คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5139/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่นายทะเบียนอาวุธปืนออกใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืน หรือเครื่องกระสุนปืนส่วนบุคคล (แบบ ป.3) ให้แก่ผู้ขออนุญาต ถือได้ว่านายทะเบียนอาวุธปืนได้อนุญาตให้ผู้ขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืนได้แล้ว ส่วนการไปซื้อหรือรับโอนอาวุธปืนตามแบบ ป.3 ดังกล่าว แล้วนำไปดำเนินการจดทะเบียนออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป.4) เป็นขั้นตอนต่อเนื่องมาเพื่อควบคุมอาวุธปืนในราชอาณาจักรให้รู้ว่าอาวุธปืนแต่ละกระบอกอยู่ในครอบครองของผู้ใดเท่านั้น ไม่ได้หมายถึงว่าผู้ขออนุญาตเพิ่งได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนเมื่อนายทะเบียนอาวุธปืนออกใบอนุญาตแบบ ป.4 ให้
ตาม พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ มาตรา 23 (2) กำหนดให้แบบ ป.3 มีอายุ 6 เดือน นับแต่วันออก การที่จำเลยซื้อและครอบครองอาวุธปืนตามแบบ ป.3 แล้วดำเนินการขอจดทะเบียนรับใบอนุญาตแบบ ป.4 ภายในกำหนดเวลา จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และ สิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๘ ทวิ, ๗๒, ๗๒ ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒, ๓๓, ๙๑, ๓๗๑ ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๘ ทวิ วรรคหนึ่ง, ๗๒ วรรคหนึ่ง, ๗๒ ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน จำคุก ๑ ปี ฐานพาอาวุธปืนเป็นกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุก ๖ เดือน รวมเป็นจำคุก ๑ ปี ๖ เดือน จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๑๒ เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้ว ขณะเกิดเหตุจำเลยได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนอาวุธปืนอำเภอหันคาให้ซื้ออาวุธปืน หรือเครื่องกระสุนปืนแล้ว จำเลยจึงซื้ออาวุธปืนของกลางมาตามใบอนุญาตดังกล่าวและอยู่ระหว่างดำเนินการ จดทะเบียนรับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน เห็นว่า การขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืน ผู้ขอจะต้องไปยื่นคำขอต่อ นายทะเบียนอาวุธปืนท้องที่ที่ผู้ขอมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านก่อน เมื่อนายทะเบียนอาวุธปืนท้องที่พิจารณาเห็นว่าผู้ขอมีคุณสมบัติตามที่พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯกำหนดแล้วจึงอนุญาตให้ซื้อหรือรับโอนอาวุธปืนได้ โดยจะออกใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนส่วนบุคคล (แบบ ป.๓) ให้ จากนั้นผู้ขอจึงนำใบ ป.๓ ดังกล่าวไปซื้ออาวุธปืนจากร้านค้าหรือผู้ขาย แล้วจึงนำอาวุธปืนพร้อมหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปแสดงต่อนายทะเบียนอาวุธปืนผู้ออกใบอนุญาต เพื่อออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป.๔) สำหรับอาวุธปืนกระบอกดังกล่าวให้แก่ผู้ขอต่อไป ตามขั้นตอน ดังกล่าวถือได้ว่านายทะเบียนอาวุธปืนผู้ออกใบอนุญาตได้อนุญาตให้ผู้ขอมีและใช้อาวุธปืนแล้วตั้งแต่ออกใบ ป.๓ ส่วนขั้นตอนการไปซื้อหรือรับโอนจนกระทั่งออกใบ ป.๔ เป็นขั้นตอนต่อมาเพื่อควบคุมอาวุธปืนในราชอาณาจักรให้รู้ว่าอาวุธปืนแต่ละกระบอกอยู่ในครอบครองของผู้ใดเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าผู้ขอเพิ่งได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนเมื่อนายทะเบียนอาวุธปืนออกใบ ป.๔ ให้ ทั้งตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา ๒๓ (๒) ก็กำหนดให้ใบ ป.๓ มีอายุ ๖ เดือน นับแต่วันออก การที่จำเลยซื้อและครอบครองอาวุธปืนของกลางตามใบ ป.๓ และดำเนินการขอออก ใบ ป.๔ สำหรับอาวุธปืนของกลางจนได้รับใบ ป.๔ ตามเอกสารหมาย ล.๕ เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๐ ก่อนที่ใบ ป.๓ เอกสารหมาย ล.๒ จะสิ้นอายุ ประกอบกับพฤติการณ์ที่จำเลยไปขออนุญาตจากนายทะเบียนอาวุธปืนจนกระทั่งได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ก็แสดงอยู่ในตัวว่าจำเลยไม่มีเจตนาจะฝ่าฝืนกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตดังที่โจทก์ฟ้อง…
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๘ ทวิ วรรคหนึ่ง, ๗๒ ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑ กรณีเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งมีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุก ๖ เดือน และปรับ ๓,๐๐๐ บาท จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและ ชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก ๔ เดือน และปรับ ๒,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๗

Share