แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. มอบรถยนต์คันเกิดเหตุของห้างให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการห้างใช้ โดยให้โจทก์มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบตลอดจนทำการซ่อมแซมด้วย เมื่อรถยนต์คันดังกล่าวเกิดอุบัติเหตุได้รับความเสียหายโจทก์ก็มีหน้าที่ต้องซ่อมแซม โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์คันดังกล่าวที่จะเอาประกันภัยกับจำเลยได้ กรมธรรม์ประกันภัยกำหนดเงื่อนไขยกเว้นความรับผิดของจำเลยผู้รับประกันภัยไว้ว่า “การขับขี่โดยบุคคลที่ไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ใด ๆ หรือเคยได้รับแต่ขาดต่ออายุเกินกว่า180 วัน หรือเคยได้รับแต่ถูกตัดสิทธิตามกฎหมายในการขับรถยนต์ในเวลาเกิดอุบัติเหตุ” หาได้ระบุว่าผู้ขับขี่จะต้องมีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของกรมตำรวจจึงจะได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ไม่ เมื่อ พ. ผู้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุซึ่งเอาประกันภัยไว้กับจำเลยได้รับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ทุกประเภทจากกรมการขนส่งทางบก พ. จึงมิใช่เป็นบุคคลที่ไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้จำเลยได้รับยกเว้นความรับผิด จำเลยอุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นพิพากษาเกินคำขอ เพราะศาลชั้นต้นให้จำเลยใช้ค่าเสียหายที่ยังไม่แน่นอนและเกินกว่าความเป็นจริงแต่กลับฎีกาว่าศาลชั้นต้นพิพากษาเกินคำขอเพราะโจทก์มิได้ฟ้องขอให้จำเลยจ่ายเงินค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ ฎีกาของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์แม้จะเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาก็ไม่เห็นสมควรที่จะยกขึ้นวินิจฉัย ปัญหาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยมิได้ให้การต่อสู้คดีไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองรถยนต์หมายเลขทะเบียน7 ง-8913 กรุงเทพมหานคร และเอาประกันภัยรถดังกล่าวไว้กับจำเลยเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2528 นายเพิ่มศักดิ์ ธีรศักดิ์ขับขี่รถคันดังกล่าวตกลงไปข้างถนน รถได้รับความเสียหาย และทำให้ต้นไม้ประดับของเขตลาดกระบังที่ปลูกไว้เสียหาย ต้องชำระค่าเสียหายที่ต้นไม้ประดับของเขตลาดกระบังเสียหายเป็นเงิน 2,000 บาท โจทก์นำรถไปซ่อมที่อู่รวมกิจการช่าง เมื่อซ่อมรถเสร็จโจทก์ไปขอรับรถแต่เจ้าของอู่ไม่ยอมให้ อ้างว่าพนักงานฝ่ายประกันภัยของจำเลยสั่งไม่ให้มอบรถแก่โจทก์ โจทก์จึงเอารถออกจากอู่ดังกล่าวไม่ได้ ทำให้โจทก์เสียหายต้องเช่ารถมาใช้เสียค่าเช่าวันละ 500 บาทเป็นเวลา 63 วัน เป็นเงิน 31,500 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าซ่อมรถจำนวน 103,899 บาท ให้แก่เจ้าของอู่รวมกิจการช่างและสั่งให้เจ้าของอู่ดังกล่าวมอบรถให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี ให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแก่ทรัพย์สินของบุคคลภายนอกที่โจทก์ใช้แทนไปจำนวน 2,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายในการที่โจทก์เช่ารถบุคคลภายนอกมาใช้จำนวน 31,500 บาท และต่อไปวันละ 500 บาทนับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะสั่งเจ้าของอู่รวมกิจการช่างส่งมอบรถให้แก่โจทก์ จำเลยให้การว่า ในขณะเกิดเหตุโจทก์มิได้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองหรือเป็นผู้มีส่วนได้เสียอย่างใดในรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 7 ง-8913 กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้เอาประกันภัยไว้กับจำเลย ขณะเกิดเหตุนายเพิ่มศักดิ์ไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ขับขี่รถพิพาทได้ตามกฎหมายจึงเป็นการปฏิบัติผิดเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดความเสียหายของโจทก์ที่เกิดขึ้นหากมีจริงไม่เกิน 2,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ 105,899 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 2,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า โจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้กับจำเลยหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ตามทางนำสืบของโจทก์ ซึ่งจำเลยมิได้นำสืบหักล้างว่า รถยนต์คันดังกล่าวเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัด ท.