คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 514/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยเป็นผู้ครอบครองดูแลสายไฟฟ้าใต้ดิน และอุปกรณ์ไฟฟ้าบริเวณทางเท้า ตรงทางเท้าที่เกิดเหตุมีรอยแตกแยกชำรุดและเมื่อขุดลงไปปรากฏว่าสายไฟฟ้าที่เกิดเหตุฝังลึกเพียง20 เซนติเมตร ซึ่งตามปกติจะฝังลึกจากพื้นดินประมาณ 60 เซนติเมตรและมีรอยชำรุดโดยไม่มีฉนวนหุ้มเมื่อขุดและยกสายไฟฟ้าขึ้นสายไฟฟ้าใต้ดินได้หลุดออกจากกันหากสายไฟฟ้าไม่ชำรุดถึงแม้น้ำจะท่วมสูงขนาดไหนไฟฟ้าก็จะไม่ลัดวงจร ทั้งจำเลยมีเครื่องเมกเกอร์สำหรับตรวจสอบกระแสไฟฟ้ารั่วหลังเกิดเหตุแล้วได้ใช้เครื่องดังกล่าวเพียงครั้งเดียว ก่อนหน้านั้นไม่เคยใช้ตรวจเลย หากจำเลยใช้เครื่องดังกล่าวตรวจสอบกระแสไฟฟ้ารั่วที่สายเคเบิ้ลใต้ดินบ่อย ๆ จำเลยอาจป้องกันแก้ไขกระแสไฟฟ้ารั่วได้ และหลังเกิดเหตุแล้วการไฟฟ้านครหลวงได้มีหนังสือถึงจำเลยแนะนำให้เดินสายไฟฟ้าในบริเวณที่เกิดเหตุใหม่ โดยให้เดินในท่อเหล็กขนาดหนา ดังนี้การที่บุตรโจทก์เดินไปบริเวณทางเท้าที่มีน้ำท่วมขังและถูกกระแสไฟฟ้าดูดจนถึงแก่ความตายจึงเป็นเหตุที่อาจป้องกันได้ หากจำเลยจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควร อันพึงคาดหมายได้ในฐานะที่จำเลยเป็นผู้ครอบครองดูแลสายไฟฟ้าที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นทรัพย์ที่เกิดอันตรายได้โดยสภาพแต่จำเลยก็หาได้กระทำไม่ ทั้งที่มีเครื่องมือสามารถตรวจสอบได้เหตุที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัยที่จำเลยจะอ้างเพื่อบอกปัดความรับผิดได้ จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภรรยากัน และเป็นบิดามารดาผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กชายอิทธิชัย ปาลเดชพงศ์ และเด็กชายมัยสิทธิ์ ปาลเดชพงศ์ จำเลยเป็นกรมในรัฐบาลเป็นเจ้าของผู้ครอบครองดูแลเสาไฟฟ้า สายไฟฟ้าใต้ดิน กระแสไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าบริเวณทางเท้าถนนวิภาวดีรังสิตหน้าเขตไฟฟ้าย่อยหมอชิตแขวงดินแดง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร บุตรชายของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวได้เดินไปตามทางเท้าถนนวิภาวดีรังสิตถึงบริเวณหน้าเขตไฟฟ้าย่อยหมอชิตระหว่างเสาไฟฟ้าแสงจันทร์ต้นที่ 87ถึง 88 ซึ่งมีน้ำท่วมขังได้ถูกกระแสไฟฟ้าดูดจนถึงแก่ความตายเนื่องจากสายไฟฟ้าใต้ดินชำรุด กระแสไฟฟ้ารั่วด้วยความประมาทของจำเลยที่ไม่ได้ตรวจตราควบคุมดูแลสายไฟฟ้าใต้ดินในบริเวณดังกล่าวให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยและปลอดภัยต่อสาธารณชน โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทำศพบุตรชายเป็นเงิน 100,000 บาท และต้องขาดไร้อุปการะคิดเป็นค่าเสียหาย 1,500,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินรวม 1,600,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ไม่ใช่บิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายทั้งสอง การตายของเด็กทั้งสองเพราะถูกกระแสไฟฟ้าดูด ไม่ได้เกิดจากความประมาทของจำเลย แต่เกิดขึ้นเพราะในระหว่างนั้นฝนตกหนักผิดปกติทำให้น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน เป็นเหตุให้สายไฟที่เชื่อมระหว่างเสาไฟแสงจันทร์ต้นที่87 ถึง 88 ชำรุดกระแสไฟฟ้ารั่วดูดเด็กทั้งสองตายซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัย การติดตั้งโคมไฟฟ้าแสงจันทร์และเดินสายไฟบนถนนวิภาวดีรังสิตได้ดำเนินการแบบแปลนตามแบบมาตรฐานและใช้สายไฟฟ้าที่ใช้เดินใต้ดินตามมาตรฐาน