คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2685/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าเป็นเจ้าของรถบรรทุกมี ส. เป็นผู้ขับ โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 โดยอาศัยข้อเท็จจริงดังกล่าว แต่พยานจำเลยที่ 1 เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดเพราะมิใช่นายจ้างของ ส.แต่คนขับรถเป็นค. คดีจึงฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถบรรทุก และลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดด้วย แม้ว่าคนขับจะเป็น ส.หรือค. ก็ตาม โจทก์เช่ารถโดยสารมาและถูกรถบรรทุกของจำเลยที่ 1 ชน โจทก์ได้ซ่อมรถโดยสารตามสัญญาเช่า โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายดังกล่าวและค่าขาดรายได้ของรถยนต์โดยสารในระหว่างซ่อมจากจำเลยที่ 1 ได้ ค่าเช่ารถในระหว่างซ่อมรถ โจทก์จะต้องจ่ายแก่ผู้ให้เช่าเป็นเงินลงทุนของโจทก์ที่จะทำให้เกิดรายได้ขึ้น ซึ่งไม่ว่าจะมีเหตุละเมิดเกิดขึ้นหรือไม่ โจทก์ก็ต้องจ่ายอยู่แล้ว ค่าเช่ารถจึงไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน10-5568 กรุงเทพมหานคร โดยเช่ามาจากบริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์จำกัด จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุก หมายเลขทะเบียน 80-0619 ตาก จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2525 นายสมศักดิ์(ไม่ทราบนามสกุล) ลูกจ้างขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 เฉี่ยวชนบริเวณกลางตัวรถด้านขวาของรถยนต์โดยสารของโจทก์ ทำให้รถยนต์ทั้งสองคันเสียหาย โจทก์ได้จ่ายค่าซ่อมแซมรถยนต์โดยสารของโจทก์ เสียค่าเช่าและขาดรายได้ในระหว่างซ่อมรถ 15 วัน ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 108,400 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยที่ 1 มิใช่เจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุ นายสมศักดิ์มิได้เป็นลูกจ้างและมิได้ขับรถในทางการที่จำเลยที่ 1 จ้าง เหตุเกิดมิใช่เพราะความประมาทของนายสมศักดิ์ แต่เป็นความประมาทของผู้ขับรถยนต์โดยสารของโจทก์โดยขับด้วยความเร็วสูงเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดและล้ำเข้าไปในทางเดินรถที่นายสมศักดิ์ขับ โจทก์เรียกค่าเสียหายสูงเกินความจริง
โจทก์ทิ้งฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นค่าซ่อมแซมรถยนต์โดยสารจำนวน 70,000 บาท ค่าขาดประโยชน์และค่าเช่ารถยนต์โดยสารในระหว่างซ่อมแซมรถยนต์โดยสาร 15 วัน เป็นค่าขาดประโยชน์วันละ 1,000 บาท ค่าเช่ารถยนต์โดยสารวันละ 820 บาทและคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 97,300 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2525 เวลาประมาณ 4 นาฬิกานายมนัส พ่วงพลับ ลูกจ้างโจทก์ขับรถยนต์โดยสารของโจทก์หมายเลขทะเบียน 10-5568 กรุงเทพมหานคร มุ่งหน้าสู่กรุงเทพมหานครมาถึงที่เกิดเหตุซึ่งเป็นทางโค้งได้เกิดชนกับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-0619 ตาก ที่แล่นสวนทางมาทำให้รถยนต์โดยสารของโจทก์เสียหายโจทก์จึงฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2526 ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์หรือไม่ เพียงใด และฟ้องของโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่
