แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 อันเป็นบทกฎหมายเฉพาะซึ่งใช้บังคับในภายหลัง มาตรา 3 วรรคแรก บัญญัติให้ยกเลิกเฉพาะพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 และพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2504 เท่านั้น มิได้บัญญัติให้ยกเลิกความผิดตามประประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบมาตรา 273 ด้วย ทั้งไม่อาจถือได้ว่าบทบัญญัติมาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 273 แห่งประมวลกฎหมายอาญาเป็นบทกฎหมายซึ่งขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติมาตรา 110 (1) ประกอบด้วยมาตรา 108 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บทบัญญัติมาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 273 แห่งประมวลกฎหมายอาญาจึงมิได้ถูกยกเลิกไปโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534
จำเลยเสนอจำหน่ายสินค้ากระเป๋าที่มีเครื่องหมายการค้าซึ่งมีผู้ทำปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักรจึงเป็นความผิดและต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 273
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๕ ประกอบด้วยมาตรา ๒๗๓ , ๓๒ และ ๓๓ และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นซึ่งได้จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักรปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๕ ประกอบด้วยมาตรา ๒๗๓ อันเป็นบทกฎหมายทั่วไป แต่ปัจจุบันมีพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๑๑๐ (๑) ประกอบด้วยมาตรา ๑๐๘ บัญญัติให้การเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นปลอมเป็นความผิดเฉพาะกรณีที่เครื่องหมายการค้าของผู้อื่นนั้นได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรเท่านั้น อันเป็นบทกฎหมายเฉพาะ จึงต้องบังคับตามบทกฎหมายเฉพาะ ส่วนบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าวอันเป็นบทกฎหมายทั่วไปจะใช้บังคับได้เท่าที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเท่านั้น เมื่อบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญาตามคำฟ้องแตกต่างจากพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าดังกล่าว จึงลงโทษจำเลยตามบทกฎหมายตามคำฟ้องไม่ได้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยได้เสนอจำหน่ายสินค้ากระเป๋าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของบริษัทคิปลิงก์ สวิตเซอร์แลนด์ เอจี จำกัด ผู้เสียหายซึ่งได้จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักร ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า การกระทำดังกล่าวของจำเลยยังคงเป็นความผิดและต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๕ ประกอบด้วยมาตรา ๒๗๓ ตามคำฟ้องของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ปัญหานี้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒ วรรคแรก บัญญัติว่า บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย และประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ ๘ ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการค้า มาตรา ๒๗๓ บัญญัติว่า ผู้ใดปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นซึ่งได้จดทะเบียนแล้ว ไม่ว่าจะได้จดทะเบียนภายในหรือนอกราชอาณาจักร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา ๒๗๕ บัญญัติว่า ผู้ใดนำเข้าในราชอาณาจักร จำหน่ายหรือเสนอจำหน่ายซึ่งสินค้า…หรือสินค้าอันเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นตามความในมาตรา ๒๗๓ หรือมาตรา ๒๗๔ ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ แสดงว่าการเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักร เป็นการกระทำอันเป็นความผิดในทางอาญาและผู้กระทำจักต้องรับโทษตามที่ประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๗๕ ประกอบด้วยมาตรา ๒๗๓ ดังกล่าวมาข้างต้น การที่พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นใช้ในภายหลังมีบทบัญญัติในมาตรา ๑๑๐ (๑) ประกอบด้วยมาตรา ๑๐๘ ซึ่งบัญญัติให้เฉพาะการเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรเท่านั้นเป็นความผิดทางอาญาเป็นเพราะเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนในราชอาณาจักรจะได้รับความคุ้มครองสำหรับสินค้าที่จดทะเบียนไว้ตามมาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวเฉพาะในเขตพื้นที่ภายในราชอาณาจักรเท่านั้น ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักรแต่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนในราชอาณาจักร ไม่อาจฟ้องคดีเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนหรือเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดสิทธิดังกล่าวได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๔๖ วรรคแรก เว้นแต่จะเป็นกรณีที่มีบุคคลอื่นเอาสินค้าของตนไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นตามมาตรา ๔๖ วรรคสอง ส่วนบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๕ ประกอบด้วยมาตรา ๒๗๓ ซึ่งออกมาใช้บังคับก่อนพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.๒๕๓๔ ให้ความคุ้มครองสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักรที่จะดำเนินคดีอาญาแก่ผู้เสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวปลอมได้ด้วย แม้พระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา ๑๑๐ (๑) ประกอบด้วยมาตรา ๑๐๘ มิได้คุ้มครองสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนนอกราชอาณาจักรไว้เช่นนั้น กรณีก็ไม่อาจถือได้ว่าบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญาขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.๒๕๓๔ เมื่อพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.๒๕๓๔ อันเป็นบทกฎหมายเฉพาะซึ่งใช้บังคับในภายหลัง มาตรา ๓ วรรคแรก บัญญัติให้ยกเลิกเฉพาะพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.๒๔๗๔ และพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓ ) พ.ศ.๒๕๐๔ เท่านั้น มิได้บัญญัติให้ยกเลิกความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๕ ประกอบด้วยมาตรา ๒๗๓ ด้วย ทั้งไม่อาจถือได้ว่าบทบัญญัติมาตรา ๒๗๕ ประกอบด้วยมาตรา ๒๗๓ แห่งประมวลกฎหมายอาญาเป็นบทกฎหมายซึ่งขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติมาตรา ๑๑๐ (๑) ประกอบด้วยมาตรา ๑๐๘ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.๒๕๓๔ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บทบัญญัติมาตรา ๒๗๕ ประกอบด้วยมาตรา ๒๗๓ แห่งประมวลกฎหมายอาญา จึงมิได้ถูกยกเลิกไปโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.๒๕๓๔ การที่จำเลยเสนอจำหน่ายสินค้ากระเป๋าที่มีเครื่องหมายการค้าซึ่งมีผู้ทำปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักรจึงเป็นความผิดและต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๕ ประกอบด้วยมาตรา ๒๗๓ ตามฟ้องของโจทก์ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๕ ประกอบด้วยมาตรา ๒๗๓ ลงโทษปรับ ๔,๐๐๐ บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา ๗๘ คงปรับ ๒,๐๐๐ บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙ และ ๓๐ ของกลางริบ.
นายธัชพันธ์ ประพุทธนิติสาร ผู้ช่วยฯ
นางสาวสุดรัก สุขสว่าง ย่อ
นายไพโรจน์ โรจน์อภิรักษ์กุล ตรวจ
นายไมตรี ศรีอรุณ ผู้ช่วยฯ/ตรวจ