คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14580/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

งานที่จะมีลิขสิทธิ์ได้นั้นต้องเป็นงานสร้างสรรค์ซึ่งผู้สร้างสรรค์ได้ทำหรือก่อให้เกิดขึ้นด้วยการริเริ่มของตนเองโดยใช้ความรู้ความสามารถและความวิริยะอุตสาหะ จนทำให้งานนั้นสำเร็จจนถึงขนาดที่เรียกได้ว่าเป็นงานสร้างสรรค์โดยไม่ได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต
ลายผ้าของโจทก์ร่วมเป็นเพียงการนำลายโบราณมาปรับเปลี่ยนขนาดและเพิ่มเติมรายละเอียดของลายเพียงเล็กน้อยเพื่อให้ได้จำนวนลายที่สมบูรณ์บนผ้าและเหมาะกับเครื่องทอผ้า โดยยังคงเค้าโครงหลักของลายโบราณ เป็นเพียงงานคลี่คลายลายโบราณ แต่ไม่ได้ใช้ความสามารถและจินตนาการของตนผูกลายเพิ่มขึ้นมาใหม่ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ การที่โจทก์ร่วมเพียงแต่นำรูปแบบลายผ้ามาเลียนหรือประกอบเข้าด้วยกันแล้วเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมลายโบราณในส่วนของรายละเอียดเพียงเล็กน้อยมีลักษณะเป็นการคัดลอกหรือเลียนแบบหรือทำซ้ำซึ่งลวดลายของผ้าที่มีมาแต่โบราณซึ่งตกเป็นงานสาธารณะแล้วเท่านั้น ไม่ได้ทำหรือก่อให้เกิดงานโดยเปลี่ยนรูปใหม่หรือปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ งานดังกล่าวจึงไม่ใช่งานดัดแปลงงานที่มีมาแต่โบราณซึ่งตกเป็นงานสาธารณะแล้วถึงขนาดที่เรียกได้ว่าเป็นงานสร้างสรรค์ประเภทงานศิลปประยุกต์อันจะถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 และมาตรา 6

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 27, 31, 69, 70, 75 และ 76 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83 และ 91 ให้ผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายของกลางตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ สั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ และริบเครื่องจักรทอผ้าของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัทกรุงเจริญอุตสาหกรรมสิ่งทอ จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง ให้คืนผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องจักรทอผ้าของกลางแก่เจ้าของ
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์โดยทำซ้ำดัดแปลงลายผ้าซึ่งเป็นงานศิลปประยุกต์อันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมลงในผ้าและผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ ของจำเลยทั้งสาม และนำผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่จำเลยทั้งสามได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมออกขาย เสนอขาย และมีไว้เพื่อขายเพื่อหากำไรและเพื่อการค้าตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 และมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) ตามฟ้องหรือไม่ เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า ลายผ้าทั้งเจ็ดตามวัตถุพยาน เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมหรือไม่ เห็นว่า งานที่จะมีลิขสิทธิ์ได้นั้นต้องเป็นงานสร้างสรรค์ซึ่งผู้สร้างสรรค์ได้ทำหรือก่อให้เกิดขึ้นด้วยการริเริ่มของตนเองโดยใช้ความรู้ความสามารถและความวิริยะอุตสาหะ จนทำให้งานนั้นสำเร็จจนถึงขนาดที่เรียกได้ว่าเป็นงานสร้างสรรค์โดยไม่ได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต โจทก์และโจทก์ร่วมมีนางสาววิภาวรรณ พนักงานบริษัทโจทก์ร่วมมาเบิกความเป็นพยานว่า พยานเป็นผู้ออกแบบลายผ้าขิดคลองลานช้างทรงเครื่องเบอร์ 1 ผ้าขิดคลองลานช้างฉัตรทองเบอร์ 1 ผ้าขิดคลองลานช้างฝนตก ผ้าขิดคลองลานลายจีนเชิงช้าง และผ้าขิดคลองลานลายมะลิเชิงช้าง ในการออกแบบลายผ้าขิดคลองลานช้างทรงเครื่องเบอร์ 1 โจทก์ร่วมต้องการให้ช้างมีลักษณะพิเศษไม่เหมือนช้างโบราณทั่วไป พยานจึงปรับปรุงแก้ไขลายช้างหลายครั้งและนำลวดลายโบราณต่าง ๆ เช่น ลายประจำยามก้ามปูซึ่งเป็นลวดลายของผ้าชาวเขาและลายดอกแก้วมาประยุกต์ใช้ ในการออกแบบลายผ้าขิดคลองลานช้างฉัตรทองเบอร์ 1 ลายช้างนั้นพยานได้ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต หนังสือรูปสัตว์ และแนวคิดของผู้บริหาร พยานจึงวาดลายช้างใหม่โดยมีลักษณะพิเศษคือ ชูงวงออกจากตัวและก้าวเดินไปข้างหน้า ด้านหลังช้างเป็นลายไทยซึ่งได้แนวคิดมาจากหนังสือลายไทย วาดลายภาพตัวช้างเป็นกรอบสี่เหลี่ยมโดยนำแนวคิดมาจากหนังสือผ้าไทย ส่วนสามเหลี่ยมที่เหลือทั้งสี่ด้านพยานนำแนวคิดมาจากหนังสือเส้นสายลายศิลป์ซึ่งเป็นลายตะวันตก ในการออกแบบลายผ้าขิดคลองลานช้างฝนตก พยานนำลวดลายผ้าไหมเอราวัณเบอร์ 1 ของนายวิชิต มาปรับปรุงสร้างสรรค์ขึ้นใหม่จากช้างที่มีลักษณะงวงเข้าหาตัวดัดแปลงเป็นชูงวงออกจากตัว แล้วออกแบบลายไทยและลายคั่น ในการออกแบบผ้าขิดคลองลานลายจีนเชิงช้างและผ้าขิดคลองลานลายมะลิเชิงช้างมีการออกแบบเหมือนกัน โจทก์ร่วมต้องการให้นำลายผ้าขิดคลองลานลายจีนและผ้าขิดคลองลานลายมะลิที่นายวิชิตเคยออกแบบไว้มาประยุกต์ใหม่เพื่อนำไปใช้เป็นผ้าคลุมเตียง โดยให้เชิงผ้าคลุมเตียงมีลายช้างเป็นองค์ประกอบหลัก พยานจึงนำลายช้างจากผ้าขิดคลองลานช้างฉัตรทองเบอร์ 1 มาประยุกต์ใช้ให้มีขนาดเล็กลง ส่วนเชิงผ้าพยานได้ข้อมูลจากหนังสือแฟชั่นผ้าไทย อินเทอร์เน็ต และจากการศึกษาดูงาน แล้วคิดลายเส้นนกคู่ขึ้นมาซึ่งนำมาจากผ้าแพรวา และออกแบบลายคั่น พยานจัดทำรายละเอียดที่มาและขั้นตอนการออกแบบลายผ้า และนายอภิยศ พนักงานบริษัทโจทก์ร่วมมาเบิกความเป็นพยานโจทก์และโจทก์ร่วมว่า พยานเป็นผู้ออกแบบผ้าไหมเชิงคชสารและผ้าคาดเตียงลายกนกทองโดยจัดเก็บข้อมูลรายละเอียดที่มาและขั้นตอนการออกแบบลายผ้า ในการออกแบบลายผ้าไหมเชิงคชสาร พยานออกแบบลายช้างโดยดูจากหนังสือหลักการดูช้าง คชสารของตำราไทย พยานออกแบบลายเกี้ยวเชือกซึ่งร้อยด้วยอัญมณีจำนวน 76 เม็ด ล้อมตัวช้าง ส่วนลายด้านบนและด้านล่างของช้างพยานผูกลายขึ้นใหม่โดยนำลายของใบอะแคนธัสผสมผสานกับลายเหงาซึ่งเป็นลายไทย ส่วนเชิงด้านล่างพยานผูกลายโดยนำลายเชิงพุ่มโบราณมาดัดแปลงกับใบอะแคนธัส