แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายลดเช็คกับโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3ทำสัญญาค้ำประกันและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาเช็คที่นำมาขายลดถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน การที่จำเลยนำเช็คฉบับใหม่มาชำระหนี้ตามมูลหนี้ที่มาจากสัญญาขายลดเช็ค โดยไม่ได้เป็นการขายลดเช็คกับโจทก์ตามสัญญาเดิม และโจทก์ยอมรับเอาเช็คดังกล่าวเป็นการชำระหนี้ตามสัญญาขายลดเช็ค เช่นนี้ จึงเป็นการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้เป็นเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคสาม เมื่อเช็คฉบับใหม่เรียกเก็บเงินไม่ได้ จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาขายลดเช็คและสัญญาค้ำประกันอันเป็นมูลหนี้เดิม โจทก์ฟ้องคดีโดยอาศัยมูลหนี้ตามสัญญาขายลดเช็คและสัญญาค้ำประกัน จึงมีอายุความ 10 ปี แม้จำเลยที่ 2 ที่ 3 จะมิได้อุทธรณ์ฎีกาขึ้นมา แต่เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสามต้องร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์น้อยกว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ที่ 3 ด้วยเพราะเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1),247
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายลดเช็ค 3 ฉบับกับโจทก์จำเลยที่ 2 ที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมต่อมาเช็คเรียกเก็บเงินไม่ได้ จำเลยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยบางส่วนแล้ว ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 277,896 บาท พร้อมดอกเบี้ยจำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยมิได้นำเช็ค 3 ฉบับไปขายลดให้โจทก์แต่นำเช็ค 4 ฉบับไปแลกกับเช็คฉบับอื่น ต่อมาโจทก์ตกลงให้จำเลยทั้งสามแบ่งกันรับผิดคนละ 100,000 บาท จำเลยที่ 1 จึงออกเป็นเช็คผ่อนชำระให้โจทก์ 4 ฉบับ และได้ชำระเงินตามเช็คบางฉบับไปแล้วโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามเช็คให้โจทก์แล้วจึงไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 274,439 บาทพร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับกันฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2521 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายลดเช็คกับโจทก์ในวงเงิน 400,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.3 จำเลยที่ 2 ที่ 3ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ตามลำดับ วันดังกล่าวจำเลยที่ 1 นำเช็ค2 ฉบับ ฉบับละ 200,000 บาท มาขายลดกับโจทก์เมื่อเช็คทั้งสองฉบับถึงกำหนดโจทก์เรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสองฉบับต่อมาวันที่ 3 มกราคม 2522 จำเลยที่ 1 นำเงินสดมาชำระดอกเบี้ยให้โจทก์และนำเช็คฉบับละ 100,000 บาท 4 ฉบับมาขายลดกับโจทก์ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.14 เพื่อเอาเงินชำระหนี้ตามเช็ค 2 ฉบับแรกเช็ค 4 ฉบับหลังนี้เมื่อถึงกำหนดแต่ละฉบับฉบับที่ 1 โจทก์เรียกเก็บเงินได้ จึงเหลือหนี้ตามเช็คอยู่ 3 ฉบับเป็นเงินรวม 300,000 บาท ฉบับที่ 2 ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินต่อมาวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2522 จำเลยที่ 1 ได้นำเงินสดมาชำระดอกเบี้ยให้โจทก์และนำเช็คเอกสารหมาย จ.12 จำนวน 100,000 บาทมาขายลดกับโจทก์ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.15 เอาเงินชำระหนี้ตามเช็คฉบับที่ 2 แก่โจทก์ ส่วนเช็คฉบับที่ 3 และที่ 4 คือเช็คเอกสารหมาย จ.8 และ จ.10 ธนาคารตามเช็คก็ปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งสองฉบับตามใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.9 และ จ.11 และเมื่อเช็คเอกสารหมาย จ.12 ถึงกำหนด ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.13 จำเลยที่ 1 จึงเป็นหนี้โจทก์ตามเช็คเอกสารหมาย จ.8 จ.10 และ จ.12 ฉบับละ 100,000 บาทรวมเป็นเงิน 300,000 บาท ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม 2522 จำเลยที่ 1ได้นำเงินสดจำนวน 6,000 บาทเศษมาชำระค่าดอกเบี้ยที่ค้างแก่โจทก์4,000 บาทเศษ และชำระเป็นเงินต้น 2,000 บาทเศษจึงเหลือเงินต้นตามเช็ค 3 ฉบับเพียง 297,348 บาท ตามรายการในบัญชีเอกสารหมายจ.16 แผ่นแรกที่หมายดอกจันสีแดงไว้ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้นำเช็คมาชำระหนี้แก่โจทก์จำนวน 5 ฉบับ สั่งจ่ายในวันที่ 30 ตุลาคม 2522(ปรากฏอยู่ในสำนวนคดีอาญา) เป็นเช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่าย 3 ฉบับฉบับละ 8,000 บาท 2 ฉบับ ฉบับละ 80,000 บาท 1 ฉบับ ฉบับละ80,000 บาทนี้รวมทั้งค่าดอกเบี้ยด้วย ส่วนอีก 2 ฉบับเป็นเช็คที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 สั่งจ่ายคนละ 1 ฉบับ ฉบับละ 95,000 บาทเช็คฉบับจำนวนเงิน 8,000 บาท ฉบับแรก โจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คได้ส่วนเช็คจำนวนเงิน 