คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5146/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.อ. มาตรา 84 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ…” นั่นคือ ให้ถือเสมือนว่าผู้ใช้เป็นตัวการ เป็นการร่วมกระทำความผิดด้วยกันตามมาตรา 83 ซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ…” แต่กรณีที่ผู้กระทำความผิดด้วยตนเองโดยไม่ร่วมกับผู้อื่นนั้น ไม่เรียกว่าตัวการ ดังนั้น หากร่วมกระทำความผิดกับผู้อื่น แต่ผู้ร่วมกระทำคนใดคนหนึ่งขาดคุณสมบัติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้นั้น อันเนื่องมาจากเป็นความผิดเฉพาะตัวผู้ที่มีคุณสมบัติเฉพาะตามที่กฎหมายบัญญัติเป็นองค์ประกอบของความผิดไว้ ดังเช่นมาตรา 162 (1) (2) ผู้นั้นก็เป็นตัวการไม่ได้ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสาร หรือกรอกข้อความลงในเอกสาร จำเลยที่ 1 จึงขาดคุณสมบัติเฉพาะตัวตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในฐานเป็นตัวการเพราะใช้จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดตามมาตรา 162 (1) (2) ได้ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ใช้ก็เป็นได้แต่ผู้สนับสนุนเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบเอ็ดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 86, 91, 157, 161, 162, 264, 265 พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 4, 8, 10, 11, 50 พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 มาตรา 37, 39, 42, 44
จำเลยทั้งสิบเอ็ดให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 5 และที่ 10 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 5 และที่ 10 เสียจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162 (ที่ถูก 162 (1) (2)) พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 50 (ที่ถูก มาตรา 50 วรรคหนึ่ง) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 จำเลยที่ 2 ที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162 (ที่ถูก 162 (1) (2)) พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 50 (ที่ถูก มาตรา 50 วรรคหนึ่ง) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 162 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 1 ปี รวม 166 กระทง ความผิดตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 50 จำคุกคนละ 6 เดือน รวม 166 กระทง เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกคนละ 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) ข้อหาอื่นให้ยก ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ที่ 6 ถึงที่ 9 และที่ 11
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162 (1) (2) ประกอบมาตรา 86 พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ให้ลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็น 152 กรรมความผิด โดยเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยที่ 1 จำคุกกระทงละ 8 เดือน จำเลยที่ 2 และที่ 3 จำคุกกระทงละ 1 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุดังฟ้อง จำเลยที่ 1 เป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองสิงห์บุรี ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่ควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารกิจการของเทศบาลเมืองสิงห์บุรีตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าพนักงาน ตำแหน่งผู้ช่วยนายทะเบียนท้องถิ่นสำนักงานเทศบาลเมืองสิงห์บุรี มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบและควบคุมการปฏิบัติงานการทะเบียนราษฎรในเขตเทศบาลเมืองสิงห์บุรี รับเรื่องการแจ้งย้ายที่อยู่ของราษฎร ตรวจสอบเอกสารในการแจ้งย้ายที่อยู่ของราษฎร และลงชื่อในฐานะนายทะเบียนผู้รับแจ้งย้ายออก