ธนารัฐ 1971 โจทก์เป็นผู้ช่วยผู้จัดการของห้างนี้ ทางห้างจึงมอบรถยนต์ดังกล่าวให้โจทก์ใช้ โดยให้โจทก์มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบตลอดจนทำการซ่อมแซมด้วย จากข้อเท็จจริงดังกล่าว เห็นได้ว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ท.ธนารัฐ 1971 ได้มอบรถยนต์ดังกล่าวให้โจทก์ใช้สอยและรับผิดชอบหากรถยนต์คันดังกล่าวเกิดอุบัติเหตุได้รับความเสียหาย โจทก์ก็มีหน้าที่ต้องซ่อมแซมดังนั้นโจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์ ดังนี้ โจทก์จึงอยู่ในฐานะที่จะเอาประกันภัยรถยนต์คันนี้ได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยข้อที่สองมีว่า การที่นายเพิ่มศักดิ์มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ทุกประเภทของกรมการขนส่งทางบก แต่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของกรมตำรวจจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัย เอกสารหมาย ล.2ข้อ 2. 13.6 และ ข้อ 3.9.2 หรือไม่ เห็นว่า ข้อยกเว้นความรับผิดของจำเลยที่ระบุไว้ในข้อ 2.13.6 และ ข้อ 3.9.2 ซึ่งมีข้อความอย่างเดียวกันว่า “การขับขี่โดยบุคคลที่ไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ใด ๆ หรือเคยได้รับแต่ขาดต่ออายุเกินกว่า 180 วันหรือเคยได้รับแต่ถูกตัดสิทธิตามกฎหมายในการขับรถยนต์ในเวลาเกิดอุบัติเหตุ” ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายเพิ่มศักดิ์ผู้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุ ได้รับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ทุกประเภทจากกรมการขนส่งทางบก ตามเอกสารหมาย ล.4 ดังนั้นนายเพิ่มศักดิ์ จึงมิใช่เป็นบุคคลที่ไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้จำเลยได้รับยกเว้นความรับผิดไม่ที่จำเลยฎีกาว่า รถยนต์คันเกิดเหตุจดทะเบียนไว้ต่อกรมตำรวจผู้ขับขี่จะต้องมีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของกรมตำรวจจึงจะได้รับความคุ้มครองนั้น เห็นว่า ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวข้างต้น หาได้ระบุไว้เช่นนั้นไม่ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาข้อที่สามว่า การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยใช้เงินค่าซ่อมรถยนต์แก่โจทก์นั้น เป็นการพิจารณาเกินคำขอเพราะโจทก์มิได้ฟ้องขอให้จำเลยจ่ายเงินส่วนนี้ให้แก่โจทก์พิเคราะห์แล้วจำเลยอุทธรณ์เกี่ยวกับปัญหาที่ว่า ศาลชั้นต้นพิจารณาเกินคำขอว่า “ส่วนค่าเสียหาย ซึ่งเกิดจากการกระทำของผู้ขับขี่รถฝ่ายโจทก์ในครั้งนี้ก็เห็นมีแต่ค่าต้นไม้ที่โจทก์จ่ายไปแล้ว จำนวน 2,000 บาท ส่วนค่าซ่อมรถคันพิพาทโจทก์รับว่ายังมิได้จ่ายให้แก่อู่ไป ยอดที่แท้จริงจะเป็นเท่าไรก็ยังรับฟังไม่ได้เป็นยุติ เพราะยังมีการเจรจาต่อรองค่าซ่อมกัน ฉะนั้นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยต้องชำระเงินค่าซ่อมจำนวน 103,899 บาทให้แก่โจทก์ จึงเป็นการวินิจฉัยเกินคำขอของโจทก์ที่ระบุมาในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยขอยืนยันว่าค่าซ่อมรถยนต์คันพิพาทนี้ไม่ถึง 103,899 บาท” ซึ่งเห็นได้ว่า ที่จำเลยอุทธรณ์อ้างว่าศาลชั้นต้นพิพากษาเกินคำขอก็เพราะเหตุที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยใช้ค่าเสียหายที่ยังไม่แน่นอนและเกินกว่าความเป็นจริงหาได้อุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นพิพากษาเกินคำขอเพราะเหตุโจทก์มิได้ฟ้องขอให้จำเลยจ่ายเงินค่าซ่อมแก่โจทก์ ดังที่โจทก์อ้างในชั้นฎีกาไม่ ดังนั้นฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ แม้ปัญหานี้จะเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาก็ไม่เห็นสมควรที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยข้อที่สี่มีว่าค่าซ่อมรถยนต์คันเกิดเหตุมีจำนวนเท่าใด โดยจำเลยฎีกาว่า ค่าซ่อมไม่ถึง 103,899 บาท พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า นายสุทธิพงษ์ศรีสุนทรพินิจ พยานจำเลยเอง ซึ่งเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัดรวมกิจการช่างผู้ทำการซ่อมรถยนต์คันเกิดเหตุเบิกความว่า ค่าซ่อมรถยนต์คันเกิดเหตุเป็นเงิน 103,899 บาท เมื่อพยานจำเลยเบิกความยอมรับเช่นนี้แล้ว จึงฟังได้ว่าค่าซ่อมเป็นเงิน103,899 บาทจริง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า คดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องแล้ว เห็นว่า ปัญหาข้อนี้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้คดีไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน