คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5132/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การกำหนดประเด็นข้อพิพาทเป็นการกำหนดเพื่อให้ได้ความชัดในประเด็นข้อพิพาทของคู่ความแต่การกำหนดให้ฝ่ายใดนำพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใดก่อนหรือหลังย่อมเป็นไปเพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการดำเนินกระบวนพิจารณาส่วนการวินิจฉัยข้อเท็จจริงต้องวินิจฉัยจากถ้อยคำพยานที่โจทก์จำเลยนำสืบประกอบกันโดยพิจารณาตามภาระหน้าที่ในการพิสูจน์ของแต่ละฝ่ายหาใช่ฝ่ายใดมีหน้าที่นำพยานเข้าสืบก่อนแล้วจะต้องวินิจฉัยจากพยานหลักฐานของฝ่ายนั้นแต่เพียงฝ่ายเดียวไม่ โจทก์กล่าวอ้างว่าบ้านและที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ที่1กึ่งหนึ่งอีกกึ่งหนึ่งเป็นมรดกของจ. สามีโจทก์ที่1ซึ่งตกได้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยในฐานะทายาทส่วนละเท่าๆกันจำเลยต่อสู้ว่าบ้านและที่ดินพิพาทจำเลยเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียวตามข้อตกลงของทายาทจำเลยครอบครองโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมากกว่า10ปีแล้วจึงได้สิทธิครอบครองเป็นเรื่องที่จำเลยกล่าวอ้างว่าบ้านและที่ดินพิพาทมีการแบ่งปันตกมาเป็นของจำเลยแม้จำเลยเป็นผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์และได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1373จำเลยยังต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าจำเลยได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์สินตามข้อตกลงของทายาทโดยชอบและได้ครอบครองเพื่อตนและโดยสุจริตอันเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยยกขึ้นใหม่อีกด้วย หนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการซึ่งเจ้าพนักงานได้ออกให้เพื่อแสดงว่าผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ครอบครองและได้ทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวถือได้ว่าเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน

ย่อยาว

โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7และจำเลยต่างเป็นบุตรของโจทก์ที่ 1 กับนายจันทร์ เพียผิวเดิมโจทก์ที่ 1 กับนายจันทร์เป็นเจ้าของทรัพย์พิพาทคือที่ดินสำหรับอยู่อาศัย 1 แปลง และบ้านเลขที่ 89 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าว กับที่ดินสำหรับทำนาอีก 1 แปลง เมื่อนายจันทร์เสียชีวิตทรัพย์พิพาทดังกล่าวในส่วนของนายจันทร์จึงเป็นทรัพย์มรดกตกแก่ทายาท เมื่อ พ.ศ. 2520 โจทก์ที่ 1 ให้จำเลยแจ้งการครอบครองที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง และได้ออกเอกสารสิทธิเป็น น.ส.3 ก.เลขที่ 4796 และ น.ส.3 ก. เลขที่ 468 เป็นชื่อของจำเลยแทนทายาททุกคน ต่อมา พ.ศ. 2535 โจทก์ที่ 1 ขอให้จำเลยแบ่งปันทรัพย์พิพาทให้แก่ทายาท แต่จำเลยปฏิเสธ ขอให้ศาลพิพากษาให้แบ่งทรัพย์พิพาทคือที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 4796 และบ้านเลขที่ 89ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าว และที่นาตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 468แก่โจทก์ที่ 1 กึ่งหนึ่ง ส่วนทรัพย์พิพาทอีกกึ่งหนึ่งซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายจันทร์ ให้แบ่งแก่โจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยคนละส่วนเท่า ๆ กัน หากไม่สามารถแบ่งได้ ขอให้นำทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งตามส่วนดังกล่าว และขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินอำเภอเมืองขอนแก่นจดทะเบียนในทรัพย์พิพาทตามส่วนดังกล่าว
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยได้ตกลงแบ่งทรัพย์พิพาทโดยตกลงให้ทรัพย์พิพาทแก่จำเลยและตกลงให้จำเลยเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ที่ 1 กับให้โจทก์ที่ 6 อาศัยอยู่ในบ้านเลขที่ 89และโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ตกลงรับแบ่งโคไปคนละ 1 ตัว ต่อมา พ.ศ. 2520จำเลยจึงได้ขอออกเอกสารสิทธิในที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง เป็นน.ส.3 ก. และจำเลยได้ครอบครองทรัพย์พิพาทมาโดยตลอดกว่า 10 ปีแล้วจำเลยจึงได้สิทธิครอบครองในที่พิพาท โจทก์ทั้งเจ็ดไม่ได้ดำเนินคดีภายใน 1 ปี ฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ดจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งทรัพย์พิพาททั้งหมดคือที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 4796 ตำบลโคกสีอำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น พร้อมบ้านเลขที่ 89 และที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 468 ตำบลโคกสี อำเภอเมืองขอนแก่นจังหวัดขอนแก่น ให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวนเก้าในสิบหกส่วน ให้แก่โจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 7 คนละหนึ่งในสิบหกส่วน หากไม่สามารถแบ่งได้ให้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาแบ่งปันกันคำขออื่นให้ยก
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์ที่พิพาทตามฟ้องแล้วหรือไม่ และฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยประเด็นแรกให้ภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลย ส่วนประเด็นที่สองให้ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์แล้วให้จำเลยนำสืบก่อนและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การกำหนดประเด็นข้อพิพาทเป็นการกำหนดเพื่อให้ได้ความชัดในประเด็นข้อพิพาทของคู่ความ แต่การกำหนดให้ฝ่ายใดนำสืบพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใดก่อนหรือหลังย่อมเป็นไปเพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการดำเนินกระบวนพิจารณาส่วนการวินิจฉัยข้อเท็จจริงต้องวินิจฉัยจากถ้อยคำพยานที่โจทก์จำเลยนำสืบมาประกอบกัน โดยพิจารณาตามภาระหน้าที่ในการพิสูจน์ของแต่ละฝ่าย หาใช่ฝ่ายใดมีหน้าที่นำพยานเข้าสืบก่อนแล้วจะต้องวินิจฉัยจากพยานหลักฐานของฝ่ายนั้นแต่เพียงฝ่ายเดียวไม่สำหรับคดีนี้โจทก์กล่าวอ้างว่า บ้านและที่ดินพิพาทตามฟ้องเป็นของโจทก์ที่ 1 กึ่งหนึ่ง ส่วนอีกกึ่งหนึ่งเป็นมรดกของนายจันทร์เพียผิว สามีโจทก์ที่ 1 ซึ่งตกได้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยในฐานะทายาทส่วนละเท่า ๆ กัน จำเลยให้การต่อสู้ว่าบ้านและที่ดินพิพาทจำเลยเป็นเจ้าของครอบครองแต่ผู้เดียว ตามข้อตกลงของทายาทในการแบ่งทรัพย์สินของบิดามารดาให้แก่บุตร และจำเลยครอบครองโดยความสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมากกว่า 10 ปีแล้วจึงได้สิทธิครอบครองโจทก์มิได้ดำเนินคดีภายในกำหนด 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ดังนี้ จึงเป็นเรื่องที่จำเลยกล่าวอ้างว่าบ้านและที่ดินพิพาทตามฟ้องได้มีการแบ่งปันตกมาเป็นของจำเลยโดยชอบจนกระทั่งจำเลยได้มาซึ่งสิทธิครอบครองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) ตามเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 แล้ว แม้จะปรากฎว่าจำเลยเป็นผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)ดังกล่าวและได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองก็ตามแต่จำเลยยังต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าจำเลยได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์สินที่บิดามารดายกให้ตามข้อตกลงของทายาทโดยชอบและได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการได้มาซึ่งสิทธิครอบครองดังกล่าวว่า ได้ครอบครองเพื่อตนและโดยสุจริต อันเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยยกขึ้นมาใหม่อีกด้วยดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า “โจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยได้ตกลงแบ่งทรัพย์พิพาทตามฟ้องแล้วหรือไม่” และ”ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่” แล้วให้จำเลยเป็นฝ่ายมีหน้าที่นำสืบก่อนทั้งสองประเด็นโดยที่ประเด็นข้อหลังภาระการพิสูจน์ตกโจทก์และวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยประกอบกันนั้นชอบด้วยกระบวนวิธีพิจารณาความแล้วแต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1วินิจฉัยว่า หนังสือรับรองการทำประโยชน์มิใช่ทะเบียนที่ดินและผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์มิใช่ผู้มีชื่อในทะเบียนที่ดิน จึงไม่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยเพราะหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการซึ่งเจ้าพนักงานได้ออกให้เพื่อแสดงว่าผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ครอบครองและได้ทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดินศาลฎีกาคงเห็นพ้องด้วยในผลของคำพิพากษาเท่านั้น ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share