8,000 บาทฉบับหลังกับเช็คจำนวนเงิน 80,000 บาทโจทก์เรียกเก็บเงินไม่ได้ ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งสองฉบับ ส่วนเช็คที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 สั่งจ่ายคนละฉบับเมื่อครบกำหนดโจทก์เรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งสองฉบับเช่นกันโจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ฉบับจำนวนเงิน80,000 บาท และฟ้องจำเลยที่ 2 ในความผิดเดียวกันเกี่ยวกับเช็คจำนวนเงิน 95,000 บาท จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินตามเช็คให้โจทก์จนครบ 80,000 บาท โจทก์ได้ถอนฟ้องแล้วปรากฏตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6786/2523 ของศาลอาญาส่วนคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลพิพากษายกฟ้องเพราะเช็คไม่มีวันที่ ที่จำเลยที่ 2 กระทำผิด ปรากฏตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5250/2523 ของศาลอาญา ส่วนเช็คที่จำเลยที่ 3 สั่งจ่าย จำเลยที่ 3 ได้ชำระเงินให้โจทก์เรียบร้อยแล้วโดยโจทก์ไม่คืนเช็คเอกสารหมาย จ.8 จ.10 และ จ.12ให้จำเลยที่ 1 ต่อมาโจทก์จึงได้มาฟ้องเป็นคดีนี้เรียกให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญาขายลดเช็คเอกสารหมาย จ.3 จ.14จ.15 ซึ่งอ้างว่าเป็นหนี้ตามเช็คเอกสารหมาย จ.8 จ.10 และ จ.12ดังกล่าวทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยรวมจำนวน 277,896 บาท ศาลฎีกาเห็นว่า ครั้งหลังสุดคือวันที่ 1 สิงหาคม 2522 จำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาขายลดเช็คเอกสารหมาย จ.3 จ.14และ จ.15 และบัญชีลูกหนี้เจ้าหนี้เอกสารหมาย จ.16 ในช่องที่หมายดอกจันสีแดงเป็นหนี้จำนวน 297,348 บาท แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ได้นำเช็คจำนวน 5 ฉบับมาชำระหนี้จำนวนดังกล่าวซึ่งมีมูลหนี้มาจากสัญญาขายลดเช็คเอกสารหมาย จ.3 จ.14 จ.15 (และเช็คเอกสารหมาย จ.8จ.10 และ จ.12) โดยไม่ได้มาขายลดเช็คกับโจทก์ดังที่เคยปฏิบัติมาและโจทก์ยอมรับเอาเช็คทั้ง 5 ฉบับจากจำเลยที่ 1 เป็นการชำระหนี้ตามสัญญาขายลดเช็คและเช็คดังกล่าว จึงเป็นการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้เป็นเงิน เมื่อโจทก์ได้รับชำระหนี้ตามเช็คของจำเลยที่ 1 ฉบับจำนวนเงิน 8,000 บาท และฉบับจำนวนเงิน 80,000 บาทกับเช็คของจำเลยที่ 3 จำนวนเงิน 95,000 บาทแล้ว จึงรวมเงินที่โจทก์ได้รับชำระตามเช็ค 3 ฉบับ เป็นเงิน 183,000 บาท เมื่อรวมกับจำนวนเงินที่จำเลยได้ชำระให้โจทก์ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2526 ตามเอกสารหมาย จ.16 จำนวน 22,909 บาท จึงรวมเป็นเงินที่โจทก์ได้รับชำระหนี้แล้วจำนวน 205,909 บาท จึงเหลือหนี้ตามสัญญาขายลดเช็คเพียง จำนวน 91,439 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาขายลดเช็คและสัญญาค้ำประกันอันเป็นมูลหนี้เดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคสุดท้าย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า สัญญาขายลดเช็คและสัญญาค้ำประกัน โจทก์ได้สละสิทธิไปแล้วนั้น ยังไม่ต้องด้วยความเห็นศาลฎีกา ฎีกาโจทก์คงฟังขึ้นแต่เพียงบางส่วน ส่วนที่จำเลยที่ 1 แก้ฎีกาว่า นายสมชายนำสุริยานันท์ ไม่มีอำนาจฟ้องแทนโจทก์ เพราะลายมือชื่อผู้มอบอำนาจให้ฟ้องคดีไม่ใช่ลายมือชื่อของกรรมการที่มีอำนาจของโจทก์ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์มีนายสมชายมาเบิกความประกอบหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 และเอกสารหมาย จ.2 จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำสืบหักล้างเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่านายสมชาย นำสุริยานันท์มีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ ส่วนปัญหาที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่นั้น โจทก์ได้บรรยายฟ้องโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งได้แนบเอกสารอันเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหามาด้วยตามท้ายฟ้องเป็นฟ้องที่สมบูรณ์แล้ว ส่วนปัญหาที่ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่นั้น เมื่อโจทก์ฟ้องโดยอาศัยมูลหนี้ตามสัญญาขายลดเช็คและสัญญาค้ำประกัน จึงมีอายุความ 10 ปี โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายในกำหนด 10 ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ และศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์เพียงจำนวน 91,439 บาท โดยไม่ให้ชำระเต็มตามฟ้อง แม้จำเลยที่ 2 ที่ 3 จะมิได้อุทธรณ์ฎีกาขึ้นมาก็ให้คำพิพากษานี้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย เพราะเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบมาตรา 247”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน91,439 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 มกราคม2526 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์