คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6007/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ระบุว่าจำเลยที่ 2 มีวัตถุประสงค์รับจัางขนส่งสินค้าโดยทางบกและทางน้ำ ผู้ตราส่งเป็นผู้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้บรรทุกสินค้าจากโกดังสินค้าของผู้ตราส่งไปยังการท่าเรือแห่งประเทศไทย และชำระเงินค่าจ้างขนส่งให้จำเลยที่ 2 ถือว่าจำเลยที่ 2 ทำการรับขนของเพื่อบำเหน็จในทางการค้าปกติของตน ย่อมเป็นผู้ขนส่งตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 608
จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของบริษัท น.ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ ณ ประเทศสิงคโปร์ รับจ้างบริษัท ล.ผู้ตราส่งบรรทุกสินค้าลงเรือเพื่อขนส่งไปยังเมืองฮ่องกงทั้งออกใบตราส่งให้แก่ผู้ตราส่งการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนทำสัญญารับขนส่งกับ บริษัท ล.ผู้ตราส่งแทนบริษัท น.ผู้ขนส่งตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและภูมิลำเนาในต่างประเทศ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดตามสัญญานั้นแต่ลำพังตนเอง
โจทก์ผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าเสียหายในการที่สินค้าสูญหายให้แก่บริษัท ท.ผู้รับตราส่งซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยไปแล้ว โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของบริษัท ล.ผู้เอาประกันภัย และบริษัท ท.ผู้รับประโยชน์มาฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ผู้ขนส่ง และจำเลยที่ 3 ผู้ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ให้รับผิดเพราะเหตุสินค้าที่ทำการขนส่งสูญหายได้ แม้ตามหนังสือโอนสิทธิที่บริษัท ท.ผู้รับประโยชน์จะได้โอนบรรดาสิทธิเกี่ยวกับสินค้าที่เอาประกันภัยไว้ให้โจทก์เรียกร้องเอาจากบริษัท น.และห้างหุ้นส่วนจำกัด น.ก็ตาม หาทำให้โจทก์หมดสิทธิฟ้องร้องจำเลยทั้งสามแต่ประการใด
การที่บริษัท ล.ผู้ตราส่งลงชื่อสลักหลังโอนใบตราส่งให้แก่บริษัท ท.เพื่อให้บริษัท ท.นำใบตราส่งเป็นหลักฐานในการรับสินค้า มิใช่บริษัท ล.ผู้ตราส่งแสดงความตกลงชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดกับจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่ง ข้อยกเว้นและจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามที่จำเลยที่ 1อ้างว่ามีอยู่ในใบตราส่งจึงตกเป็นโมฆะ
เมื่อตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าถูกลากจูงไปถึงโกดังของบริษัท ท.ผู้รับตราส่งบริษัท ส.ได้ทำการสำรวจสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์พบว่าสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์สูญหายไปทั้งหมดกรณีจึงมิใช่บริษัท ท.ผู้รับตราส่งได้รับเอาของไว้แล้วโดยไม่อิดเอื้อน อันจะทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งสิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 623