ตามคำสั่งสำนักงานทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองสิงห์บุรีที่ 2/2536 และที่ 1/2539 เรื่อง แต่งตั้งผู้ช่วยนายทะเบียนท้องถิ่น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ โจทก์มีราษฎรที่มีชื่อถูกแจ้งย้ายที่อยู่ออกจากทะเบียนบ้านเทศบาลเมืองสิงห์บุรีไปเข้าอยู่ในทะเบียนบ้านเทศบาลเมืองชุมพร เป็นพยานเบิกความในทำนองเดียวกันว่า ไม่ได้แจ้งย้ายที่อยู่ออกจากทะเบียนบ้านเทศบาลเมืองสิงห์บุรีด้วยตนเอง และไม่ได้มอบหมายให้บุคคลอื่นไปดำเนินการแจ้งย้ายที่อยู่แทน อีกทั้งไม่ได้ลงลายมือชื่อในใบแจ้งการย้ายที่อยู่ หรือ ทร.6 ชั้นสอบสวนได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนและให้ตัวอย่างลายมือชื่อเพื่อนำไปตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบกับลายมือชื่อในใบแจ้งการย้ายที่อยู่ ตามสำเนาทะเบียนบ้าน บันทึกคำให้การของพยาน ใบแจ้งการย้ายที่อยู่ และตัวอย่างลายมือชื่อ เห็นว่า พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 หมวด 4 การย้ายที่อยู่ บัญญัติหลักเกณฑ์การย้ายที่อยู่ไว้ว่า กรณีการแจ้งย้ายออก เมื่อผู้อยู่ในบ้านย้ายที่อยู่จากบ้าน ให้เจ้าบ้านแจ้งการย้ายออกต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ผู้อยู่ในบ้านย้ายออก ส่วนกรณีแจ้งย้ายเข้านั้น เมื่อมีผู้ย้ายที่อยู่เข้าอยู่ในบ้าน ให้เจ้าบ้านแจ้งการย้ายเข้าต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ย้ายเข้าอยู่ในบ้าน นอกจากนี้ผู้ย้ายที่อยู่จะเป็นผู้แจ้งการย้ายออกและย้ายเข้าด้วยตนเองต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่ไปอยู่ใหม่ภายในสิบห้าวันนับแต่วันย้ายออกก็ได้ โดยให้นำสำเนาทะเบียนบ้านพร้อมด้วยคำยินยอมเป็นหนังสือของเจ้าบ้านที่เข้าไปอยู่ใหม่แสดงต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 หมวด 4 การย้ายที่อยู่ ประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์แล้ว มีหลักเกณฑ์ในการย้ายที่อยู่ ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งย้ายออกหรือย้ายเข้า ดังนี้ เจ้าบ้านหรือผู้ได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้านหรือผู้ย้ายที่อยู่ต้องมาแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งและยื่นหลักฐานด้วยตนเอง เช่น บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่ได้รับมอบหมายกรณีเจ้าบ้านมอบหมายให้บุคคลอื่นมาดำเนินการแทน หนังสือมอบหมายของเจ้าบ้าน บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ย้ายที่อยู่ หนังสือยินยอมของเจ้าบ้าน และสำเนาทะเบียนบ้าน ด้วยหลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้ ผู้ที่ไม่ใช่เจ้าบ้านหรือไม่ได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้านหรือไม่ใช่ผู้ย้ายที่อยู่ จึงไม่มีสิทธิดำเนินการแจ้งย้ายออกหรือย้ายเข้าต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งได้ และนายทะเบียนผู้รับแจ้งก็ไม่มีอำนาจดำเนินการรับแจ้งการย้ายที่อยู่จากผู้ที่ไม่ใช่เจ้าบ้านหรือไม่ได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้านหรือไม่ใช่ผู้ย้ายที่อยู่เช่นกัน หากมีการดำเนินการผิดไปจากหลักเกณฑ์ดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยมิชอบตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 หมวด 4 การย้ายที่อยู่ พยานโจทก์ดังกล่าวข้างต้นเบิกความสอดคล้องต้องกันไม่มีพิรุธแต่อย่างใด ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าพยานโจทก์ปากพนักงานสอบสวนบังคับ ขู่เข็ญ หรือหลอกลวงจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพื่อให้ให้การตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา และปรากฏข้อเท็จจริงว่าก่อนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะลงลายมือชื่อในบันทึกคำให้การดังกล่าว จำเลยที่ 2 และ ที่ 3 ได้อ่านข้อความในบันทึกด้วยตนเองแล้ว หากข้อเท็จจริงที่พนักงานสอบสวนบันทึกไว้ไม่ตรงกับคำให้การของตน จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีสิทธิโดยชอบที่จะโต้แย้งคัดค้านในขณะนั้นได้ทันที แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 หาได้กระทำเช่นนั้นไม่ การที่จำเลยที่ 2 และ ที่ 3 เพิ่งจะโต้แย้งคัดค้านในชั้นพิจารณาว่าคำให้การในชั้นสอบสวนของตนไม่เป็นความจริง จึงเป็นพิรุธ คดีฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงไปตามความเป็นจริงที่ตนประสบพบเห็นเหตุการณ์มาด้วยตนเอง โดยไม่ได้ถูกคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือจูงใจเพื่อให้ให้ถ้อยคำแต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การต่อพนักงานสอบสวนโดยรับรองยืนยันข้อเท็จจริงตามบันทึกนั้น แม้คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นพยานบอกเล่า แต่ก็รับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ หาใช่ต้องห้ามมิให้รับฟังเสียเลย ส่วนคำให้การของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่พาดพิงถึงจำเลยที่ 1 อันมีลักษณะเป็นการซัดทอดระหว่างผู้กระทำความผิดนั้น เมื่อคดีฟังได้ว่าไม่มีเหตุจูงใจในการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การเช่นนั้นเพื่อให้ตนพ้นจากการกระทำความผิดหรือได้รับประโยชน์แต่อย่างใด ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1 วรรคหนึ่ง หาได้บัญญัติห้ามมิให้รับฟังพยานซัดทอดเลยเสียทีเดียวไม่ หากแต่ศาลพึงต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานดังกล่าวโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดีหรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุน ทั้งมีเหตุผลอยู่ในตัวว่าหากจำเลยที่ 1 ไม่มาหาจำเลยที่ 2 แล้วมอบรายชื่อราษฎรแก่จำเลยที่ 2 ให้ดำเนินการแจ้งย้ายที่อยู่จากเทศบาลเมืองสิงห์บุรีไปอยู่เทศบาลเมืองชุมพร เพื่อช่วยเหลือในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองชุมพรแล้ว ก็ไม่น่าจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ข้อเท็จจริงเช่นนั้นต่อพนักงานสอบสวน แสดงให้เห็นได้ว่าคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในส่วนที่พาดพิงถึงจำเลยที่ 1 เป็นความจริง เมื่อนำคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหามาวินิจฉัยประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์แล้ว พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงประกอบด้วยเหตุผลรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 1 นำรายชื่อราษฎรมามอบให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการแจ้งย้ายที่อยู่จากเทศบาลเมืองสิงห์บุรีไปอยู่เทศบาลเมืองชุมพร โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองชุมพร ที่จะมีการเลือกตั้งประมาณเดือนตุลาคม 2539 โดยผู้ขอย้ายไม่ได้แจ้งย้ายที่อยู่ด้วยตนเอง ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดำเนินการแจ้งย้ายที่อยู่โดยปฏิบัติผิดหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 หมวด 4 การย้ายที่อยู่ พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้
ส่วนปัญหาว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดำเนินการแจ้งย้ายที่อยู่กรณีดังกล่าวรวมทั้งหมดกี่รายนั้น พันตำรวจโทชูเกียรติเบิกความว่า พยานสอบสวนราษฎรที่ถูกแจ้งย้ายที่อยู่ประมาณ 200 ราย ให้การยืนยันว่าไม่ได้ไปแจ้งย้ายด้วยตนเอง ไม่ได้ลงลายมือชื่อในใบแจ้งการย้ายที่อยู่ หรือ ทร.6 และได้ให้ตัวอย่างลายมือชื่อไว้เพื่อส่งไปตรวจพิสูจน์ที่กองพิสูจน์หลักฐาน เห็นว่า คดีฟังเป็นยุติว่ามีการแจ้งย้ายที่อยู่โดยผู้มีชื่อย้ายไม่ได้ดำเนินการแจ้งย้ายด้วยตนเอง หรือไม่ได้มอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินการแทน และไม่ได้ลงลายมือชื่อในใบแจ้งการย้ายที่อยู่รวม 163 ราย