และจำเลยได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ให้ดูแลตรวจตราดวงไฟและสายไฟฟ้าที่ติดตั้งบนถนนวิภาวดีรังสิตเป็นประจำทุกวัน เหตุที่เกิดขึ้นเนื่องจากน้ำท่วมมีระดับสูงมากและท่วมนานติดต่อกันหลายวัน ไม่อาจคาดหมายได้ว่าจะเกิดชำรุดบกพร่อง ณ จุดใดอันเป็นเหตุสุดวิสัย การทำศพเด็กทั้งสองใช้เงินไม่เกิน 10,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะที่ขอมาสูงเกินความเป็นจริงอย่างมากควรเป็นคนละ 100,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,542,800บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาข้อแรกว่า จำเลยได้ใช้ความระมัดระวังตรวจตราวัสดุอุปกรณ์ไฟฟ้าตามสมควรแล้ว และเหตุตายเกิดจากน้ำท่วมบริเวณที่เกิดเหตุอันเป็นเหตุสุดวิสัย พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้จากคำเบิกความ นายประสงค์ ตันมณีวัฒนาผู้ช่วยแขวงการทาง กรุงเทพมหานคร พยานจำเลยซึ่งเบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่าตามปกติสายไฟฟ้าใต้ดินจะฝังลึกจากพื้นดินประมาณ 60 เซนติเมตร แต่สายไฟฟ้าที่เกิดเหตุฝังลึกเพียง 20เซนติเมตร พยานได้เบิกความประกอบภาพถ่ายต่อไปว่าก่อนขุดฟุตบาธตรวจสอบ ฟุตบาธ มีรอยแตกชำรุดอยู่ก่อนแล้ว เมื่อขุดลงไปปรากฏว่าสายไฟฟ้าใต้ดินมีรอยชำรุดโดยไม่มีฉนวนหุ้มตามภาพถ่าย จ.1 ถึงจ.13 เมื่อขุดและยกสายไฟฟ้าขึ้นสายไฟฟ้าได้หลุดออกจากกัน หากสายไฟฟ้าใต้ดินไม่ชำรุดถึงแม้น้ำจะท่วมสูงขนาดไหนไฟฟ้าก็จะไม่ลัดวงจร หลังเกิดเหตุแล้วการไฟฟ้านครหลวงได้มีหนังสือถึงจำเลยแนะนำให้เดินสายไฟฟ้าในบริเวณที่เกิดเหตุใหม่ โดยเสนอให้เดินในท่อเหล็กขนาดหนา ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.14 นอกจากนี้ยังได้ความจากคำของนายวิรัช เย็นทรวง หัวหน้าหน่วยการไฟฟ้า แขวงการทางกรุงเทพมหานคร พยานจำเลยซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบไฟฟ้าและแสงสว่างบนถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งเบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า จำเลยมีเครื่องเมกเกอร์ สำหรับตรวจสอบกระแสไฟฟ้ารั่ว หลังเกิดเหตุคดีนี้แล้วได้ใช้เครื่องดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก่อนหน้านั้นไม่เคยใช้ตรวจเลย หากจำเลยใช้เครื่องดังกล่าวตรวจสอบกระแสไฟฟ้ารั่วที่สายเคเบิ้ลใต้ดินบ่อย ๆ จำเลยอาจป้องกันแก้ไขกระแสไฟฟ้ารั่วได้จากพยานจำเลยดังกล่าวเห็นได้ว่าการเกิดเหตุคดีนี้อาจป้องกันได้ หากจำเลยจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้ในฐานะที่จำเลยเป็นผู้ครอบครองดูแลสายไฟฟ้าที่เกิดเหตุซึ่งเป็นทรัพย์ที่เกิดอันตรายได้โดยสภาพ แต่จำเลยก็หาได้กระทำไม่ ทั้งที่มีเครื่องมือสามารถตรวจสอบได้ เหตุที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัยที่จำเลยจะอ้างเพื่อบอกปัดความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 ได้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ฎีกาข้อต่อไปของจำเลยในเรื่องค่าสินไหมทดแทนสรุปว่า ค่าใช้สถานที่วัด 20,000 บาท สูงเกินไป ควรเป็นเงินเพียง 2,000 บาทค่าเหมารถตู้เป็นค่าใช้จ่ายเกินความจำเป็น และค่าขาดไร้อุปการะที่เกินกำหนดเดือนละ 3,000 บาทเป็นเวลา 20 ปีมากเกินไป ควรคำนวณให้เพียง 10 ปี ตามที่ศาลฎีกาเคยวางเป็นแนวไว้ พิเคราะห์แล้วฎีกาของจำเลยดังกล่าวล้วนเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายืน

Share