การที่บริษัท ล.ผู้ตราส่งว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้เป็นผู้ขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ของจำเลยที่ 1 มายังบริษัท ล.เพื่อบรรจุสินค้าลงในตู้ เมื่อบรรจุสินค้าแล้วได้ให้จำเลยที่ 2 ลากตู้คอนเทนเนอร์ไปยังการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อส่งให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น สัญญารับขนระหว่างบริษัท ล.กับจำเลยที่ 2 เป็นคนละฉบับไม่เกี่ยวข้องกันกับสัญญารับขนระหว่างบริษัท ล.กับจำเลยที่ 1 จึงมิใช่เป็นการขนส่งโดยมีผู้ขนส่งหลายคนหลายทอด
ค่าสำรวจสินค้าที่ผู้รับตราส่งเป็นผู้ว่าจ้างบริษัทผู้นำสำรวจมาทำการสำรวจสินค้ามิใช่ค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญารับขนของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในค่าสำรวจสินค้าไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ประกอบกิจการค้ารับขนส่งทางทะเล และเป็นตัวแทนในประเทศไทยในการร่วมกันรับขนส่งทางทะเลและทั่วไปของบริษัทเนปจูนโอเรียนไลน์ จำกัด ซึ่งมีสำนักงานในประเทศสิงค์โปร์ จำเลยที่ ๒ เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ ๓ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการรับขนทั่วไป เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๒๓ บริษัทเท็กซ์ไทล์อัลไลแอนซ์ จำกัด ที่เมืองฮ่องกงได้สั่งซื้อสินค้าผ้าฝ้ายจากบริษัทลักกี้เท็กซ์ (ไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ขายในประเทศไทยจำนวน ๓๑๔ พับ โดยผู้ขายจะต้องบรรทุกสินค้าผ้าฝ้ายไปทางเรือเพื่อส่งให้แก่ผู้ซื้อซึ่งจำเลยทั้งสามร่วมกันรับขน โดยจำเลยที่ ๑ ได้จัดตู้คอนเทนเนอร์ของจำเลยที่ ๑ ไปรับสินค้าไปจากโกดังของผู้ขาย มีรถของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ลากจูงตู้คอนเทนเนอร์เพื่อไปลงเรือเดินทะเลชื่อเนปจูนโทพาซที่ท่าเรือคลองเตยไปยังผู้ซื้อที่เมืองฮ่องกง จำเลยที่ ๑ ได้ออกใบตราส่งให้บริษัทลักกี้เท็กซ์(ไทย) จำกัด สินค้าดังกล่าวบริษัทลักกี้เท็กซ์ (ไทย) จำกัด ผู้ขายได้เอาประกันภัยในการขนส่งไว้กับโจทก์เป็นเงิน ๕๓๙,๔๕๔ เหรียญฮ่องกง มีบริษัทเท็กซ์ไทล์อัลไลแอนซ์ จำกัด ผู้ซื้อเป็นผู้รับประโยชน์ ต่อมาสินค้าผ้าได้สูญหายไปในระหว่างการขนส่ง บริษัทเท็กซ์ไทล์อัลไลแอนซ์ จำกัดผู้รับประโยชน์เรียกร้องให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยเป็นเงิน ๕๓๙,๔๕๔เหรียญฮ่องกง พร้อมกับค่าสำรวจความเสียหายอีก ๘๓๐ เหรียญฮ่องกง คิดเป็นเงินไทย๒,๑๖๖,๕๓๘.๘๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงินจำนวน ๒,๑๙๓,๖๗๙.๔๐ บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ ๑ เป็นตัวแทนเรือต่างประเทศที่รับส่งสินค้าระหว่างประเทศไทยกับเมืองท่าต่างประเทศ จำเลยที่ ๑ เป็นตัวแทนเรือของบริษัทเนปจูนโอเรียนไลน์จำกัด ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศสิงค์โปร์โดยรับจัดทำพิธีการเกี่ยวกับการนำเรือเข้าออกแทนบริษัทดังกล่าว ไม่ได้ร่วมกันรับขนส่งทางทะเล จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ร่วมรับขนสินค้ารายพิพาทกับจำเลยที่ ๒ที่ ๓ หรือกับเจ้าของเรือเนปจูนโทพาซ บริษัทลักกี้เท็กซ์ (ไทย) จำกัด ผู้ส่งสินค้าจะส่งสินค้ารายพิพาทโดยทางเรือเนปจูนโทพาซโดยวิธีบรรจุสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์ของบริษัทเนปจูนโอเรียนไลน์จำกัด