แม้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้เป็นคนกรอกข้อความลงในใบแจ้งการย้ายที่อยู่เท็จ แต่โจทก์มีนางอัญชลีและนางสมพิศ เบิกความในทำนองเดียวกันว่า ช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงมิถุนายน 2539 จำเลยที่ 2 และที่ 3 มอบเอกสารของผู้แจ้งย้ายที่อยู่มาให้พยานทั้งสองกรอกข้อความขอย้ายชื่อออกจากทะเบียนบ้านไปจังหวัดชุมพรเป็นจำนวนมาก แต่ผู้ขอย้ายที่อยู่ไม่ได้ลงลายมือชื่อในใบแจ้งการย้ายที่อยู่ต่อหน้าพยานทั้งสอง ซึ่งพยานโจทก์ทั้งสองปากนี้เคยให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีแจ้งย้ายที่อยู่เพื่อหวังผลการเลือกตั้ง ตามคำสั่งจังหวัดสิงห์บุรีที่ 1034/2539 และให้การต่อพนักงานสอบสวนในชั้นสอบสวน โดยมีข้อเท็จจริงสอดคล้องกับคำเบิกความดังกล่าวข้างต้น จึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ใช้นางอัญชลีและนางสมพิศกรอกข้อความลงในเอกสารดังกล่าวเท็จ โดยผู้ย้ายที่อยู่ไม่ได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้แจ้งย้ายออกต่อหน้านางอัญชลีและนางสมพิศ แม้การกระทำดังกล่าวยังไม่เกิดความเสียหาย เนื่องจากพนักงานของเทศบาลเมืองชุมพรตรวจสอบพบเสียก่อนว่ามีการย้ายที่อยู่ราษฎรจากเทศบาลเมืองสิงห์บุรีมาอยู่เทศบาลเมืองชุมพรจำนวนมากในช่วงระยะเวลาก่อนมีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองชุมพร ส่อพิรุธว่าจะเป็นการช่วยเหลือในการเลือกตั้งดังกล่าวจึงดำเนินการย้ายกลับเทศบาลเมืองสิงห์บุรี เมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 นำรายชื่อราษฎรมามอบให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการแจ้งย้ายที่อยู่จากเทศบาลเมืองสิงห์บุรีไปอยู่เทศบาลเมืองชุมพร โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองชุมพร ที่จะมีการเลือกตั้งประมาณเดือนตุลาคม 2539 โดยผู้ขอย้ายไม่ได้มาแจ้งย้ายที่อยู่ด้วยตนเอง ซึ่งจำเลยที่ 3 ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวเช่นกัน เป็นการกระทำโดยเอาผู้อื่นเป็นเครื่องมือในการทำความผิด จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 162 (1) (2) และพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง แต่จำเลยที่ 3 ดำเนินการแจ้งย้ายที่อยู่โดยปฏิบัติผิดหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 หมวด 4 การย้ายที่อยู่ เพียง 6 ราย โดยจำเลยที่ 3 ให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีแจ้งย้ายที่อยู่เพื่อหวังผลการเลือกตั้ง ตามคำสั่งจังหวัดสิงห์บุรีที่ 1034/2539 ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้บอกจำเลยที่ 3 โดยตรงให้ช่วยดำเนินการ
แจ้งย้ายที่อยู่กรณีดังกล่าว แต่จำเลยที่ 3 เห็นว่าจำเลยที่ 2 มีงานจะต้องดำเนินการเรื่องดังกล่าวจำนวนมาก จึงเข้าไปช่วยจำเลยที่ 2 ดำเนินการเพียงบางรายเท่านั้น ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 3 ก็ให้การยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว อีกทั้งตามทางนำสืบของโจทก์ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ดำเนินการแจ้งย้ายที่อยู่เช่นว่านั้นเพียง 6 ราย ข้อเท็จจริงเพียงแค่นี้จะฟังว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 โดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลที่อาจเกิดขึ้นร่วมกันหาได้ไม่ เนื่องจากเป็นการตัดสินใจของจำเลยที่ 3 ที่จะกระทำความผิดโดยลำพังแยกต่างหากจากจำเลยที่ 2 ไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นตัวการกระทำความผิดร่วมกัน 163 กระทง จำเลยที่ 2 คงมีความผิดรวม 157 กระทง จำเลยที่ 3 มีความผิดเพียง 6 กระทง ส่วนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาขอให้รอการลงโทษให้นั้น เมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 รับคำสั่งมาจากจำเลยที่ 1 