ปัญหาว่า จำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์หรือไม่เพียงใด… แสดงว่าขณะเกิดเหตุรถยนต์โดยสารมิได้ขับด้วยความเร็วสูง แต่รถยนต์บรรทุกขับด้วยความเร็วสูงแล่นล้ำเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนเข้าไปชนรถยนต์โดยสาร เหตุที่รถยนต์ชนกันจึงเกิดจากความประมาทของคนขับรถยนต์บรรทุก นายชัยยุทธ เกษสุวรรณขนส่งจังหวัดตาก พยานโจทก์เบิกความว่า รถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-0619 ตาก ตามหลักฐานที่ปรากฏในทะเบียนเป็นของจำเลยที่ 1 ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ในฐานะพยานตามเอกสารหมาย ป.จ.3 แผ่นที่ 6 จำเลยที่ 1 ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนยอมรับว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกและนายสมศักดิ์ไม่ทราบนามสกุลเป็นคนขับรถ นายสมศักดิ์นี้ขับรถให้จำเลยที่ 1 นาน 1 ปีเศษ ส่วนจำเลยที่ 1 มีนายวีระยุทธ ลาดเปราะพนักงานของจำเลยที่ 2 มาเบิกความเป็นพยานว่า เจ้าของรถได้โทรศัพท์มาบอกว่านายคำรณ จุลพล เป็นคนขับรถยนต์บรรทุกที่เกิดเหตุจำเลยที่ 1 อ้างตนเองเป็นพยานแต่ไม่ติดใจเข้าเบิกความทั้งจำเลยที่ 1 ก็ได้ยกขึ้นกล่าวอ้างในฎีกาว่า จำเลยที่ 1 มีนายวีระยุทธลาดเปราะมาเบิกความยืนยันว่า คนขับรถยนต์บรรทุกชื่อนายคำรณจุลพล โดยจำเลยที่ 1 เจ้าของรถเป็นคนโทรศัพท์มาบอกพยาน จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะมิใช่นายจ้างของนายสมศักดิ์และนายสมศักดิ์มิได้เป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุนั้นเท่ากับจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกที่โทรศัพท์ไปบอกนายวีระยุทธคำเบิกความของนายวีระยุทธจึงเจือสมกับพยานโจทก์ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกที่เกิดเหตุจำเลยที่ 1 ไม่ได้ปฏิเสธว่านายคำรณมิได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1ดังนั้น จึงฟังได้ว่าคนขับรถยนต์บรรทุกชนรถยนต์โดยสารของโจทก์โดยประมาทเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าคนขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 ชื่อนายสมศักดิ์ไม่ทราบนามสกุลตามที่จำเลยที่ 1 ให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวนจึงเป็นการบรรยายฟ้องถึงตัวบุคคลตามที่จำเลยที่ 1 ให้การถึงซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าบุคคลนั้นจะเป็นนายสมศักดิ์หรือนายคำรณ และชื่อดังกล่าวจะเป็นชื่อจริงหรือไม่ ก็คงหมายถึงบุคคลคนเดียวกันที่เป็นลูกจ้างขับรถให้จำเลยที่ 1 ในทางการที่จ้างนั่นเอง ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าคนขับรถยนต์บรรทุกชื่อนายคำรณมิใช่นายสมศักดิ์ตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชอบนั้นฟังไม่ขึ้น สำหรับค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้ให้โจทก์นั้นต้องเป็นค่าเสียหายสำหรับความเสียหายที่โจทก์ได้รับจากการกระทำละเมิดของลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ค่าซ่อมแซมรถยนต์รถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 ชนเสียหาย และโจทก์ได้ทำการซ่อมแซมตามสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับบริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัดเจ้าของรถยนต์โดยสารแล้ว โจทก์จึงเสียหายและฟ้องเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ได้ แม้โจทก์จะไม่ใช่เจ้าของรถยนต์โดยสารก็ตามกับค่าขาดรายได้ของรถยนต์โดยสารในระหว่างซ่อมแซมเท่านั้นส่วนค่าเช่ารถยนต์โดยสารที่โจทก์ต้องจ่ายให้แก่บริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด นั้น เป็นเงินลงทุนของโจทก์ที่จะทำให้เกิดรายได้ขึ้นซึ่งไม่ว่าจะมีเหตุละเมิดเกิดขึ้นหรือไม่ โจทก์ก็ต้องจ่ายอยู่แล้ว ค่าเช่ารถยนต์โดยสารจึงไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดจากการกระทำละเมิดของลูกจ้างจำเลยที่ 1… จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายคือค่าซ่อมแซมรถยนต์โดยสาร จำนวน 70,000 บาทและค่าขาดประโยชน์ในระหว่างซ่อมแซมวันละ 1,000 บาท 15 วันเป็นเงิน 15,000 บาท รวมเป็นเงิน 85,000 บาท แก่โจทก์”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน85,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2525 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share