คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1422/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสามกำหนดวิธีการที่ผู้อุทธรณ์ในคดีที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จะขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีใน ศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ โดยให้ผู้อุทธรณ์ ต้องยื่นคำร้องถึงผู้พิพากษานั้น พร้อมฟ้องอุทธรณ์เพื่อให้ศาล ส่งคำร้องพร้อมสำนวนความไปให้ผู้พิพากษาดังกล่าวพิจารณาต่อไปจำเลยเพียงแต่ยื่นอุทธรณ์ โดยหาได้ยื่นคำร้องถึงผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นเพื่อให้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์หรือไม่ ทั้งผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น สั่งในอุทธรณ์ของจำเลยเพียงว่า “รับเป็นอุทธรณ์ของจำเลย สำเนาให้โจทก์” หาได้มีข้อความใดแสดงว่าได้รับรองว่าอุทธรณ์ ข้อเท็จจริงของจำเลยมีเหตุอันควรอุทธรณ์ไม่ กรณีถือไม่ได้ว่า ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นได้รับรองอุทธรณ์ของ จำเลยว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่งศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ขับไล่จำเลยพร้อมบริวารกับให้รื้อถอนสิ่งปรักหักพัง พร้อมทั้งเคลื่อนย้ายเศษวัสดุสิ่งก่อสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์และที่ชายตลิ่งหน้าที่ดินของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์และหยุดการกระทำอันเป็นการขัดขวางทำให้โจทก์ขาดความสะดวกในการไปมาและใช้ที่ดินลงสู่แม่น้ำนครชัยศรี กับให้ชำระค่าเสียหาย พร้อมดอกเบี้ยและค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนบ้านดังกล่าวออกไปตามฟ้อง
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากบ้านของจำเลยไม่ได้ปลูกรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์จำเลยยึดถือและครอบครองพื้นที่ชายตลิ่งริมน้ำนครชัยศรีปลูกบ้านพักอาศัย และบ้านของจำเลยปลูกมาหลายสิบปีแล้วมิได้กีดขวางหน้าที่ดินของโจทก์ โจทก์และบุคคลอื่นขึ้นลงสู่แม่น้ำนครชัยศรีได้ตามปกติขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลย ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและให้จำเลยชำระค่าเสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาเป็นประการแรกว่าแม้คดีนี้ประเด็นข้อแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ข้อที่สามว่าโจทก์เสียหายเป็นพิเศษหรือไม่ ข้อที่สี่ว่าจำเลยเช่าที่ดินของโจทก์หรือไม่ ข้อที่ห้าว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ และข้อที่หกว่าโจทก์เสียหายหรือไม่ เพียงใด จะเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ปรากฏว่านายศักดิ์สิทธิ์ จิระพรวัชรานนท์ ผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาคดีนี้ในศาลชั้นต้นเป็นผู้มีคำสั่งเกี่ยวกับอุทธรณ์ของจำเลยตามคำสั่งลงวันที่ 20 มิถุนายน 2540 ว่า “รับเป็นอุทธรณ์ของจำเลย สำเนาให้โจทก์” คำสั่งดังกล่าวถือได้ว่านายศักดิ์สิทธิ์ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนี้ในศาลชั้นต้นได้รับรองว่าอุทธรณ์ของจำเลยมีเหตุอันสมควรอุทธรณ์ได้นั้นเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเว้นแต่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้น ได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้” และในวรรคสอง บัญญัติว่า”บทบัญญัติในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัวและคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เว้นแต่ในคดีฟ้องขับไล่บุคคลใดออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละสี่พันบาท” และในวรรคสามบัญญัติว่า “การขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ ให้ผู้ยื่นอุทธรณ์ยื่นคำร้องถึงผู้พิพากษานั้น พร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นเมื่อศาลได้รับคำร้องเช่นว่านั้น ให้ศาลส่งคำร้องพร้อมด้วยสำนวนความไปยังผู้พิพากษาดังกล่าวเพื่อพิจารณารับรอง” จะเห็นได้ว่าบทบัญญัติของมาตราดังกล่าวได้กำหนดวิธีการที่ผู้อุทธรณ์ในคดีที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง จะขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้โดยให้ผู้อุทธรณ์ต้องยื่นคำร้องถึงผู้พิพากษานั้นพร้อมฟ้องอุทธรณ์ เพื่อให้ศาลส่งคำร้องพร้อมสำนวนความไปให้ผู้พิพากษาดังกล่าวพิจารณาต่อไป แต่คดีนี้จำเลยเพียงแต่ยื่นอุทธรณ์ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2540 เพียงประการเดียว จำเลยหาได้ยื่นคำร้องถึงผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นเพื่อให้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ไม่ ทั้งผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นก็สั่งในอุทธรณ์ของจำเลยเพียงว่า”รับเป็นอุทธรณ์ของจำเลย สำเนาให้โจทก์” หามีข้อความใดแสดงว่าได้รับรองว่าอุทธรณ์ข้อเท็จจริงของจำเลยดังกล่าวมีเหตุอันควรอุทธรณ์ไม่ เช่นนี้ กรณีถือไม่ได้ว่าผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนี้ในศาลชั้นต้นได้รับรองว่าอุทธรณ์ของจำเลยข้อดังกล่าว มีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง แล้วที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าคดีนี้เป็นคดีฟ้องขับไล่ในขณะยื่นคำฟ้องมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละสี่พันบาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสอง การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ทั้งห้าข้อดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยให้นั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share