แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในการดำเนินคดีแพ่งแทนรัฐบาล หรือในการดำเนินคดีแพ่งหรือคดีอาญาแทนเจ้าพนักงานผู้ซึ่งถูกฟ้องในเรื่องการที่ได้กระทำไปตามหน้าที่ ฯลฯ ซึ่งพนักงานอัยการรับแก้ต่างตาม พ.ร.บ. พนักงานอัยการ พ.ศ. 2498 มาตรา 11 (2) (3) พนักงานอัยการมีฐานะอย่างเดียวกับทนายความตาม พ.ร.บ. ทนายความ พ.ศ. 2528 ที่จะมีอำนาจดำเนินคดีในศาลได้ก็ต่อเมื่อดำเนินการตั้งทนายความให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 61
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดศรีสะเกษเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้จำเลยที่ 3 เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินแปลงเลขที่ 1 กลุ่ม 433 และแปลงเลขที่ 2 กลุ่ม 431 ตำบลห้วยสำราญ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นที่ดินพิพาท ให้จำเลยที่ 2 ข้าราชการในสังกัดของจำเลยที่ 1 เพิกถอนการรังวัดที่ดินพิพาท ให้จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดศรีสะเกษออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งเป็นที่ดินพิพาทเป็นชื่อของโจทก์ โดยให้จำเลยที่ 3 รับเงินไปจากโจทก์จำนวน 11,500 บาท กับให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 พร้อมบริวารออกจากที่ดินพิพาท
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณานางสุมล ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2543 ที่สั่งรับคำให้การและบัญชีระบุพยานของจำเลยที่ 2 โดยให้จำเลยที่ 2 ยื่นใบแต่งทนายความให้ถูกต้องตามกฎหมายกับยื่นคำให้การภายใน 15 วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 รวมทั้งบัญชีระบุพยานให้ถูกต้องตามกฎหมายแล้วให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในสำนวนได้ความว่าจำเลยที่ 2 เป็นข้าราชการในสังกัดจำเลยที่ 1 มีหน้าที่บันทึกการนำทำการรังวัดปักเขตที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินบ้านยางชุม หมู่ที่ 8 ตำบลห้วยสำราญ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้ลงนามแต่งตั้งให้นายนรินทร์ พนักงานอัยการจังหวัดศรีสะเกษเป็นทนายความเพื่อดำเนินคดีแทน แต่ตามคำให้การของจำเลยที่ 2 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2543 ตามสารบัญอันดับที่ 33 มีนายรัตนชัย อัยการผู้เชี่ยวชาญสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีแพ่งเขต 3 สาขาศรีสะเกษ เป็นผู้ลงชื่อเป็นผู้ยื่นคำให้การ เป็นผู้เรียงและพิมพ์ และเป็นผู้ลงชื่อระบุพยานตามบัญชีพยานของจำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 15 มีนาคม 2543 ตามสารบัญอันดับที่ 37 โดยจำเลยที่ 2 มิได้ลงนามแต่งตั้งให้นายรัตนชัยเป็นทนายความของจำเลยที่ 2 ต่อมาวันที่ 21 มิถุนายน 2543 จำเลยที่ 2 ลงนามแต่งตั้งให้นายจรินทร์รองอัยการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นทนายความเพื่อดำเนินคดีแทนตามใบแต่งทนายความอันดับที่ 39 และวันที่ 16 สิงหาคม 2544 จำเลยที่ 2 ลงนามแต่งตั้งให้นายสำเร็จ พนักงานอัยการจังหวัดศรีสะเกษเป็นทนายความเพื่อดำเนินคดีแทนตามใบแต่งทนายความอันดับที่ 50 หลังจากนี้ต่อมานายสำเร็จเป็นผู้ดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 2 จนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ตลอดทั้งการพิจารณาในชั้นอุทธรณ์ด้วย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า การที่นายรัตนชัยเป็นผู้ยื่นคำให้การและบัญชีพยานของจำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2543 และฉบับลงวันที่ 15 มีนาคม 2543 ตามลำดับ โดยจำเลยที่ 2 มิได้ลงชื่อแต่งตั้งในใบแต่งทนายความให้นายรัตนชัยเป็นทนายความของตนนั้นเป็นการชอบด้วยกระบวนพิจารณาหรือไม่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า นายรัตนชัยดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นตาม พ.ร.บ. พนักงานอัยการ พ.ศ. 2498 มาตรา 11 (2) (3) จึงมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาแทนจำเลยที่ 2 ได้ โดยไม่ต้องมีใบแต่งทนายความนั้น เห็นว่า พ.ร.บ. พนักงานอัยการ พ.ศ. 2498 มาตรา 11 (2) (3) บัญญัติว่า
“มาตรา 11 พนักงานอัยการมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
(2) ในคดีแพ่ง มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินคดีแทนรัฐบาลในศาลทั้งปวง กับมีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ซึ่งบัญญัติว่าเป็นอำนาจและหน้าที่ของกรมอัยการหรือพนักงานอัยการ
(3) ในคดีแพ่งหรืออาญาซึ่งเจ้าพนักงานถูกฟ้องในเรื่องการที่ได้กระทำไปตามหน้าที่ก็ดี หรือในคดีแพ่งหรืออาญาที่ราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดถูกฟ้องในเรื่องการที่ได้กระทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งได้สั่งการโดยชอบด้วยกฎหมายหรือเข้าร่วมกับเจ้าพนักงานกระทำการในหน้าที่ราชการก็ดี เมื่อเห็นสมควรพนักงานอัยการจะรับแก้ต่างก็ได้”
บทบัญญัติดังกล่าวนี้ หมายความว่า พนักงานอัยการมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินคดีแพ่งแทนรัฐบาลหรือในการดำเนินคดีแพ่งหรือคดีอาญาแทนเจ้าพนักงานผู้ซึ่งถูกฟ้องในเรื่องการที่ได้กระทำไปตามหน้าที่ ฯลฯ เมื่อพนักงานอัยการเห็นสมควรจะรับแก้ต่างให้ก็ได้ ซึ่งการรับแก้ต่างให้ตามบทบัญญัติของ 2 อนุมาตรานี้พนักงานอัยการมีฐานะอย่างเดียวกับทนายความ ตาม พ.ร.บ. ทนายความ พ.ศ. 2528 ที่จะมีอำนาจดำเนินคดีในศาลได้ก็ต่อเมื่อดำเนินการให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 61 ซึ่งบัญญัติว่า “การตั้งทนายความนั้น ต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อตัวความและทนายความ แล้วยื่นต่อศาลเพื่อรวมไว้ในสำนวน ใบแต่งทนายนี้ให้ใช้ได้เฉพาะคดีเรื่องหนึ่ง ๆ ตามที่ได้ยื่นไว้เท่านั้น
” เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่าก่อนจำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การฉบับลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2543 และบัญชีพยานลงวันที่ 15 มีนาคม 2543 จำเลยที่ 2 ลงนามแต่งตั้งให้นายนรินทร์ พนักงานอัยการจังหวัดศรีสะเกษเป็นทนายความไว้แล้ว แต่ครั้นเมื่อมีการยื่นคำให้การและบัญชีพยานดังกล่าว กลับกลายเป็นนายรัตนชัย อัยการผู้เชี่ยวชาญสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีแพ่งเขต 3 สาขาศรีสะเกษ เป็นผู้ลงชื่อในคำให้การและบัญชีพยานโดยไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ลงนามแต่งตั้งให้นายรัตนชัยเป็นทนายความของตนแต่ประการใด จึงมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 61 ซึ่งเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่.