คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 514/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การวางเงินค่าทำขวัญต่อศาลอันเนื่องมาจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ข้อ 24 วรรคแรกหมายถึงการวางเงินค่าทำขวัญต่อสำนักงานวางทรัพย์กลางกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ นำเงินค่าทำขวัญสำหรับที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนที่โจทก์ไม่ยอมรับไปวางต่อสำนักงานวางทรัพย์กลางเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2528 ถือได้ว่าเป็นการวางเงินค่าทำขวัญต่อศาลแล้ว โจทก์ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปแล้ว และฟ้องเรียกเงินค่าทำขวัญส่วนที่โจทก์ควรจะได้เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2529พ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์วางเงินค่าทำขวัญต่อศาล จึงขาดอายุความตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 ข้อ 24 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่20599 แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา (พระโขนง) กรุงเทพมหานครได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตบางขุนเทียน เขตราษฎร์บูรณะ และเขตยานนาวา กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2525 เพื่อสร้างทางพิเศษสายดาวคะนอง-ท่าเรือ ที่ดินของโจทก์โฉนดดังกล่าวได้ถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาเป็นเนื้อที่ 12 ตารางวา จำเลยได้กำหนดค่าทดแทนสำหรับที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนตารางวาละ 1,200 บาท เป็นเงิน14,400 บาท ซึ่งไม่ใช่ราคาที่ซื้อขายในท้องตลาดและไม่เป็นธรรมเพราะที่ดินของโจทก์มีราคาตารางวาละ 10,000 บาท เป็นเงิน120,000 บาท จึงไม่อาจตกลงกันได้ โจทก์ไม่ยอมรับค่าทดแทนที่ดินที่จำเลยกำหนด จำเลยจึงนำเงินค่าทดแทนที่ดินที่จำเลยกำหนดไปวางณ สำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดี เพื่อชำระแก่โจทก์ โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินจากสำนักงานวางทรัพย์กลางแล้ว โจทก์ขอเรียกค่าทดแทนเพิ่มอีกตารางวาละ 8,800 บาท เนื้อที่ 12ตารางวา เป็นเงิน 105,600 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 105,600 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2525 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 33,528 บาท และนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้วางเงินค่าทำขวัญต่อศาลตามข้อ 24 วรรคสองแห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าทดแทนที่ดินแก่โจทก์จำนวน 3 ตารางวา เป็นเงิน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2525 จนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ที่เรียกค่าทำขวัญเพิ่มสำหรับที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนเนื้อที่ 9 ตารางวา ขาดอายุความหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่าที่ดินโฉนดที่ 20599 ของโจทก์ถูกจำเลยที่ 1เวนคืนโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตบางขุนเทียน เขตราษฎร์บูรณะ และเขตยานนาวากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2525 เพื่อสร้างทางพิเศษสายดาวคะนอง-ท่าเรือคิดเป็นเนื้อที่ 12 ตารางวา จำเลยที่ 1 กำหนดค่าทำขวัญ หรือค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ตารางวาละ 1,200 บาท เป็นเงิน 14,400 บาทโจทก์ไม่พอใจอ้างว่าที่ดินของโจทก์อยู่ในย่าน ชุมนุมชนมีราคาไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 10,000 บาท และไม่ยอมรับเงินค่าทำขวัญที่ดินตามที่จำเลยที่ 1 กำหนด จำเลยที่ 1 จึงนำเงินค่าทำขวัญไปวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดี ครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2528 สำหรับที่ดินที่ถูกเวนคืน เนื้อที่ 9 ตารางวาครั้งที่สองเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2529 สำหรับที่ดินที่ถูกเวนคืนเนื้อที่ 3 ตารางวา โจทก์ได้รับเงินค่าทำขวัญที่จำเลยวางครั้งแรกแล้ว ส่วนครั้งที่สองโจทก์ยังไม่ได้ไปรับ โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าทำขวัญที่ดินสำหรับส่วนที่โจทก์ควรจะได้เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2529
พิเคราะห์แล้ว โจทก์ฎีกาว่า ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290ข้อ 24 กำหนดว่า ในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทำขวัญไม่ยอมรับชำระ ให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์นำเงินไปวางต่อศาล จำเลยที่ 1 นำเงินค่าทำขวัญไปวางต่อสำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดีเป็นการไม่ชอบศาลฎีกาเห็นว่า ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 ลงวันที่29 กันยายน 2515 ข้อ 21 กระทรวงยุติธรรมมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการศาลยุติธรรม แต่ไม่รวมถึงการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีการวางทรัพย์ต่อศาลถือได้ว่าเป็นงานที่เกี่ยวกับการศาลยุติธรรมที่ไม่ใช่การพิจารณาพิพากษาอรรถคดี แม้ต่อมาจะมีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม พ.ศ. 2518 ใช้บังคับให้สำนักงานวางทรัพย์กลางเป็นส่วนราชการของกรมบังคับคดีกระทรวงยุติธรรม ก็ตาม การวางทรัพย์ก็ยังคงเป็นงานที่เกี่ยวกับการศาลยุติธรรมอยู่ทั้งกระทรวงยุติธรรมได้ออกระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการวางทรัพย์ สำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดีพ.ศ. 2518 ในข้อ 2 ระบุว่าลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกอาจวางทรัพย์ต่อสำนักงานวางทรัพย์ได้ในกรณีต่อไปนี้
ฯลฯ
(5) กรณีตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น
(6) กรณีตามคำสั่งศาลภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมาย เช่นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264 ดังนั้นการวางเงินค่าทำขวัญต่อศาลตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ข้อ 24 วรรคแรกย่อมหมายถึงการวางเงินค่าทำขวัญต่อสำนักงานวางทรัพย์กลาง จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์กระทำการในนามของจำเลยที่ 1 นำเงินค่าทำขวัญสำหรับที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนเนื้อที่ 9 ตารางวา ที่โจทก์ไม่ยอมรับไปวางต่อสำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดี ตามนัยแห่งระเบียบดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2528 ซึ่งถือว่าเป็นการวางเงินค่าทำขวัญต่อศาลแล้ว โจทก์ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปแล้ว และฟ้องเรียกเงินค่าทำขวัญส่วนที่โจทก์ควรจะได้เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2529จึงพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์วางเงินค่าทำขวัญต่อศาล คดีโจทก์ในส่วนนี้จึงขาดอายุความตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ข้อ 24 วรรคสอง ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยนำเงินค่าทำขวัญที่ดินไปวางต่อสำนักงานวางทรัพย์กลางกรมบังคับคดีสองครั้ง ไม่ชอบด้วยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวนั้น ทางพิจารณาได้ความจากนายดุลย์ ลือสวัสดิ์ นิติกรของจำเลยที่ 1 ว่า เหตุที่จำเลยที่ 1 วางเงินสองครั้งนั้นเพราะครั้งแรกช่างสำรวจของจำเลยที่ 1 ได้ประมาณไว้ว่าที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนเนื้อที่ 9 ตารางวา ต่อมาเมื่อกรมที่ดินได้รังวัดแบ่งแยกที่ดินแท้จริงทราบว่าที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนเนื้อที่ 12 ตารางวา จำเลยที่ 1 จึงได้วางเงินค่าทำขวัญที่ดินให้โจทก์เพิ่มขึ้นอีก 3 ตารางวา ในครั้งหลัง เห็นว่า จำเลยที่ 1 วางเงินค่าทำขวัญที่ดินสองครั้ง เพื่อให้ครบถ้วนตามจำนวนที่ดินที่ถูกเวนคืน เป็นการกระทำที่ชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share