สำหรับการออกแบบผ้าคาดเตียงลายกนกทอง พยานออกแบบโดยใช้ลายนางอัปสรซึ่งเป็นศิลปะเขมร เชิงผ้าพยานดูจากตำราลายไทยของพระเทวาภินิมมิตและปราสาทบันทายศรีซึ่งเป็นการแกะสลักหินของราชอาณาจักรกัมพูชา ส่วนช่องท้องลายของผ้าพยานออกแบบเป็นรูปดอกรักผ่าซีกซึ่งไม่เคยมีใครออกแบบมาก่อน จากพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมดังกล่าว เมื่อพิเคราะห์รายละเอียดที่มาและขั้นตอนการออกแบบลายผ้า เห็นได้ว่า ลายที่นางสาววิภาวรรณและนายอภิยศประยุกต์จากลายโบราณนั้นเป็นเพียงการนำลายโบราณมาปรับเปลี่ยนขนาดและเพิ่มเติมรายละเอียดของลายเพียงเล็กน้อยเพื่อให้ได้จำนวนลายที่สมบูรณ์บนผ้าและเหมาะกับเครื่องทอผ้า โดยยังคงเค้าโครงหลักของลาย แต่ไม่ได้ใช้ความสามารถและจินตนาการของตนผูกลายเพิ่มขึ้นมาใหม่ในส่วนสาระสำคัญ ซึ่งนายเผ่าทอง พยานโจทก์และโจทก์ร่วมก็เบิกความว่า หากพิจารณาถึงลายย่อย ๆ ที่ปรากฏในผืนผ้า พยานจะรู้จักรายละเอียดของลายย่อยดังกล่าว และเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถามค้านว่า ลายผ้าทั้งเจ็ดที่มีลายช้างนั้นเป็นลายช้างซึ่งมีมาแต่โบราณทั้งหมด ลายผ้าซึ่งเป็นลายละเอียดเล็ก ๆ ที่ปรากฏในลายผ้าทั้งเจ็ดเป็นลายผ้าโบราณ ซึ่งนางสาววิภาวรรณก็เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถามค้านรับว่า ลายผ้าที่พยานออกแบบนั้นจะมีรูปช้างเป็นหลัก ส่วนลายอื่นที่เป็นองค์ประกอบนั้นคล้ายคลึงกับลายโบราณ และนายอภิยศเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถามค้านว่า ลายผ้าไหมเชิงคชสารลูกค้าจะเรียกว่าลายช้างวงกลมซึ่งมีวางขายในท้องตลาดมาก่อน ส่วนที่นายอภิยศเบิกความว่า พยานออกแบบลายเกี้ยวเชือก ผูกลายขึ้นใหม่จากลายของใบอะแคนธัสผสมผสานกับลายเหงา เชิงด้านล่างพยานผูกลายจากลายเชิงพุ่มโบราณมาดัดแปลงกับใบอะแคนธัสนั้น นายเผ่าทองก็เบิกความว่า ลายดังกล่าวเป็นลายรูปประคำ ลายก้านขด และลายกรวยเชิงหรือกรุยเชิง ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นลายโบราณ สำหรับการนำลายมาจัดเรียงในผ้านั้น นางสาววิภาวรรณเบิกความว่า พยานนำแนวคิดมาจากหนังสือผ้าไทย หนังสือเส้นสายลายศิลป์ อินเทอร์เน็ต และหนังสือหญิงไทย นายอภิยศเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถามค้านว่า ผ้าคาดเตียงลายกนกทอง การจัดวางรูปแบบของลายผ้านั้นเป็นรูปแบบมาตรฐาน แสดงให้เห็นว่าการจัดเรียงลายในลายผ้าทั้งเจ็ดนั้นเป็นรูปแบบลายผ้าที่มีอยู่แล้ว เจือสมกับนายวิถี ผู้เชี่ยวชาญศูนย์วัฒนธรรมล้านนาศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร และผู้เชี่ยวชาญลายผ้าไทย ที่ปรึกษาของงานพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ (ด้านผ้าโบราณ) พยานจำเลยทั้งสามที่เบิกความว่า ลายผ้าทั้งเจ็ดของโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 มีองค์ประกอบคล้ายกัน การจัดเรียงคล้ายคลึงกัน และคล้ายคลึงกับผ้าต้นแบบที่จำเลยที่ 1 นำมาเป็นต้นแบบในการจัดทำลายผ้าทั้งเจ็ด