แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในการประกอบกิจการของโจทก์ โจทก์ขายสินค้าให้แก่ลูกค้าขายปลีกโดยหักส่วนลดให้ทันทีและส่งมอบกรรมสิทธิ์ในสินค้าให้ลูกค้าไป ลูกค้าของโจทก์จะต้องชำระราคาตามเวลาที่โจทก์กำหนดมิใช่เมื่อขายสินค้าได้แล้ว ลักษณะการประกอบกิจการเช่นนี้จึงเป็นการซื้อขายตามธรรมดา ส่วนลดที่โจทก์ให้แก่ลูกค้าขายปลีกจึงเป็นเงินได้จากการประกอบธุรกิจตาม ป. รัษฎากร มาตรา 40 (8) มิใช่เงินได้ที่ได้รับจากการรับทำงานให้โจทก์ตามมาตรา 40 (2) โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50
โจทก์ขายสินค้าให้แก่ลูกค้าขายปลีกโดยหักส่วนลดในทันทีและออกใบกำกับภาษีโดยหักส่วนลดออกจากราคาสินค้าแสดงให้เห็นไว้ชัดแจ้งแล้ว ส่วนลดดังกล่าวจึงไม่ถือเป็นมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79 วรรคสาม (1) แห่ง ป. รัษฎากร โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มโดยหักส่วนลดออกจากราคาสินค้าถูกต้องแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ที่ 1002071/1/102094 ลงวันที่ 28 กันยายน 2543 หนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 73.1) เลขที่ 1002071/5/102405 ถึงเลขที่ 1002071/5/102440 ลงวันที่ 28 กันยายน 2543 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ ส.ภ. 1 (อธ. 3)/144/2544 ถึงเลขที่ ส.ภ. 1 (อธ. 3)/180/2544 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2544 งดหรือลดเงินเพิ่มและเบี้ยปรับให้โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามที่โจทก์ขอ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์ประกอบธุรกิจขายเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยมีลูกค้าแบ่งเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกเรียกว่าตัวแทนจำหน่ายสินค้าหรือผู้จำหน่ายอิสระหรือลูกค้าขายปลีก ลูกค้าประเภทนี้จะมี 2 ลักษณะคือ ลักษณะแรกจะต้องรักษายอดสั่งซื้อไม่น้อยกว่าเดือนละ 30,000 บาท ส่วนอีกลักษณะหนึ่งจะต้องรักษายอดสั่งซื้อไม่น้อยกว่าเดือนละ 50,000 บาท ลูกค้าของโจทก์ประเภทนี้โจทก์จะให้ส่วนลดในการจำหน่ายสินค้าในอัตราร้อยละ 40 และหากลูกค้าประเภทนี้มียอดขายถึงเกณฑ์ตามที่กำหนดก็จะได้ส่วนลดเพิ่มขึ้น ส่วนลูกค้าประเภทที่ 2 คือสมาชิกขาย ลูกค้าประเภทนี้จะต้องรักษายอดสั่งซื้อไม่ต่ำกว่าเดือนละ 6,000 บาท โจทก์จะขายสินค้าให้ลูกค้าประเภทนี้โดยให้ส่วนลดร้อยละ 20 และหากมีการจำหน่ายสินค้าถึงเกณฑ์ที่กำหนดก็จะได้ส่วนลดเพิ่มขึ้น ในการจ่ายส่วนลดข้างต้นให้แก่ลูกค้าทั้งสองประเภทโจทก์ไม่ได้หักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของลูกค้าที่ได้รับส่วนลดไว้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 แห่ง ป. รัษฎากร และในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์ โจทก์ได้หักส่วนลดดังกล่าวออกจากราคาที่กำหนดและนำมูลค่าสินค้าหลังจากหักส่วนลดมาเป็นฐานภาษีในการยื่นแบบ ภ.พ. 30 ในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในแต่ละเดือน โดยโจทก์ขายสินค้าให้แก่ลูกค้าขายปลีกโดยหักส่วนลดในทันที และส่งมอบกรรมสิทธิ์ในสินค้าให้ลูกค้าไป และลูกค้าของโจทก์จะต้องชำระราคาตามเวลาที่โจทก์กำหนดมิใช่เมื่อขายสินค้าได้แล้ว ลักษณะการประกอบกิจการเช่นนี้จึงเป็นการซื้อขายตามธรรมดา ส่วนลดที่โจทก์ให้แก่ลูกค้าขายปลีกหรือผู้จำหน่ายอิสระจึงเป็นเงินได้จากการประกอบธุรกิจตามมาตรา 40 (8) แห่ง ป. รัษฎากร มิใช่เป็นเงินได้ที่ได้รับจากการรับทำงานให้โจทก์ตามมาตรา 40 (2) แต่อย่างใด โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 แห่ง ป. รัษฎากร
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าส่วนลดดังกล่าวไม่ใช่ค่าจ้างหรือเงินได้จากการรับทำงานให้ตามมาตรา 40 (2) แห่ง ป. รัษฎากร แล้ว ดังนั้นจึงต้องถือว่าส่วนลดดังกล่าวเป็นส่วนลดตามปกติในทางการค้า ซึ่งตาม ป. รัษฎากร มาตรา 79 วรรคสาม (1) บัญญัติว่ามูลค่าของฐานภาษีไม่ให้รวมถึงส่วนลดหรือค่าลดหย่อนที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ลดให้ในขณะขายสินค้า และได้หักส่วนลดออกจากราคาสินค้า โดยได้แสดงให้เห็นไว้ชัดแจ้งว่าได้มีการหักส่วนลดไว้ในใบกำกับภาษีในแต่ละครั้งที่ออกแล้ว ซึ่งในกรณีของโจทก์ก็ออกใบกำกับภาษีโดยหักส่วนลดออกจากราคาสินค้า ดังนั้นส่วนลดดังกล่าวจึงไม่ถือว่าเป็นมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79 วรรคสาม (1) การที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มโดยหักส่วนลดออกจากราคาสินค้าจึงถูกต้องแล้ว
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาท แทนโจทก์.