คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4046/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามข้อ 11 แห่งข้อบังคับของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 1 ที่กำหนดว่า “ก่อนจ่ายเงินโบนัสตามข้อบังคับนี้ให้ กทพ. หักเงินดังกล่าวชดใช้หนี้สินผูกพันหรือค่าเสียหายที่พนักงานผู้นั้นได้มีอยู่กับหรือก่อให้เกิดแก่ กทพ. ให้ครบถ้วนเสียก่อน” เป็นการให้สิทธิหักกลบลบหนี้ตาม ป.พ.พ. ซึ่งตามมาตรา 344 สิทธิเรียกร้องใดยังมีข้อต่อสู้อยู่ จะเอามาหักกลบลบหนี้ไม่ได้ แม้จำเลยที่ 1 มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยกล่าวหาว่าโจทก์นำส่งเงินค่าผ่านทางพิเศษไม่ครบ อันเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงในเรื่องทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหาย 45,910 บาท แก่จำเลยที่ 1 แต่โจทก์ก็นำสืบต่อสู้ว่าที่จำเลยที่ 1 กล่าวหาว่าโจทก์ยักยอกเงิน นั้นไม่เป็นความจริง ความจริงมีเงินหายไป จำเลยที่ 1 ไม่สามารถสืบทราบว่าผู้ใดกระทำผิด จึงใส่ร้ายโจทก์เนื่องจากโจทก์มีตำแหน่งต่ำสุด ถือได้ว่าเป็นกรณีที่สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ยังมีข้อต่อสู้อยู่ จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจหักเงินโบนัสซึ่งโจทก์มีสิทธิจะได้รับเพื่อชดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์ก่อให้เกิดแก่จำเลยที่ 1

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทรัฐวิสาหกิจจัดตั้งขึ้นตามประกาศของคณะปฏิวัติ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ว่าการมีหน้าที่บริหารกิจการของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2539 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้จ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งพนักงานเก็บค่าผ่านทางพิเศษระดับ 3 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 7,640 บาท โจทก์ทำงานกับจำเลยทั้งสองระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2544 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2545 ครบ 1 ปีมิได้ถูกสอบสวนความผิดทางวินัยและมิได้ถูกลงโทษทางวินัยในปีงบประมาณ 2545 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินโบนัสประจำปี 2545 เป็นเงิน 12,526.71 บาท โจทก์ทวงถาม แต่จำเลยทั้งสองปฏิเสธ เพราะกรณีของโจทก์เข้าข้อบังคับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 114 ข้อ 6, 9, 10, 11 ซึ่งไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายเงินโบนัสประจำปีงบประมาณ 2545 เป็นเงิน 12,526.71 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสตามฟ้องเพราะโจทก์ถูกจำเลยทั้งสองไล่ออกจากงานกล่าวหาว่าทุจริตต่อหน้าที่ โดยนำเงินค่าผ่านทางพิเศษ 45,910 บาท ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของโจทก์ไป โจทก์จะต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวคืนแก่จำเลยที่ 1 วันที่ 4 มิถุนายน 2546 จำเลยที่ 1 มีหนังสือบอกกล่าวให้โจทก์ชดใช้เงิน 45,910 บาท คืนแก่จำเลยที่ 1 ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากโจทก์เพิกเฉยไม่ชำระ จำเลยที่ 1 จะดำเนินการนำเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับมาหักชำระค่าเสียหายจนครบจำนวน โจทก์ได้รับหนังสือแล้วแต่เพิกเฉยและตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มีสิทธิหักเงินโบนัสชดใช้หนี้สินผูกพันหรือค่าเสียหายที่โจทก์มีอยู่หรือก่อให้เกิดแก่จำเลยที่ 1 ได้ เมื่อหักแล้วไม่มีเงินโบนัสเหลือ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัส ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์จำเลยทั้งสองและคำแถลงรับของจำเลยทั้งสองแล้วรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เป็นพนักงานเก็บค่าผ่านทางพิเศษระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2544 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2545 โจทก์ทำงานครบ 1 ปี โดยมิได้ถูกสอบสวนและลงโทษทางวินัย โจทก์มีสิทธิได้รับเงินโบนัสประจำปีงบประมาณ 2545 เป็นเงิน 12,526.71 บาท แต่จำเลยที่ 1 ไม่จ่ายเงินโบนัสให้โจทก์ โดยเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2545 จำเลยที่ 1 มีคำสั่งพักงานโจทก์ กล่าวหาว่าโจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงเรื่องทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามคำสั่งการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเอกสารหมาย ล.4 ต่อมา เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2546 จำเลยที่ 1 มีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานตั้งแต่วันที่พักงาน (วันที่ 12 พฤศจิกายน 2545) โดยกล่าวหาว่าโจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อหาที่ได้มีคำสั่งพักงานโจทก์เนื่องจากโจทก์นำส่งเงินค่าผ่านทางพิเศษไม่ครบจำนวนที่ระบุไว้ในใบนำส่งเป็นเงิน 45,910 บาท ตามคำสั่งการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเอกสารหมาย ล.6 เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2546 จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหาย 45,910 บาท แก่จำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย ล.5 โจทก์รับหนังสือดังกล่าวแล้วแต่โจทก์มิได้ชำระค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 โจทก์อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ไล่โจทก์ออกจากงานต่อคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 คณะกรรมการของจำเลยที่ 1 มีคำสั่งยืนตามคำสั่งลงโทษของจำเลยที่ 1 และให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ตามคำสั่งครั้งที่ 8/2546 เรื่อง อุทธรณ์คำสั่งลงโทษไล่ออกเอกสารหมาย ล.2 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันจ่ายเงินโบนัสประจำปีงบประมาณ 2545 เป็นเงิน 12,526.71 บาทแก่โจทก์โดยจำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะหักเงินโบนัสดังกล่าวเพื่อชดใช้ค่าเสียหาย ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์จะต้องชำระแก่จำเลยที่ 1 ตามข้อบังคับการทางพิเศษแห่งประเทศไทยฉบับที่ 114 ว่าด้วยการจ่ายเงินโบนัสพนักงานเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 11 หรือไม่ เห็นว่า ตามข้อ 11 แห่งข้อบังคับของจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย ล.1 ที่กำหนดว่า “ก่อนจ่ายเงินโบนัสตามข้อบังคับนี้ให้ กทพ. หักเงินดังกล่าวชดใช้หนี้สินผูกพันหรือค่าเสียหายที่พนักงานผู้นั้นได้มีอยู่กับหรือก่อให้เกิดแก่ กทพ. ให้ครบถ้วนเสียก่อน” ข้อบังคับดังกล่าวก็คือการใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั่นเอง ซึ่งตามมาตรา 344 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องใดยังมีข้อต่อสู้อยู่ สิทธิเรียกร้องนั้นท่านว่าหาอาจจะเอามาหักกลบลบหนี้ได้ไม่…” แม้ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาได้ความว่าจำเลยที่ 1 มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยกล่าวหาว่าโจทก์นำส่งเงินค่าผ่านทางพิเศษไม่ครบตามจำนวนดังที่ระบุไว้ในใบนำส่งเงินค่าผ่านทางพิเศษเป็นเงิน 45,910 บาท อันเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงในเรื่องทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและให้โจทก์ดำเนินการชดใช้ค่าเสียหายจำนวนเงิน 45,910 บาท แก่จำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่โจทก์ก็นำสืบต่อสู้ในคดีนี้ว่าที่จำเลยที่ 1 กล่าวหาว่าโจทก์ยักยอกเงินของจำเลยที่ 1 นั้นไม่เป็นความจริง ความจริงที่แผนกโจทก์ทำงานมีเงินหายไป จำเลยที่ 1 ไม่สามารถสืบทราบว่าผู้ใดกระทำผิด จึงใส่ร้ายโจทก์เนื่องจากโจทก์มีตำแหน่งต่ำสุด การที่โจทก์ปฏิเสธว่าโจทก์ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 ถือได้ว่าเป็นกรณีที่สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ยังมีข้อต่อสู้อยู่ จำเลยที่ 1 ย่อมไม่อาจนำมาหักกลบลบหนี้ได้ตามบทบัญญัติข้างต้น จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจหักเงินโบนัสประจำปีงบประมาณ 2545 เป็นเงิน 12,526.71 บาท ซึ่งโจทก์มีสิทธิจะได้รับเพื่อชดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์ก่อให้เกิดแก่จำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิหักเงินโบนัสประจำปีงบประมาณ 2545 ซึ่งโจทก์มีสิทธิจะได้รับแล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ต่อไป”
พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 12,526.71 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 23 พฤษภาคม 2546) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว

Share