การออกแบบลายผ้าทั้งเจ็ดไม่จำเป็นต้องใช้ช่างฝีมือเพราะมีลายผ้าต้นแบบอยู่แล้ว การจัดเรียงและวางองค์ประกอบก็ไม่ต้องอาศัยความชำนาญพิเศษ ไม่ต้องอาศัยแรงบันดาลใจหรือพรสวรรค์พิเศษในการจัดเรียงและจัดวาง เพียงแต่ดูว่าลายผ้าดังกล่าวจะขายได้หรือไม่ ลายผ้าทั้งเจ็ดเป็นการคลี่คลายรูปแบบผ้าโบราณ คือ การเอารูปแบบโบราณมาปรับเล็กน้อยใช้ตำแหน่งของลูกหรือลวดลายของผ้าตามความคิดที่ว่าลูกค้าหรือคนที่ใช้ผ้าดังกล่าวจะเป็นที่นิยม องค์ประกอบและลายผ้าทั้งเจ็ดเป็นลายโบราณทั้งสิ้น เพียงแต่เป็นลายคลี่คลาย ย่อหด ขยาย โยกย้าย ซึ่งในงานศิลปะหรืองานช่างถือว่างานดังกล่าวเป็นงานคลี่คลายไม่ใช่งานใหม่ งานใหม่ตามแนวคิดของศิลปะที่จะถือว่าเป็นงานสร้างสรรค์นั้นจะต้องมากกว่าร้อยละ 50 แต่ลายทั้งเจ็ดแตกต่างจากลายโบราณเดิมไม่เกินร้อยละ 10 จึงถือว่าเป็นลายคลี่คลายมากกว่า ลายผ้าทั้งเจ็ดหากไม่เคยเห็นมาก่อนไม่สามารถจินตนาการสร้างสรรค์ได้ ดังนั้น การที่นางสาววิภาวรรณและนายอภิยศเพียงแต่นำรูปแบบลายผ้ามาเลียนหรือประกอบเข้าด้วยกันแล้วเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมลายโบราณในส่วนของรายละเอียดเพียงเล็กน้อยมีลักษณะเป็นการคัดลอกหรือเลียนแบบหรือทำซ้ำซึ่งลวดลายของผ้าที่มีมาแต่โบราณซึ่งตกเป็นงานสาธารณะแล้วเท่านั้น ไม่ได้ทำหรือก่อให้เกิดงานโดยเปลี่ยนรูปใหม่หรือปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ งานดังกล่าวจึงไม่ใช่งานดัดแปลงงานที่มีมาแต่โบราณซึ่งตกเป็นงานสาธารณะแล้วถึงขนาดที่เรียกได้ว่าเป็นงานสร้างสรรค์ประเภทงานศิลปประยุกต์อันจะถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 และมาตรา 6 พยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบมายังไม่มีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้ว่าลายผ้าทั้งเจ็ดตามวัตถุพยาน เป็นงานสร้างสรรค์ประเภทงานศิลปประยุกต์อันมีลิขสิทธิ์ นอกจากนี้โจทก์และโจทก์ร่วมก็ไม่มีพยานหลักฐานใดมายืนยันว่าจำเลยทั้งสามนำเอาลายผ้าทั้งเจ็ดของโจทก์ร่วมไปทำซ้ำหรือดัดแปลง แต่ข้อเท็จจริงกลับได้ความจากพยานหลักฐานของโจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยทั้งสามว่าลายผ้าทั้งเจ็ดของโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 มีองค์ประกอบคล้ายกัน ข้อเท็จจริงมีเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยทั้งสามก็ใช้ลายผ้าที่มีมาแต่โบราณพิมพ์ลงในผ้าและผลิตภัณฑ์สิ่งทอของจำเลยทั้งสามเช่นเดียวกับโจทก์ร่วม พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์โดยทำซ้ำดัดแปลงลายผ้าของโจทก์ร่วมลงในผ้าและผลิตภัณฑ์สิ่งทอของจำเลยทั้งสามและนำผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่จำเลยทั้งสามได้ทำขึ้นนั้นออกขาย เสนอขาย และมีไว้เพื่อขายเพื่อหากำไรและเพื่อการค้าตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 และมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสามมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share