โดยตรงให้ดำเนินการแจ้งย้ายที่อยู่ราษฎรจากเทศบาลเมืองสิงห์บุรีไปอยู่เทศบาลเมืองชุมพรเพื่อช่วยเหลือในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองชุมพร โดยจำเลยที่ 2 ดำเนินการแจ้งย้ายรวม 157 ราย ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ช่วยส่งเสริมให้การเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นซึ่งเป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตยของประเทศเป็นไปโดยไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม อันเป็นการบ่อนทำลายการปกครองในระบอบประชาธิปไตย พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 จึงเป็นเรื่องที่ร้ายแรง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น ส่วนจำเลยที่ 3 นั้น ไม่ได้รับคำสั่งมาจากจำเลยที่ 1 โดยตรง แต่ต้องการช่วยแบ่งเบาภาระการงานของจำเลยที่ 2 และกระทำความผิดเพียง 6 กระทงเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 3 เพื่อให้โอกาสกลับตัวประพฤติตนเป็นพลเมืองดีต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 3 นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังขึ้นบางส่วน แต่เพื่อให้จำเลยที่ 3 หลาบจำให้ลงโทษปรับด้วย
ส่วนกรณีปัญหาว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิด หรือจำเลยที่ 1 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 หรือไม่นั้น คดีฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่ 1 มาหาจำเลยที่ 2 แล้วมอบรายชื่อราษฎรแก่จำเลยที่ 2 ให้ดำเนินการแจ้งย้ายที่อยู่จากเทศบาลเมืองสิงห์บุรีไปอยู่เทศบาลเมืองชุมพร เพื่อช่วยเหลือในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองชุมพร ที่จะมีการเลือกตั้งประมาณเดือนตุลาคม 2539 โดยผู้ขอย้ายไม่ได้มาแจ้งย้ายที่อยู่ด้วยตนเอง ต่อมาจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดำเนินการให้ตามที่จำเลยที่ 1 ต้องการ รวม 163 ราย ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ…” นั่นคือ ให้ถือเสมือนว่าผู้ใช้เป็นตัวการ เป็นการร่วมกระทำความผิดด้วยกันตามมาตรา 83 ซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ…” แต่กรณีที่ผู้กระทำความผิดด้วยตนเองโดยไม่ร่วมกับผู้อื่นนั้น ไม่เรียกว่าตัวการ ดังนั้น หากร่วมกระทำความผิดกับผู้อื่น แต่ผู้ที่ร่วมกระทำคนใดคนหนึ่งขาดคุณสมบัติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้นั้น อันเนื่องมาจากเป็นความผิดเฉพาะตัวผู้ที่มีคุณสมบัติเฉพาะตามที่กฎหมายบัญญัติเป็นองค์ประกอบความผิดไว้ ดังเช่นมาตรา 162 (1) (2) ผู้นั้นก็เป็นตัวการไม่ได้ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสาร หรือกรอกข้อความลงในเอกสาร จำเลยที่ 1 จึงขาดคุณสมบัติเฉพาะตัวตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เช่นนี้ ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในฐานเป็นตัวการเพราะใช้จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดตามมาตรา 162 (1) (2) ได้ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ใช้ก็เป็นได้แต่ผู้สนับสนุนเท่านั้น พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงประกอบด้วยเหตุผลฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานผู้สนับสนุนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162 (1) (2) ประกอบมาตรา 86 พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง รวม 163 กระทง พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 8 เดือน รวม 163 กระทง จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 1 ปี รวม 157 กระทง เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 20 ปี ให้จำคุกจำเลยที่ 3 กระทงละ 1 ปี และปรับกระทงละ 10,000 บาท รวม 6 กระทง เป็นจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 6 ปี และปรับ 60,000 บาท โทษจำคุกของจำเลยที่ 3 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share