แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยครอบครองทรัพย์สินที่เป็นมรดกของเจ้ามรดกในฐานะทายาทและในฐานะผู้จัดการมรดก ถือได้ว่า เป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย จำเลยยกอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754มาใช้บังคับมิได้ โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกย่อมมีอำนาจฟ้องขอแบ่งทรัพย์สินพิพาทจากจำเลยได้ ความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดี ย่อมตก อยู่แก่ฝ่ายที่แพ้คดี เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี ศาลชั้นต้นให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์แต่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีอย่างคนอนาถา การที่ศาลชั้นต้นให้ฝ่ายจำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมที่โจทก์ได้รับยกเว้นให้ฟ้องคดีอย่างคนอนาถากับให้ชำระต่อศาลในนามโจทก์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 158 จึงชอบด้วยกฎหมาย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้พิพากษาว่าพินัยกรรมของนางอบเชย สุวรรณกรและการใดที่ได้มีการจัดทำไปตามพินัยกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 คืนมรดกของนางอบเชย สุวรรณกร ให้แก่โจทก์4,950,000 บาท และแบ่งทรัพย์สินอันเป็นมรดกของพลจัตวาหลวงราญปฏิเวชที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ครอบครองแทนให้โจทก์คิดเป็นเงิน 3,300,000บาท ถ้าไม่สามารถแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวออกได้ ให้นำทรัพย์สินขายทอดตลาดเอาเงินมาแบ่งให้โจทก์ตามส่วน หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดี
นางเกษณี ทรรภลักษณ์ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม
ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นางเกษณี ทรรภลักษณ์ ผู้ร้องเข้าเป็นจำเลยร่วม
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วม ร่วมกันแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 5056 และ 3032 แขวงบางขุนพรหม เขตพระนครพร้อมสิ่งก่อสร้างตึกแถวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 4049 และ 8478 แขวงถนนนครไชยศรี (บางกระบือ) เขตดุสิต (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ให้แก่โจทก์ 1 ใน 10 ส่วนถ้าไม่สามารถแบ่งได้ให้นำทรัพย์สินดังกล่าวขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งให้โจทก์ตามส่วนแต่ทั้งนี้ไม่เกิน 3,300,000 บาท ตามที่โจทก์ขอ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าพลจัตวาหลวงราญปฏิเวช และนางอบเชยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎมหายก่อนปี พ.ศ. 2478 มีบุตรด้วยกัน 4 คน คือจำเลยร่วมจำเลยที่ 1 ที่ 2 และโจทก์ปี พ.ศ. 2501 โจทก์แต่งงานแล้วไปพักอยู่กับสามีที่บ้านถนนสาธร เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2504พลจัตวาหลวงราญปฏิเวชถึงแก่กรรมโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ และไม่มีการแบ่งปันมรดกให้แก่ทายาท นางอบเชยครอบครองทรัพย์สินได้ตลอดมาปี พ.ศ. 2507 โจทก์ล้มลงศีรษะฟาดพื้นคอนกรีต เป็นโรคลมบ้าหมู มีอาการชัก ปี พ.ศ. 2511 โจทก์หย่ากับสามีและมาพักอาศัยอยู่กับนางอบเชยที่บ้านถนนสุโขทัย วันที่ 29 เมษายน 2515 นางอบเชยถึงแก่กรรม นางอบเชยได้ทำพินัยกรรมไว้ โจทก์ไม่มีชื่อเป็นผู้รับพินัยกรรมของนางอบเชย และไม่มีสิทธิรับมรดกในส่วนของนางอบเชย จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนางอบเชยตามคำสั่งศาลชั้นต้น ลงวันที่ 5 กันยายน 2515 ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก จำเลยร่วมยื่นคำร้องคัดค้าน จำเลยที่ 2ได้ตกลงโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 4049 และ 8478 แขวงถนนนครไชยศรี(บางกระบือ) เขตดุสิต (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างในที่ดินดังกล่าวซึ่งเป็นทรัพย์พิพาทในคดีนี้ที่จำเลยที่ 2 ได้รับมรดกตามพินัยกรรมของนางอบเชย แลกเปลี่ยนกับที่ดินโฉนดเลขที่ 2230แขวงสวนจิตรลดา (ดุสิต) เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างในที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยร่วมจำเลยร่วมจึงได้ถอนคำร้องคัดค้านไป…
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ครอบครองทรัพย์มรดกของพลจัตวาหลวงราญปฏิเวชแทนโจทก์หรือไม่ และคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ดังได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า นางอบเชยได้ครอบครองทรัพย์มรดกของพลจัตวาหลวงราญปฏิเวชไว้แทนโจทก์ด้วยแล้ว ต่อมาเมื่อนางอบเชยถึงแก่กรรม จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ได้ครอบครองทรัพย์สินไว้ทั้งหมดรวมทั้งทรัพย์สินส่วนที่เป็นมรดกของพลจัตวาหลวงรายปฏิเวชที่ยังไม่ได้แบ่งปันด้วย การที่จำเลยที่ 1ที่ 2 ครอบครองทรัพย์สินส่วนที่เป็นมรดกของพลจัตวาหลวงราญปฏิเวชในฐานะทายาทก็ดีและในฐานะผู้จัดการมรดกก็ดี ถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย จำเลยจึงจะยกอายุความหนึ่งปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มาใช้บังคับมิได้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกย่อมมีอำนาจฟ้องขอแบ่งทรัพย์สินพิพาทจากจำเลยได้คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ และปรากฏว่าการแลกเปลี่ยนทรัพย์มรดกระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับจำเลยร่วมซึ่งกันและกันนั้นโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของร่วมมิได้รู้เห็นยินยอมด้วย การแลกเปลี่ยนที่ดินดังกล่าวจึงไม่ผูกพันโจทก์…
ปัญหาข้อสุดท้ายมีว่า ค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลชั้นต้นสั่งนั้นชอบหรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา โจทก์ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม เมื่อจำเลยแพ้คดีจึงไม่มีค่าธรรมเนียมที่ต้องใช้แทนโจทก์ เห็นว่า ความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดีย่อมตกอยู่แก่ฝ่ายที่แพ้คดี คดีนี้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี ศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ แต่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีอย่างคนอนาถา ที่ศาลชั้นต้นให้ฝ่ายจำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมที่โจทก์ได้รับยกเว้นให้ฟ้องคดีอย่างคนอนาถากับให้ชำระต่อศาลในนามโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 158 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว…”
พิพากษายืน.