึ่งเปิดเป็นร้านขายเฟอร์นิเจอร์ เนื่องจากจำเลยที่ 1รับราชการเป็นตำรวจย่อมต้องไปปฏิบัติราชการเป็นประจำ เชื่อว่าปกติจำเลยที่ 2 ต้องเป็นผู้ดูแลกิจการร้านขายเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็เบิกความว่าตามปกติตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์จะขับรถยนต์ส่งบุตรไปโรงเรียนตอนเช้าใช้เวลาประมาณ 40 นาทีแล้วกลับมาที่ร้านเพื่อควบคุมคนงาน พันตำรวจตรีทรงเกียรติพยานโจทก์เบิกความว่าตอนค้นโต๊ะทำงานซึ่งตั้งอยู่ที่ชั้นล่างของร้าน เจ้าพนักงานตำรวจขอกุญแจลิ้นชักโต๊ะจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้ขอกุญแจจากจำเลยที่ 2 มาเปิดให้ จึงพบวัตถุออกฤทธิ์บรรจุถุงพลาสติก 4 ถุง ถุงละ 200 เม็ด อยู่ในลิ้นชักที่สองด้านขวา และได้ความจากคำเบิกความของจ่าสิบตำรวจจำรูญอีกว่า ในลิ้นชักที่พบวัตถุออกฤทธิ์ยังมีเอกสารเกี่ยวกับใบเสร็จรับเงินในการขายเครื่องเฟอร์นิเจอร์ด้วย แสดงว่าจำเลยที่ 2 ใช้โต๊ะและลิ้นชักเก็บของสำคัญและเป็นผู้ถือลูกกุญแจ ประกอบกับเมทแอมเฟตามีนและอีเฟดรีนของกลางมีจำนวนมากถึง 6,600 เม็ด บรรจุถุงรวม 33 ถุง โดยอีกส่วนหนึ่งบรรจุถุงละ 200 เม็ด รวม 29 ถุง อยู่ในตู้เสื้อผ้าภายในห้องนอนของจำเลยทั้งสองรวมกับเฮโรอีนอีก 2 หลอด ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกุญแจห้อง และได้ความจากคำของพันตำรวจตรีทรงเกียรติอีกว่า ภายในตู้เสื้อผ้าดังกล่าวมีทั้งเสื้อผ้าผู้หญิงผู้ชายและเด็กอยู่ด้วย แสดงว่าจำเลยที่ 2 ร่วมใช้ตู้เสื้อผ้าดังกล่าว เชื่อว่าจำเลยที่ 2 รู้เห็นเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนและอีเฟดรีนกับเฮโรอีนของกลาง ข้อที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่าไม่รู้เห็นเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีน อีเฟดรีน และเฮโรอีนของกลาง ขัดต่อเหตุผลดังวินิจฉัยมาข้างต้นจึงไม่น่ารับฟังไม่อาจหักล้างพยานโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนและอีเฟดรีนของกลางเกินกว่าปริมาณที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดไว้ในครอบครองเพื่อขาย และมีเฮโรอีนของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจริงตามฟ้อง
อนึ่ง ปรากฏว่าระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 97 (พ.ศ. 2539) เรื่อง ระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ลงวันที่ 23 กรกฎาคม2539 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539) เรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2539 บังคับใช้แล้ว และมีผลให้เมทแอมเฟตามีนไม่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 อีกต่อไปแต่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 การที่จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเกินปริมาณเพื่อขายและมีเฮโรอีนไว้ในครอบครอง เป็นการกระทำความผิดในวาระเดียวกันโดยจับได้พร้อมกัน แม้วัตถุแห่งการกระทำความผิดต่างชนิดกัน แต่ก็เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1ด้วยกันจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเกินปริมาณเพื่อขาย ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด แต่ความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 มีโทษหนักกว่าความผิดฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขายตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 89 ดังนั้น จึงต้องนำกฎหมายที่ใช้ในขณะทำผิดซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยลงโทษแก่จำเลยทั้งสอง ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนและอีเฟดรีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขายในขณะเดียวกันย่อมเป็นความผิดกรรมเดียวกันการมีไว้ในครอบครองเพื่อขายซึ่งถือเป็นการขายและการมีไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดเป็นการกระทำกรรมเดียวกันผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีโทษเท่ากัน คำพิพากษาศาลชั้นต้นลงโทษฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขายตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89 จึงชอบแล้วที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้ลงโทษฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองอีกกระทงหนึ่งและพิพากษาแก้ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในมาตราเดียวกัน โดยระบุว่า เป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นั้น ไม่ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2ไว้ในครอบครองเพื่อขายตามมาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89 จำเลยที่ 1 จำคุก 13 ปี 4 เดือนและปรับ 1,400 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 20 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2