แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ขณะที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องขอถอนทนายความนั้นศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์และส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์แล้ว คดีจึงอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ผู้มีอำนาจสั่งคำร้องคือศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งคำร้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่งตั้งทนายความให้ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนตน เป็นการแต่งตั้งตัวแทน ตาม ป.พ.พ.ลักษณะ 15 ว่าด้วยตัวแทนมาตรา 797 และย่อมมีสิทธิขอถอนทนายความซึ่งเป็นตัวแทนเมื่อใดก็ได้ตามป.พ.พ. มาตรา 827 วรรคหนึ่ง หากทนายความเสียหายอย่างไรชอบที่จะว่ากล่าวเอาแก่คู่ความที่ตั้งตนเป็นทนายตาม ป.พ.พ. มาตรา 827 วรรคสอง
ขณะที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอถอนทนายความเป็นเวลาที่จำเลยที่ 1 ถูกนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางถอนชื่อออกจากทะเบียน อันถือได้ว่าบริษัทได้เลิกแล้ว แต่ ป.พ.พ. มาตรา 1249 ก็บัญญัติว่าให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี จำเลยที่ 2 และที่ 6 เป็นกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ย่อมเข้าเป็นผู้ชำระบัญชี และมีอำนาจอยู่เช่นเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1251, 1252 กับมีอำนาจตาม ป.พ.พ. มาตรา1259 ตราบใดที่ยังไม่มีการตั้งผู้ชำระบัญชีจำเลยที่ 1 ขึ้นมาใหม่ จำเลยที่ 2 และที่ 6 ในฐานะผู้ชำระบัญชีย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องขอถอนทนายความแทนจำเลยที่ 1 ได้