คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 34/2491

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกระทำของจำเลยมีเจตนาทุจจริตหรือไม่ เป็นปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาต้องกับศาลชั้นต้น แต่แก้กำหนดโทษจาก 2 ปี เหลือ 1 ปี ฎีกาในข้อเท็จจริงไม่ได้
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาต้องกันว่าจำเลยไม่มีความผิดโจทก์จะฎีกาในข้อนี้ไม่ได้
คนขายสุราของบริษัทเอาน้ำสุราไปขายที่อื่นแล้วทำบิลว่านำสุราส่งไปขายให้แก่ร้านค้าปลีกของบริษัท ถือว่าเป็นการทำหนังสือเท็จ ไม่เป็นความผิดฐานปลอมหนังสือ

ย่อยาว

คดีได้ความว่าจำเลยที่ ๑ เป็นหัวหน้าแผนกค้าสุราของบริษัทนนทบุรีจังหวัดพาณิชย์จำกัด มีหน้าที่ควบคุมดูแลและรับผิดชอบตรวจบัญชีน้ำสุราและการเงิน จำเลยที่ ๒ เป็นผู้จัดการค้าสุราของบริษัท มีหน้าที่ไปรับสุราออกจากโรงงานต้มกลั่นสุราบางยี่ขันตามใบสั่งของผู้จัดการบริษัท ฯลฯ จำเลยที่ ๒ ได้รับน้ำสุราจากโรงงานบางยี่ขันตามจำนวนที่โจทก์ฟ้อง แล้วขายน้ำสุรานั้นไป แต่ขายให้แก่ใครเป็นราคาเท่าใดโจทก์สืบไม่ได้ แต่ว่าไม่ได้ขายให้แก่ร้านค้าปลีกของบริษัท ฯลฯ ซึ่งจำเลยมีหน้าที่จะต้องขายให้และจะขายได้เกินกว่าเงินจำนวนนี้เท่าใดหรือไม่ก็ไม่ปรากฏ เมื่อจำเลยที่ ๒ ได้ขายน้ำสุรานั้นไปแล้ว นำเงินค่าขายในราคาต่ำมาส่งให้จำเลยที่ ๑ ๆ ได้ทำใบขายสินค้าเงินสดในนามของบริษัท แสดงว่าได้รับเงินสดจากร้านขายสุราปลีกที่เป็นลูกค้ามาซื้อเอาไปเป็นรายร้าน แล้วนำใบรับเงินและตัวเงินมอบให้นายไพจิตร์ ผู้จัดการบริษัท แสดงว่าได้ขายสุราให้แก่ร้านค้าปลีกไปแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้ง ๒ มีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา ๒๒๒, ๒๒๓, ๖๓ จำเลยที่ ๒ มีผิดตามมาตรา ๓๑๙(๑) อีกกะทงหนึ่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๑ ให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ ฐานยักยอกตามมาตรา ๓๑๙(๑) กะทงเดียว
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้ง ๒ ฐานสมคบกันปลอมหนังสือและยักยอก
จำเลยที่ ๒ ฎีกาอ้างเป็นข้อกฎหมายว่าคดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาทุจจริตยักยอก
ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาต้องกันว่าจำเลยที่ ๒ มีความผิดมาตรา ๓๑๙(๑) ศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุก ๒ ปี ศาลอุทธรณ์ให้ลงโทษจำคุก ๑ ปี จำเลยที่ ๒ ฎีกาได้ฉะเพาะในปัญหาข้อกฎหมาย จำเลยฎีกาอ้างว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่การมีเจตนาทุจจริตหรือไม่นั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้าม
ข้อที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลย ๑ ฐานยักยอกด้วยนั้น ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาต้องกันว่าจำเลยที่ ๑ ไม่มีความผิดฐานยักยอก โจทก์จะฎีกาในข้อนี้ไม่ได้
ส่วนเรื่องปลอมหนังสือนั้น เห็นว่า จำเลยรู้เห็นเป็นใจด้วยกันในการทำหนังสือ โดยเหตุว่าจำเลยที่ ๒ ไม่ได้ส่งน้ำสุราขายให้แก่ร้านค้าปลีก แต่มาบอกให้จำเลยที่ ๑ เขียนบิลว่าได้ส่งน้ำสุราขายให้แก่ร้านค้าปลีกของบริษัท จำเลยที่ ๑ ก็ยอมรับเขียนบิลตามจำนวนร้านค้าปลีก การที่จำเลยทำดังนี้ เป็นการทำหนังสือเท็จแสดงต่อบริษัท เป็นหนังสือซึ่งจำเลยได้ร่วมรู้กันทำขึ้นในตำแหน่งหน้าที่ของจำเลย โดยจำเลยเป็นผู้รับผิดชอบ จึงเหมือนหนึ่งเป็นหนังสือของจำเลยเอง การกล่าวเท็จในหนังสือของตน เป็นการเกี่ยวแก่การเชื่อถือในส่วนตัวบุคคลนั้น ๆ เป็นสาระสำคัญ เมื่อความรับผิดและความเชื่อถือตกอยู่แก่บุคคลผู้ทำหนังสือนั้นเช่นนี้แล้ว ผู้กล่าวเท็จในกรณีดังนี้ ไม่มีความผิดฐานปลอมหนังสือ จึงพิพากษายืน

Share