คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5144/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 323 บัญญัติว่า บรรดาเงินต่าง ๆที่ค้างจ่ายอยู่ในศาลหรือที่เจ้าพนักงานบังคับคดี ถ้าผู้มีสิทธิมิได้เรียกเอาภายในห้าปี ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งนำมาใช้ในคดีอาญาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ดังนั้น เมื่อจำเลยได้นำเงิน20,885 บาท ที่ยักยอกไปมาวางต่อศาลชั้นต้นเพื่อชำระหนี้แก่ผู้เสียหายเมื่อวันที่ 6มิถุนายน 2539 ผู้เสียหายต้องมารับไปภายในห้าปีนับแต่วันที่จำเลยนำเงินมาวาง มิใช่นับจากวันที่ผู้เสียหายทราบถึงการวางเงิน การที่ผู้เสียหายมาขอรับเงินเมื่อวันที่ 21มิถุนายน 2545 ซึ่งเกิน 5 ปี เงินดังกล่าวจึงตกเป็นของแผ่นดิน

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352, 353 และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 20,885 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยได้นำเงินจำนวน 20,885 บาท ที่ยักยอกไปมาวางต่อศาลชั้นต้นเพื่อชำระหนี้แก่ผู้เสียหายในวันที่ 6 มิถุนายน 2539

ต่อมาวันที่ 21 มิถุนายน 2545 ห้างหุ้นส่วนจำกัดวิโรจน์บริการลพบุรีโดยนางลัดดา เพ็งสุข ผู้เสียหายขอรับเงินจำนวนดังกล่าวจากศาลชั้นต้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้เสียหายขอคืนเงินที่จำเลยยักยอกไปจำนวน 20,885 บาทถือเป็นเงินค้างจ่ายอยู่ในศาลเกินกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด จึงไม่มีสิทธิขอรับเงินจำนวนเงินดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 323 (ที่ถูกประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15) ให้ยกคำร้อง

ผู้เสียหายอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

ผู้เสียหายฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 323 บัญญัติว่า บรรดาเงินต่าง ๆ ที่ค้างจ่ายอยู่ในศาลหรือที่เจ้าพนักงานบังคับคดี ถ้าผู้มีสิทธิมิได้เรียกเอาภายในห้าปี ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งนำมาใช้ในคดีนี้ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ดังนั้น เมื่อจำเลยได้นำเงิน 20,885บาท ที่ยักยอกไปมาวางต่อศาลชั้นต้นเพื่อชำระหนี้แก่ผู้เสียหายเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2539ผู้เสียหายต้องมารับไปภายในห้าปีนับแต่วันที่จำเลยนำเงินมาวาง มิใช่นับจากวันที่ผู้เสียหายทราบถึงการวางเงิน การที่ผู้เสียหายมาขอรับเงินดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน2545 ซึ่งเกิน 5 ปี เงินดังกล่าวจึงตกเป็นของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 323 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ข้างต้นที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของผู้เสียหายศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้เสียหายฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share