แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พินัยกรรมซึ่งยกทรัพย์มรดกให้ผู้ร้องมีผู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานแต่ผู้ตายมิได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน จึงมิได้ทำตามแบบที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ ย่อมเป็นโมฆะตามมาตรา 1705 ทรัพย์มรดกของผู้ตายจึงตกทอดได้แก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายเสมือนหนึ่งมิได้มีการทำพินัยกรรมไว้ ผู้ร้องซึ่งเป็นภริยาไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายจึงไม่มีอำนาจร้องขอต่อศาลขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นภริยาของพันโทเที่ยง พฤกษมาศ ผู้ตายโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส และมีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นางสาวทองอัมไพ พฤกษมาศ และนางสาวทองวิไล พฤกษมาศ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2541 ผู้ตายถึงแก่ความตายมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน 8 แปลง ก่อนถึงแก่ความตายผู้ตายทำพินัยกรรมยกที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง และบุตรของผู้ร้อง 2 คน และระบุในพินัยกรรมให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ต่อมาการจัดการมรดกมีเหตุขัดข้องเนื่องจากเจ้าพนักงานที่ดินปฏิเสธที่จะแบ่งแยกที่ดินให้เว้นแต่มีคำสั่งศาลมาแสดงว่าผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ผู้ร้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามในการเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายโดยจดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2492 มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ นางทองน้อยพฤกษมาศ นางสาวทองนวล พฤกษมาศ และนางทองขาว พฤกษมาศ (ธีระวัชรมาศ)ที่ดิน 8 แปลง ที่ผู้ร้องกล่าวอ้างเป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายกับผู้คัดค้าน พินัยกรรมที่ผู้ร้องกล่าวอ้างปลอมทั้งฉบับ และเป็นการทำพินัยกรรมยกสินสมรสที่เกินกว่าส่วนของผู้ตายให้แก่บุคคลอื่นขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1481 และผู้คัดค้านไม่เป็นบุคคลต้องห้ามในการเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และยกคำร้องขอของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้นางผ้วน พฤกษมาศ ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของพันโทเที่ยง พฤกษมาศ ผู้ตาย ให้ผู้คัดค้านมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายและยกคำร้องขอของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ผู้ร้องเป็นภริยาของพันโทเที่ยง พฤกษมาศ ผู้ตายโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส แต่อยู่กินด้วยกันตั้งแต่ปี 2511 และมีบุตรด้วยกัน 2 คน คือนางสาวทองอัมไพ พฤกษมาศ และนางสาวทองวิไล พฤกษมาศ ส่วนผู้คัดค้านเป็นภริยาของผู้ตายโดยจดทะเบียนสมรส เมื่อวันที่20 สิงหาคม 2492 และมีบุตรด้วยกัน 2 คน คือนางสาวทองนวล พฤกษมาศ และนางทองขาว พฤกษมาศ (ธีระวัชรมาศ) วันที่ 13 มิถุนายน 2541 ผู้ตายถึงแก่ความตายโดยมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน 8 ถึง 10 แปลง อาวุธปืน 4 กระบอก และรถยนต์ 2 คันคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.15 สมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าผู้ตายทำพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.15 ดังที่ผู้ร้องฎีกาก็ตาม แต่นายวรรณโณ สังข์พงศ์ ซึ่งเป็นพยานในพินัยกรรมเบิกความเป็นพยานผู้ร้องได้ความว่า เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2541 นายเฉลิม ศรีเมือง ชวนพยานไปดูสนามบินและชวนพยานไปบ้านผู้ตายเพราะนายเฉลิมจะไปเป็นพยานในการทำพินัยกรรมที่นั่นครั้นไปถึงบ้านผู้ตาย ผู้ตายบอกว่าจะทำพินัยกรรม ขณะนั้นพยานเห็นมีการพิมพ์พินัยกรรมขึ้นมาผู้ร้อง ทนายผู้ร้องและเพื่อนทนายผู้ร้องอีก 1 คนก็อยู่ด้วย เมื่อผู้ตายทำพินัยกรรมเสร็จแล้ว พยานลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมก่อนนายเฉลิม จากนั้นพยานก็ส่งให้นายเฉลิมลงลายมือชื่อ ส่วนนายเฉลิมซึ่งเป็นพยานในพินัยกรรมอีกคนหนึ่งกลับเบิกความเป็นพยานผู้ร้องได้ความว่า ในวันที่ 5 มกราคม 2541 พยานไปบ้านผู้ตายพร้อมกับนายวรรณโณโดยพยานตั้งใจจะไปพบผู้ตายเรื่องการสร้างสนามบิน ครั้นไปถึงพบคนนั่นอยู่ก่อนแล้ว 4 ถึง 5 คน ผู้ตายขอให้พยานเป็นพยานในการทำพินัยกรรมขณะนั้นทนายผู้ร้องกำลังพิมพ์พินัยกรรม เมื่อทำพินัยกรรมกันแล้วผู้ตายก็ลงลายมือชื่อในพินัยกรรม จากนั้นพยานลงลายมือชื่อรับรองเป็นพยานในพินัยกรรมก่อนนายวรรณโณ เห็นว่า นายวรรณโณและนายเฉลิมต่างเป็นผู้ปกครองท้องที่ย่อมมีไหวพริบและปฏิภาณดีกว่าชาวบ้านทั่วไป ทั้งระยะเวลานับแต่วันทำพินัยกรรมในวันที่ 5 มกราคม2541 จนถึงวันที่พยานผู้ร้องทั้งสองมาเบิกความในวันที่ 26 มีนาคม 2542 ก็ห่างกันเพียง 1 ปีเศษ จึงไม่น่าเชื่อว่านายวรรณโณและนายเฉลิมจะเบิกความคลาดเคลื่อนจนแตกต่างกันโดยเฉพาะเรื่องพยานคนไหนลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมก่อนหรือหลังซึ่งเป็นสาระสำคัญของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะต่างก็อ้างว่าอยู่ในเหตุการณ์ด้วยกัน นอกจากนี้ทนายผู้ร้องเป็นผู้พิมพ์พินัยกรรมเอกสารหมาย ร.15 แต่กลับไม่ยอมลงลายมือชื่อในฐานะผู้พิมพ์พินัยกรรมแล้วยังไม่ยอมอ้างตนเองเป็นพยานผู้ร้องเพื่อเบิกความเป็นพยานสนับสนุนผู้ร้องว่าพินัยกรรมฉบับดังกล่าวได้กระทำต่อหน้านายวรรณโณและนายเฉลิมพร้อมกันจริง การที่พยานผู้ร้องทั้งสองเบิกความแตกต่างกันในเรื่องดังกล่าว ทำให้เชื่อได้ว่าขณะที่มีการลงลายมือชื่อของผู้ตายในพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.15 มิได้กระทำต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน เพราะมิฉะนั้นพยานผู้ร้องทั้งสองจะต้องเบิกความสอดคล้องต้องกัน ประกอบกับนายวรรณโณเบิกความตอบคำถามค้านของทนายผู้คัดค้านยืนยันว่าพยานรับรองเป็นพยานในพินัยกรรม แต่พยานไม่ได้รับรองลายมือชื่อของผู้ลงชื่อในพินัยกรรม ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1656 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกันซึ่งพยานสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น เมื่อนายวรรณโณซึ่งเป็นพยานในพินัยกรรมคนหนึ่งไม่รับรองลายมือชื่อของผู้ตายซึ่งเป็นผู้ทำพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.15 และมิได้กระทำต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน ดังนี้พินัยกรรมฉบับนี้จึงมิได้ทำขึ้นตามแบบที่บทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติไว้ ย่อมเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1705 ทรัพย์มรดกของผู้ตายจึงตกทอดได้แก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายเสมือนหนึ่งมิได้มีการทำพินัยกรรมไว้ ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจร้องขอต่อศาลขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246, 247ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องขอของผู้ร้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน