คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5133/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันมีข้อความว่า ตามที่โจทก์ตกลงรับจำเลยที่ 1 เข้าเป็นพนักงานของโจทก์เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2543 จำเลยที่ 2 ขอสัญญาว่าถ้าจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะกระทำการดังที่ระบุไว้ จำเลยที่ 2 ยอมชำระหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกัน ดังนั้น แม้สัญญาค้ำประกันจะได้กระทำกันก่อนที่จำเลยที่ 1 เข้าทำสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์ แต่ก็เป็นการประกันความรับผิดในหนี้ในลักษณะที่เป็นเหตุการณ์ในอนาคตซึ่งหนี้นั้นอาจเกิดขึ้นจริงหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 681 วรรคสอง เมื่อต่อมาจำเลยที่ 1 ยักยอกทรัพย์ หนี้จึงเกิดขึ้นตามที่จำเลยที่ 2 ได้ตกลงค้ำประกันไว้ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งพนักงานขาย มีหน้าที่รับคำสั่งซื้อสินค้าจากลูกค้าและเก็บเงินค่าสินค้ามาส่งโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันความเสียหายในการทำงานโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อวันที่ 14 ถึงวันที่ 23 เมษายน 2547 จำเลยที่ 1 นำน้ำอัดลมของโจทก์ไปขายแก่ลูกค้าและให้ลูกค้า 9 ราย ยืมภาชนะบรรจุน้ำอัดลม เมื่อครบกำหนดที่จำเลยที่ 1 ต้องเก็บคืนภาชนะนั้นจากลูกค้า แต่จำเลยที่ 1 ไม่นำคืนโจทก์จนล่วงเลยเวลามานาน โจทก์ตรวจสอบข้อเท็จจริงจึงพบว่าลูกค้าทั้ง 9 ราย ได้คืนภาชนะแก่จำเลยที่ 1 ไปแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ยักยอกไปเป็นประโยชน์ส่วนตน ทำให้โจทก์เสียหายคิดเป็นเงินจำนวน 717,276 บาท โจทก์นำเงินประกันพร้อมดอกเบี้ยของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่ที่โจทก์จำนวน 9,820บาท มาหักชำระหนี้คงเหลือค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ต้องใช้จำนวน 707,455.06 บาท โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองแล้ว แต่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 707,455.06 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2547 ไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ไม่ยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2543 แต่จำเลยที่ 1 ทำงานเป็นลูกจ้างโจทก์วันที่ 1 มิถุนายน 2543 จึงเป็นการทำสัญญาค้ำประกันก่อนจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 ขาดนัด ศาลมีคำสั่งให้ดำเนินคดีโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 1 ไปฝ่ายเดียว
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 707,455.06 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 มกราคม 2548) ไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ มีหน้าที่นำสินค้าไปจำหน่ายและเก็บเงินจากลูกค้าส่งมอบแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ยักยอกทรัพย์ตามใบยืมสินค้าเอกสารหมาย จ.9 ของโจทก์ไปทำให้โจทก์เสียหายเป็นเงิน 707,455.06 บาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยที่ 2 ตามข้อ 2 ข. ประการเดียวว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.6 หรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า สัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.6 ทำขึ้นก่อนที่จำเลยที่ 1 จะเข้าเป็นลูกจ้างโจทก์ และมิใช่เป็นการประกันหนี้ในอนาคตนั้น เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางปรากฏว่า เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2543 จำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญาค้ำประกันตามหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.6 โดยมีข้อความระบุสรุปได้ว่าตามที่โจทก์ตกลงรับจำเลยที่ 1 เข้าเป็นพนักงานของโจทก์เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2543 จำเลยที่ 2 ขอสัญญาว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะกระทำการในข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อรวมกันดังที่ระบุไว้ จำเลยที่ 2 ขอรับผิดชอบยอมชำระหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันและรับผิดเสมือนหนึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมด้วย และปรากฏตามสัญญาจ้างแรงงานหมาย จ.4 ว่าเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2543 โจทก์จ้างจำเลยที่ 1 เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681 วรรคสอง บัญญัติว่า “หนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไขจะประกันไว้เพื่อเหตุการณ์ซึ่งหนี้นั้นอาจเป็นผลได้จริง ก็ประกันได้” ดังนั้นแม้สัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.6 จะได้กระทำกันก่อนที่จำเลยที่ 1 เข้าทำสัญญาจ้างแรงงานเอกสารหมาย จ.4 กับโจทก์ดังที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ก็ตาม แต่ก็เป็นการประกันความรับผิดในหนี้ในลักษณะที่เป็นเหตุการณ์ในอนาคตซึ่งหนี้นั้นอาจเกิดขึ้นจริงหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายข้างต้น เมื่อต่อมาปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ยักยอกทรัพย์ตามสรุปรายการให้ยืมภาชนะ เอกสารหมาย จ.8 และตามสำเนาหนังสือยืนยันการชำระภาชนะหนี้พนักงาน เอกสารหมาย จ.9 หนี้นั้นจึงเกิดขึ้นตามที่จำเลยที่ 2 ได้ตกลงค้ำประกันไว้ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share