จำเลยที่ ๑ ในฐานะตัวแทนของบริษัทเนปจูนโอเรียนไลน์ จำกัด ผู้ขนส่งได้จัดตู้คอนเทนเนอร์เปล่าให้ผู้ส่งสินค้า บริษัทลักกี้เท็กซ์ (ไทย) จำกัด ผู้ตราส่งหรือผู้ส่งสินค้าได้จ้างให้จำเลยที่ ๒ นำรถพ่วงของจำเลยที่ ๒ ไปลากจูงตู้คอนเทนเนอร์ไปส่งมอบให้บริษัทผู้ส่งสินค้า ณ โรงงานของผู้ส่งสินค้า ผู้ส่งสินค้านำตู้คอนเทนเนอร์ไปบรรจุและตรวจนับจำนวนสินค้าเอง ผู้ขนส่งหรือตัวแทนเรือมิได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวการตรวจนับการบรรจุสินค้า หลังจากนั้นจำเลยที่ ๒ ได้ลากจูงตู้คอนเทนเนอร์ให้ผู้ส่งสินค้าโดยผ่านการตรวจของเจ้าหน้าที่ศุลกากรมีการปิดผนึกตราของศุลกากร และผู้ส่งสินค้าได้ใส่กุญแจปิดผนึกเรียบร้อย ไม่มีร่องรอยการเปิดหรืองัดแงะหรือฉีกผนึกตราของศุลกากร จำเลยที่ ๒ส่งมอบตู้คอนเทนเนอร์ให้แก่บริษัทลักกี้เท็กซ์(ไทย) จำกัด ผู้ส่งสินค้าที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยและชำระค่าระวางพาหนะแก่จำเลยที่ ๒ เมื่อพนักงานของจำเลยที่ ๑ ตรวจดูสภาพของตู้คอนเทนเนอร์เรียบร้อย ไม่มีร่องรอยการเปิดหรืองัดแงะและผนึกตราศุลกากรและกุญแจอยู่ในสภาพเรียบร้อยมิได้ถูกทำลาย จึงได้ผนึกตราของผู้ขนส่งที่ตู้คอนเทนเนอร์อีกครั้งหนึ่ง และรับมอบตู้คอนเทนเนอร์เพื่อขนส่งต่อไป การบรรทุกสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์จำเลยทั้งสามไม่ทราบได้ว่าสินค้าภายในสูญหายหรือบุบสลายแต่สภาพภายนอกตู้เรียบร้อย เมื่อถึงท่าเรือเมืองฮ่องกง ตัวแทนบริษัทเนปจูนโอเรียนไลน์ จำกัด ได้ส่งมอบตู้คอนเทนเนอร์ให้แก่ตัวแทนผู้รับสินค้าปลายทางในสภาพเรียบร้อย และภาระหน้าที่ของผู้ขนส่งได้สิ้นสุดลงแล้ว นอกจากนั้นบริษัทลักกี้เท็กซ์ (ไทย) จำกัด ผู้ตราส่งได้ขอคืนอากรขาออกแล้ว แสดงว่าผู้รับสินค้าปลายทางได้รับสินค้าไว้เรียบร้อยแล้ว โจทก์ได้รับช่วงสิทธิที่ผู้โอนมีต่อบริษัทเนปจูนโอเรียนไลน์จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัดนาวาเซอร์วิสเท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ปรากฏจากรายงานการสำรวจว่าขณะเปิดทำการสำรวจนั้นผนึกตราของศุลกากร ผนึกตราผู้ขนส่งและกุญแจที่ปิดล็อกบานประตูตู้คอนเทนเนอร์อยู่ในสภาพเรียบร้อย สินค้าจึงมิได้สูญหายระหว่างการขนส่งในการขนส่งโจทก์มีข้อตกลงชัดแจ้งว่าผู้ส่งย่อมต้องผูกพันตามข้อตกลงในใบตราส่งทุกประการ ผู้ขนส่งจะรับผิดชอบใช้ค่าเสียหายไม่เกิน ๒ เหรียญสหรัฐต่อ ๑ กิโลกรัมของน้ำหนักสินค้า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินตามฟ้อง ค่าใช้จ่ายในการสำรวจ ๘๓๐ เหรียญฮ่องกง เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ของโจทก์เองไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามคำให้การของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ว่า จำเลยที่ ๒ ได้นำรถพ่วงไปลากจูงตู้คอนเทนเนอร์จากโกดังสินค้าของบริษัทลักกี้เท็กซ์ (ไทย) จำกัด ผู้ตราส่งไปยังท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อนำตู้คอนเทนเนอร์ลงเรือเนปจูนโทพาซส่งไปยังเมืองฮ่องกง ในการลากจูงตู้คอนเทนเนอร์นี้บริษัทลักกี้เท็กซ์ (ไทย) จำกัดผู้ตราส่งเป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ ๒ ในราคา ๔,๐๐๐ บาท และได้ความตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครว่า จำเลยที่ ๒ มีวัตถุประสงค์ทำการรับจ้างขนสินค้าโดยทางบกและทางน้ำ และบริษัทลักกี้เท็กซ์ (ไทย) จำกัด ผู้ตราส่งได้ชำระค่าจ้างในการที่จำเลยที่ ๒ ลากจูงตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวข้างต้นให้แก่จำเลยที่ ๒ แล้ว จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ ๒ ทำการรับขนของเพื่อบำเหน็จในทางการค้าปกติของตน ย่อมเป็นผู้ขนส่งตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๖๐๘ สำหรับจำเลยที่ ๑ นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ เป็นตัวแทนของบริษัทเนปจูน-โอเรียนไลน์ จำกัด ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศสิงค์โปร์ บริษัทลักกี้เท็กซ์ (ไทย) จำกัด ผู้ตราส่งติดต่อจำเลยที่ ๑ ให้ทำการขนส่งสินค้าที่หาย ไปเมืองฮ่องกง จำเลยที่ ๑ ได้จัดหาตู้คอนเทนเนอร์ให้บริษัทลักกี้เท็กซ์ (ไทย) จำกัด ผู้ตราส่งจัดการนำไปบรรจุสินค้า และให้บริษัทลักกี้เท็กซ์ (ไทย)จำกัด จัดการลากจูงตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าแล้วนั้นไปยังท่าเรือแห่งประเทศไทย จากนั้นจำเลยที่ ๑ ดำเนินการจัดส่งตู้คอนเทนเนอร์นั้นลงเรือเนปจูนโทพาซซึ่งเป็นเรือของบริษัทเนปจูน-โอเรียนไลน์ จำกัด เพื่อขนส่งไปเมืองฮ่องกง พร้อมทั้งออกใบตราส่งให้แก่บริษัทลักกี้เท็กซ์ (ไทย)จำกัด ผู้ตราส่ง เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ ๑ ดังกล่าวเป็นกรณีที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นตัวแทนทำสัญญารับขนส่งกับบริษัทลักกี้เท็กซ์ (ไทย) จำกัด ผู้ตราส่งแทนบริษัทเนปจูนโอเรียนไลน์ จำกัดผู้ขนส่ง ตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ จำเลยที่ ๑ จึงต้องรับผิดตามสัญญานั้นแต่ลำพังตนเอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๒๔
ปัญหาข้อที่สองของจำเลยทั้งสามซึ่งแก้ฎีกาว่า โจทก์ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากบริษัทเท็กซ์ไทล์อัลไลแอนซ์ จำกัด ผู้รับตราส่งซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยให้ฟ้องบริษัทเนปจูนโอเรียนไลน์ จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัดนาวาเซอร์วิส ซึ่งเป็นบุคคลต่างหากจากจำเลยคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าเสียหายในการที่สินค้าสูญหายให้แก่บริษัทเท็กซ์ไทล์อัลไลแอนซ์ จำกัด ผู้รับตราส่งซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยไปแล้ว โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของบริษัทลักกี้เท็กซ์ (ไทย) จำกัด ผู้เอาประกันภัยและของบริษัทเท็กซ์ไทล์อัลไลแอนซ์ จำกัด ผู้รับประโยชน์มาฟ้องจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ผู้ขนส่งและจำเลยที่ ๓ ผู้ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๒ ให้รับผิดเพราะเหตุสินค้าที่ทำการขนส่งสูญหายได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๘๐ ซึ่งเป็นการรับช่วงสิทธิด้วยอำนาจของกฎหมาย หาจำต้องให้ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์โอนสิทธิเรียกร้องให้ไม่ ฉะนั้น แม้ตามหนังสือโอนสิทธิที่บริษัทเท็กซ์ไทล์อัลไลแอนซ์จำกัด ผู้รับประโยชน์จะได้โอนบรรดาสิทธิเกี่ยวกับสินค้าที่เอาประกันภัยไว้ให้โจทก์เรียกร้องเอาแก่บริษัทเนปจูนโอเรียนไลน์ จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัดนาวาเซอร์วิสก็ตาม ก็หาทำให้โจทก์หมดสิทธิฟ้องร้องจำเลยทั้งสามแต่อย่างใดไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ปัญหาข้อที่สามตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสามจะต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ได้มีการบรรจุสินค้าผ้าจำนวน ๓๑๔ พับ ตามฟ้องลงในตู้คอนเทนเนอร์ก่อนที่จำเลยที่ ๒ จะลากจูงตู้คอนเทนเนอร์ไปยังท่าเรือแห่งประเทศไทยแล้ว จำเลยที่ ๑ ให้การและนำสืบว่า ขณะที่ตู้คอนเทนเนอร์มาถึงท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อจะนำลงเรือเนปจูนโทพาซพนักงานของจำเลยที่ ๑ ตรวจดูสภาพภายนอกตู้คอนเทนเนอร์แล้ว ปรากฏว่าอยู่ในสภาพเรียบร้อยไม่มีร่องรอยการเปิดหรืองัดแงะตู้ ผนึกตราศุลกากรและกุญแจอยู่ในสภาพเรียบร้อยมิได้ถูกทำลายพนักงานของจำเลยที่ ๑ จึงผนึกตราของผู้ขนส่งคือบริษัทเนปจูนโอเรียนไลน์ จำกัด ที่ตู้คอนเทนเนอร์อีกครั้งหนึ่ง แสดงการรับมอบตู้คอนเทนเนอร์เพื่อทำการขนส่งต่อไป คดีได้ความต่อไปว่า ตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวได้ถูกนำลงเรือเนปจูนโทพาซเดินทางไปยังเมืองฮ่องกง เมื่อตู้คอนเทนเนอร์ไปถึงเมืองฮ่องกงบริษัทเนปจูนโอเรียนไลน์ จำกัด ได้ส่งมอบตู้คอนเทนเนอร์นั้นให้แก่บริษัทเท็กซ์ไทล์อัลไลแอนซ์ จำกัดผู้รับตราส่ง ซึ่งผู้รับตราส่งได้ว่าจ้างบริษัทสวอร์นมีเซอร์เร่อแอนด์เวจเชอร์ (ฮ่องกง) จำกัด ทำการสำรวจสินค้าก่อนเปิดตู้คอนเทนเนอร์ บริษัทดังกล่าวได้ร่วมกับตัวแทนของผู้รับตราส่ง ทำการเปิดตู้คอนเทนเนอร์ออก ปรากฏว่าสินค้าผ้าในตู้คอนเทนเนอร์สูญหายไปทั้งหมด โดยไม่ทราบว่าหายไปอย่างไรตั้งแต่เมื่อใด เห็นว่า ที่จำเลยที่ ๑ อ้างว่าการขนส่งสินค้ารายนี้เป็นการส่งในระบบ FCL/FCL หรือCY/CY หรือที่เรียกว่า Shipper’s Load and Count โดยผู้ตราส่งเป็นผู้บรรจุสินค้าลงในตู้คอนเทนเนอร์เอง จำเลยที่ ๑ มิได้รู้เห็นด้วย ซึ่งจำเลยที่ ๑ มีข้อยกเว้นความรับผิดไว้ที่ด้านหลังใบตราส่งว่าผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดในความสูญหายหรือเสียหายของสินค้า และหากจะต้องรับผิดก็จะรับผิดไม่เกิน ๒ เหรียญสหรัฐต่อ ๑ กิโลกรัม ของน้ำหนักสินค้า ในข้อนี้เห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยที่ ๑ นำข้อยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งที่ระบุไว้ในใบตราส่งขึ้นต่อสู้ ซึ่งตามประมวล-กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๒๕ บัญญัติว่า “ใบรับ ใบตราส่ง หรือเอกสารอื่น ๆ ทำนองนั้นก็ดีซึ่งผู้ขนส่งออกให้แก่ผู้ส่งนั้น ถ้ามีข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งประการใด ท่านว่าความนั้นเป็นโมฆะ เว้นแต่ผู้ส่งจะได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดเช่นว่านั้น” โจทก์นำสืบว่า การที่ด้านหลังใบตราส่งมีตราของบริษัทลักกี้เท็กซ์ (ไทย) จำกัด