แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้บริษัทประกันภัยจำเลยที่ 4 จะมีข้อตกลงกับบริษัท ท.ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์อีกคันหนึ่งว่าหากมีเหตุเกิดขึ้นระหว่างรถยนต์ที่จำเลยที่ 4 และบริษัท ท.ผู้รับประกันภัยไว้จำเลยที่ 4 กับบริษัทท. ต่างจะรับผิดชอบซ่อมแซมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รถยนต์ที่ฝ่ายตนรับประกันภัยโดยไม่เรียกค่าเสียหายจากอีกฝ่ายหนึ่งก็ตาม แต่ข้อตกลงดังกล่าวมีผลผูกพันเฉพาะคู่สัญญาเท่านั้น หากกระทำถึงสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากมูลละเมิดในส่วนของผู้เอาประกันไม่ดังนั้นการที่บริษัทท.ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ผู้เอาประกันภัยไป ก็หาทำให้จำเลยที่ 4 ซึ่งต้องรับผิดต่อโจทก์พ้นความรับผิดไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้าหมายเลขทะเบียน 9ร-7149 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 70-1141 เพชรบุรี และใช้ร่วมประกอบกิจการขนส่งสาธารณะไม่ประจำทางในกิจการของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดส่วนจำเลยที่ 4 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด และเป็นผู้รับประกันภัยรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 70-1141 เพชรบุรีจากจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2532 เวลาประมาณ 8 นาฬิกาขณะที่ผู้มีชื่อกำลังขับรถยนต์ของโจทก์ไปตามถนนสายเพชรเกษม จากจังหวัดราชบุรีโฉมหน้าไปทางจังหวัดเพชรบุรีถึงบริเวณหมู่ที่ 8ตำบลหัวสะพาน อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขับรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน70-1141 เพชรบุรีในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 แล่นตามหลังรถยนต์ของโจทก์ไปในทิศทางเดียวกัน ด้วยความประมาทโดยขับรถด้วยความเร็วเพื่อแซงรถยนต์ของโจทก์โดยไม่ดูให้ปลอดภัยก่อนว่ามีรถยนต์อื่นแล่นสวนทางมา เป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับ ชนท้ายรถยนต์ของโจทก์และทำให้รถยนต์ของโจทก์แล่นไปชนท้ายรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน81-5616 นครปฐม ที่แล่นอยู่ข้างหน้า แล้วจำเลยที่ 1 ได้หลบหนี้ไปรวมเป็นค่าเสียหายของโจทก์ 356,063 บาท ซึ่งโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน5,191 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้เงิน 361,254 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 356,063บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และใช้ค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์จากการใช้รถในอนาคตเป็นเงินเดือน 7,827 บาทนับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 4 ได้ทำสัญญากับบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9ร-7149 กรุงเทพมหานคร ว่า หากมีเหตุเกิดขึ้นระหว่างรถยนต์ที่จำเลยที่ 4 และบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัดเป็นผู้รับประกันภัยไว้ โจทก์กับบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัดต่างจะรับผิดชอบซ่อมแซมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รถยนต์ที่ฝ่ายตนเป็นผู้รับประกันภัย โดยไม่เรียกร้องค่าเสียหายจากอีกฝ่ายหนึ่งและสัญญาประกันภัยของจำเลยที่ 4 ในคดีนี้ จำเลยที่ 4 จะรับผิดต่อความเสียหายของบุคคลภายนอกเป็นเงินไม่เกิน 250,000 บาท เมื่อบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9ร-7149 กรุงเทพมหานคร ในวงเงิน 250,000 บาท และได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวไปแล้ว จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ได้เช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวมาจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีมิตรจำกัด โจทก์จึงเป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันดังกล่าวในขณะเกิดเหตุ การที่โจทก์มีชื่อในสัญญาเช่าซื้อหาใช่เป็นเพียงการทำแทนนายถวัลย์ไม่โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ทำละเมิดได้ แต่คดีนี้ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยในประเด็นข้ออื่น ดังนั้น เมื่อคู่ความได้นำพยานหลักฐานเข้าสืบจนคดีเสร็จสำนวนมาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวน
มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า โจทก์มอบอำนาจให้นางสาวแก้วใจฟ้องคดีนี้และเหตุเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1หรือไม่ฝ่ายจำเลยไม่ได้นำสืบหักล้างในประเด็นข้อนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้นางสาวแก้วใจฟ้องคดีนี้ และเหตุคดีนี้เกิดจากจำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 70-1141 เพชรบุรี ด้วยความเร็วสูงในขณะที่การจราจรคับคั่งพุ่ง เข้าชนท้ายรถยนต์ หมายเลขทะเบียน 9ร-7149 กรุงเทพมหานครที่นายถวัลย์ขับแล่นอยู่ข้างหน้า เป็นเหตุให้รถยนต์คันที่นายถวัลย์ขับไถลไปชนท้ายรถบรรทุกอีกคันหนึ่งที่แล่นอยู่ข้างหน้าเหตุคดีนี้จึงเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1
มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า จำเลยทั้งสี่จะต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกเดชา พิมพ์สุวรรณ พนักงานสอบสวนพยานโจทก์ว่าหลังจากเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ได้ไปพบร้อยตำรวจเอกเดชาแจ้งว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขณะเกิดเหตุขับรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 70-1141 เพชรบุรี ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ความข้อนี้จำเลยที่ 2 มิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่นข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และกระทำการไปในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดส่วนจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถบรรทุกคันเกิดเหตุจากจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2ผู้เอาประกันภัยในฐานะนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที 1 จำเลยที่ 4ซึ่งรับประกันภัยค้ำจุนต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วย ส่วนจำเลยที่ 3โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 และจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามข้อกล่าวอ้างจำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์
สำหรับปัญหาว่าจำเลยที่ 4 จะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใดนั้นเห็นว่า แม้จำเลยที่ 4 จะมีข้อตกลงกับบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัยจำกัด ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9ร-7149กรุงเทพมหานคร ว่าหากมีเหตุเกิดขึ้นระหว่างรถยนต์ที่จำเลยที่ 4และบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด เป็นผู้รับประกันภัยไว้จำเลยที่ 4 กับบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด ต่างจะรับผิดชอบซ่อมแซมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รถยนต์ที่ฝ่ายตนรับประกันภัยโดยไม่เรียกร้องค่าเสียหายจากอีกฝ่ายหนึ่ง ตามสัญญาไม่เรียกร้องค่าเสียหายซึ่งกันและกันเอกสารหมาย จ.2 ก็ตาม แต่ข้อตกลงดังกล่าวมีผลผูกพันเฉพาะคู่สัญญาเท่านั้นหากกระทบถึงสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากมูลละเมิดในส่วนของผู้เอาประกันภัยไม่ ดังนั้นการที่บริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ผู้เอาประกันภัยไป ก็หาทำให้จำเลยที่ 4 ซึ่งต้องรับผิดต่อโจทก์พ้นความผิดไม่ จำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยเกี่ยวกับการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกในข้อ 2.3 จำนวนเงิน 250,000 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 337,800 บาท แก่โจทก์โดยให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดจำนวน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