แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ตายขึ้นรถยนต์กระบะของจำเลยแล้วออกจากร้านอาหารไปด้วยกัน จำเลยขับรถพาผู้ตายไปที่โรงแรม ขณะที่จำเลยอุ้มและลากผู้ตายเพื่อจะเข้าไปในห้องพัก พยานโจทก์เห็นเหตุการณ์และพบว่า ผู้ตายมีบาดแผลมีโลหิตไหลที่ศีรษะ โจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่า จำเลยทำร้ายร่างกายผู้ตาย จะสันนิษฐานจากบาดแผลที่ผู้ตายได้รับว่าเป็นเพราะผู้ตายถูกจำเลยทำร้ายหาได้ไม่ พยานหลักฐานเช่นนี้ถือเป็นพยานหลักฐานที่มีข้อน่าสงสัยตามสมควร ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้ตายได้
ผู้ตายซึ่งมีสามีแล้วไม่ได้ยินยอมไปโรงแรมกับจำเลยตั้งแต่ต้น บาดแผลที่ปรากฏให้เห็นภายนอกร่างกายของผู้ตายซึ่งมีโลหิตไหลจากศีรษะและรูหูทั้งสองข้าง วิญญูชนทั่วไปย่อมทราบดีว่าผู้ตายอาการหนักต้องรีบนำผู้ตายไปโรงพยาบาลแทนที่จะพาผู้ตายเข้าโรงแรม และยังปรากฏว่าจำเลยขับรถพาผู้ตายออกจากร้านอาหารผ่านบ้านพักผู้ตายแล้วขับรถวกวนจนกระทั่งพาผู้ตายไปโรงแรมซึ่งอยู่คนละเส้นทาง เชื่อว่า จำเลยไม่มีเจตนาพาผู้ตายไปส่งบ้านพัก หากจำเลยนำผู้ตายไปส่งบ้านพักตามความต้องการของผู้ตายแล้ว เหตุคดีนี้คงไม่เกิดขึ้น การที่ผู้ตายตกลงจากรถจนถึงแก่ความตายเป็นเพราะผู้ตายไม่ต้องการไปกับจำเลยตามเจตนาของจำเลย สาเหตุที่ผู้ตายถึงแก่ความตายจึงเป็นผลโดยตรงจากการที่ผู้ตายถูกจำเลยหน่วงเหนี่ยวกักขังให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290, 310
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายอธิราช สามีของผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรก ให้จำคุก 2 ปี คำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เห็นควรลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ร่วมและจำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ร่วม จำเลยกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้ตายด้วยหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่า จำเลยทำร้ายร่างกายผู้ตาย จะสันนิษฐานจากบาดแผลที่ผู้ตายได้รับว่าเป็นเพราะผู้ตายถูกจำเลยทำร้ายตามที่โจทก์ร่วมฎีกาหาได้ไม่ เพราะอาจจะเป็นความจริงหรือไม่ก็ได้ พยานหลักฐานเช่นนี้ถือเป็นพยานหลักฐานที่มีข้อน่าสงสัยตามสมควรตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลล่างทั้งสองไม่ลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ปัญหาของโจทก์ร่วมที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า การที่ผู้ตายถึงแก่ความตายเป็นผลโดยตรงจากที่ผู้ตายถูกจำเลยหน่วงเหนี่ยวกักขังให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายหรือไม่ จากพฤติการณ์แห่งคดีตามข้อเท็จจริงที่ฟังได้เป็นยุติ แสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่า ผู้ตายซึ่งมีสามีแล้วไม่ได้ยินยอมไปโรงแรมไผ่เขียวกับจำเลยตั้งแต่ต้น จำเลยเองก็นำสืบยอมรับว่า ผู้ตายขอให้จำเลยไปส่งบ้าน แต่จำเลยขับรถหลงทาง ระหว่างนั้นผู้ตายชะโงกหน้าต่างรถออกไปอาเจียนทำให้ตกจากรถ จำเลยอุ้มผู้ตายกลับขึ้นรถ ผู้ตายบอกว่าไม่เป็นอะไรมาก แต่อ้างเหตุที่พาผู้ตายไปโรงแรมไผ่เขียวไม่พาผู้ตายไปส่งบ้านหรือโรงพยาบาลว่าเพื่อพักผ่อน เมื่อพิจารณาหน้าต่างรถจำเลยที่เกิดเหตุตามภาพถ่ายแล้ว ปรากฏว่า หน้าต่างรถมีความกว้าง 36.5 เซนติเมตร ความยาว 47 เซนติเมตร หน้าต่างรถที่มีพื้นที่ขนาดนี้ หากผู้ตายประสงค์จะโผล่หน้าออกมาอาเจียน ย่อมไม่มีทางที่ผู้ตายจะตกลงมาจากรถได้ นอกจากนี้บาดแผลที่ผู้ตายได้รับเป็นบาดแผลฉกรรจ์ แม้บางส่วนจะเป็นบาดแผลภายในแต่บาดแผลที่ปรากฏให้เห็นภายนอกร่างกายของผู้ตายซึ่งมีโลหิตไหลจากศีรษะและรูหูทั้งสองข้าง บุคคลทั่วไปย่อมรู้ว่าเป็นเรื่องร้ายแรง และเมื่อจำเลยพาผู้ตายถึงโรงแรม นางบัวสอน แม่บ้านโรงแรมไผ่เขียวซึ่งมีหน้าที่เปิดห้องพัก ได้มาเบิกความเป็นพยานว่า ได้ยินเสียงผู้ตายร้องลักษณะมีอาการเจ็บปวดอยู่ในรถ เมื่อได้รับเงินค่าเปิดห้องจากจำเลยแล้วนำไปที่ห้องทำงานเพื่อนำเงินทอนกลับมาให้จำเลย ก็ยังคงได้ยินเสียงร้องอยู่ในรถ นายธีรวัฒน์ เจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญูเบิกความว่า ได้ช่วยจำเลยอุ้มผู้ตายเข้าไปในห้อง ผู้ตายมีโลหิตออกที่ศีรษะขณะนั้นผู้ตายไม่รู้สึกตัวแล้ว เมื่อถามจำเลยว่าจะส่งโรงพยาบาลหรือไม่ จำเลยปฏิเสธ ลักษณะอาการของผู้ตายเช่นนี้ วิญญูชนโดยทั่วไปย่อมทราบดีว่าผู้ตายอาการหนักต้องรีบนำผู้ตายไปโรงพยาบาลแทนที่จะพาผู้ตายเข้าโรงแรม ทั้งได้ความจากพันตำรวจโทศิริชัย พนักงานสอบสวนเบิกความว่า เส้นทางจากร้านอาหารน้องไอซ์ไปโรงแรมไผ่เขียวต้องผ่านบ้านผู้ตาย และยังปรากฏตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุอีกว่า บ้านพักผู้ตายอยู่ทางทิศตะวันตกของร้านอาหารน้องไอซ์ซึ่งตั้งอยู่บนถนนสายเดียวกันแม้ตามแผนที่ไม่ได้ระบุระยะทางว่าห่างเท่าใด แต่ตามแผนที่แสดงว่าจำเลยขับรถพาผู้ตายออกจากร้านอาหารน้องไอซ์ผ่านบ้านพักผู้ตายแล้วขับรถวกวนจนกระทั่งพาผู้ตายไปโรงแรมไผ่เขียวซึ่งอยู่คนละเส้นทาง ทั้งที่จำเลยยอมรับว่า จำเลยเคยรับราชการตำรวจที่สถานีตำรวจภูธรตำบลพระขาว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเคยไปที่อำเภอเสนาบ่อยครั้ง ข้อนำสืบจำเลยจึงไม่มีน้ำหนัก พยานหลักฐานโจทก์เมื่อฟังประกอบเข้าด้วยกันแล้วมีเหตุผลและน้ำหนักต่อเนื่องเชื่อมโยง เชื่อได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยไม่มีเจตนาพาผู้ตายไปส่งบ้านพัก หากจำเลยนำผู้ตายไปส่งบ้านพักตามความต้องการของผู้ตายแล้ว เหตุคดีนี้คงไม่เกิดขึ้น การที่ผู้ตายตกลงจากรถจนถึงแก่ความตายเป็นเพราะผู้ตายไม่ต้องการไปกับจำเลยตามเจตนาของจำเลย สาเหตุที่ผู้ตายถึงแก่ความตายจึงเป็นผลโดยตรงจากการที่ผู้ตายถูกจำเลยหน่วงเหนี่ยวกักขังให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ฎีกาโจทก์ร่วมข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยซึ่งมีเพียงประการเดียวว่า มีเหตุสมควรจะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เมื่อได้วินิจฉัยในปัญหาตามฎีกาของโจทก์ร่วมแล้วว่าการกระทำความผิดของจำเลยเป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้ตายให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ศาลฎีกาก็ต้องกำหนดโทษจำเลยเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งความผิด แต่อย่างไรก็ตาม เห็นว่า การกระทำความผิดของจำเลยเป็นเรื่องร้ายแรงไม่มีเหตุสมควรจะรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคสอง จำคุก 4 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสี่แล้ว คงจำคุก 3 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1