และลายเซ็นของผู้มีอำนาจทำการแทนซึ่งเป็นผู้ตราส่งลงไว้นั้น เป็นการลงชื่อสลักหลังโอนใบตราส่งให้แก่บริษัทเท็กซ์ไทล์อัลไลแอนซ์ จำกัด เพื่อให้บริษัทเท็กซ์ไทล์อัลไลแอนซ์ จำกัด นำใบตราส่งนั้นไปเป็นหลักฐานในการรับสินค้า จำเลยที่ ๑ หาได้นำสืบว่า การลงชื่อดังกล่าวเป็นการตกลงยอมรับข้อยกเว้นและจำกัดความรับผิดตามที่ใบตราส่งระบุไว้ไม่ ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า บริษัทลักกี้เท็กซ์ (ไทย)จำกัด ผู้ตราส่งได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้น หรือจำกัดความรับผิดดังกล่าว ฉะนั้นข้อยกเว้นและจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามที่จำเลยที่ ๑ อ้างจึงเป็นโมฆะ จำเลยที่ ๑ จะยกขึ้นมาปฏิเสธความรับผิดหรือต้องรับผิดน้อยลงไม่ได้ สำหรับข้อที่จำเลยที่ ๑ อ้างว่าบริษัทเนปจูนโอเรียนไลน์จำกัด ได้ส่งมอบตู้ให้แก่บริษัทเท็กซ์ไทล์อัลไลแอนซ์ จำกัด ผู้รับตราส่งไปในสภาพเรียบร้อยโดยตราไม่ถูกแตะต้อง ดังที่ปรากฏในใบสั่งปล่อยและส่งคืน จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่า ใบสั่งปล่อยและส่งคืนดังกล่าวออกให้แก่ผู้รับจ้างลากจูงเพื่อลากจูงตู้คอนเทนเนอร์ไปส่งให้แก่บริษัทเท็กซ์ไทล์อัลไลแอนซ์จำกัด ผู้รับตราส่ง แล้วส่งคืนตู้คอนเทนเนอร์เปล่า ได้ความตามเอกสารหมาย จ.๒๐ แผ่นสุดท้ายว่าตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวได้ถูกลากจูงไปถึงโกดังของบริษัทเท็กซ์ไทล์อัลไลแอนซ์ จำกัด ผู้รับตราส่งเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๒๓ เวลา ๑๐ นาฬิกา แล้วบริษัทสวอร์นมีเซอร์เร่อแอนด์เวจเชอร์ (ฮ่องกง)จำกัด ได้เริ่มทำการสำรวจสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์ จึงได้พบว่าสินค้าผ้าในตู้คอนเทนเนอร์สูญหายไปทั้งหมด กรณีจึงมิใช่เป็นเรื่องที่บริษัทเท็กไทอัลไลแอนซ์ จำกัด ผู้รับตราส่งได้รับเอาของไว้แล้วโดยไม่อิดเอื้อน อันจะทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ ๑ ผู้ขนส่งสิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๖๒๓
ปัญหาว่าจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จะต้องรับผิดหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบริษัทลักกี้เท็กซ์ (ไทย) จำกัด ได้ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ ๒ ให้เป็นผู้ขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ของจำเลยที่ ๑โดยลากจูงมายังโรงงานของบริษัทลักกี้เท็กซ์ (ไทย) จำกัด ที่จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อบรรจุสินค้าลงในตู้ เมื่อบรรจุสินค้าเสร็จเรียบร้อยแล้วได้ให้จำเลยที่ ๒ ลากตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวไปที่ท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อส่งให้แก่จำเลยที่ ๑ ทำการขนส่งโดยทางเรือต่อไปยังเมืองฮ่องกง เห็นว่าเป็นเรื่องที่บริษัทลักกี้เท็กซ์ (ไทย) จำกัด ผู้ตราส่งได้ว่าจ้างจำเลยที่ ๒ โดยตรงให้ขนส่งสินค้าอีกทอดหนึ่งต่างหากจากการว่าจ้างให้จำเลยที่ ๑ ขนส่งสินค้าไปยังเมืองฮ่องกง สัญญารับขนระหว่างบริษัทลักกี้เท็กซ์ (ไทย) จำกัด กับจำเลยที่ ๒ เป็นสัญญาคนละฉบับไม่เกี่ยวข้องกันกับสัญญารับขนระหว่างบริษัทลักกี้เท็กซ์ (ไทย) จำกัด กับจำเลยที่ ๑ หรือบริษัทเนปจูนโอเรียนไลน์ จำกัด แต่อย่างใดการขนส่งสินค้ารายนี้จึงมิใช่การขนส่งโดยมีผู้ขนส่งหลายคนหลายทอด อันผู้ขนส่งทุกทอดจะต้องรับผิดร่วมกันในการสูญหาย บุบสลาย หรือส่งชักช้า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๑๘จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ในความสูญหายของสินค้ารายนี้ จำเลยที่ ๒ จะต้องรับผิดตามสัญญาที่ทำไว้กับบริษัทลักกี้เท็กซ์ (ไทย) จำกัด ก็ต่อเมื่อได้ความว่าสินค้าได้สูญหายไปในระหว่างที่จำเลยที่ ๒ ทำการขนส่งเท่านั้น ซึ่งข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของคู่ความไม่มีพยานหลักฐานบ่งชี้ให้เชื่อว่าสินค้าของบริษัทลีกกี้เท็กซ์ (ไทย) จำกัด ที่เอาประกันภัยไว้กับโจทก์นั้นได้สูญหายไปในระหว่างที่จำเลยที่ ๒ ลากจูงตู้คอนเทนเนอร์จากโรงงานของบริษัทลักกี้เท็กซ์ (ไทย) จำกัด ที่จังหวัดสมุทรปราการมายังท่าเรือแห่งประเทศไทยจนกระทั่งส่งมอบตู้คอนเทนเนอร์นั้นให้แก่จำเลยที่ ๑ ดังนั้นจำเลยที่ ๒ ย่อมไม่ต้องรับผิดในความสูญหายของสินค้าตามที่โจทก์ฟ้อง เมื่อจำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิดจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ ๒ ก็ไม่ต้องรับผิดด้วย เกี่ยวกับค่าเสียหายที่จำเลยที่ ๑จะต้องรับผิดนั้น ได้ความว่า โจทก์ได้รับประกันภัยสินค้าที่สูญหายทั้งหมดไว้เป็นจำนวนเงิน ๕๓๙,๔๕๔เหรียญฮ่องกง โจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนคือ ราคาผ้าที่สูญหายเป็นเงิน ๕๓๙,๔๕๔ เหรียญฮ่องกงและค่าสำรวจความเสียหายอีกเป็นเงิน ๘๓๐ เหรียญฮ่องกง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๕๔๐,๒๘๔ เหรียญฮ่องกง ให้แก่บริษัทเท็กซ์ไทล์อัลไลแอนซ์ จำกัด ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว คงมีข้อโต้เถียงตามคำแก้ฎีกาของจำเลยว่า จำเลยจะต้องรับผิดในค่าสำรวจสินค้าหรือไม่ เห็นว่า ค่าสำรวจสินค้าดังกล่าวไม่ใช่ค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญารับขนของจำเลยที่ ๑ และข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้รับตราส่งเป็นผู้ว่าจ้างบริษัทผู้สำรวจทำการสำรวจเอง แม้สินค้าไม่สูญหาย ผู้รับตราส่งก็จะต้องจ่ายค่าจ้างส่วนนี้เองอยู่แล้ว โจทก์จึงเรียกร้องให้จำเลยที่ ๑ รับผิดในค่าสำรวจสินค้านี้ไม่ได้ จำเลยที่ ๑ คงต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่โจทก์เป็นเงิน ๕๓๙,๔๕๔ เหรียญฮ่องกง พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๒๔ ตามที่โจทก์ขอเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จเท่านั้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ชดใช้เงิน ๕๓๙,๔๕๔ เหรียญฮ่องกง โดยคิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ ณ กรุงเทพมหานคร ในวันมีคำพิพากษานี้ หากในวันนั้นไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ให้ถือเอาอัตราในวันสุดท้ายก่อนวันพิพากษา แต่ไม่เกินกว่า๒,๑๖๓,๒๑๐.๕๐ บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ ๑๘ กรกฎาคม๒๕๒๔ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share