คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 513/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เอาโฉนดที่ดินที่เขามอบให้ไว้เป็นประกันหนี้ไปโอนขายย่อมถือได้ว่า ทุจริตเบียดบังเอาทรัพย์ที่เขามอบหมายไว้ไปผิดความประสงค์ของผู้เป็นเจ้าของ เป็นความผิดฐานยักยอกตาม มาตรา 314
จำเลยแสดงตนว่า เป็นผู้รับมอบอำนาจให้ทำการโอนที่ดินของผู้อื่นและแจ้งแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่า การมอบอำนาจนั้นเป็นจริงซึ่งความจริงเจ้าของที่ดินมิได้มอบอำนาจให้โอนแต่ประการใด ดังนี้ จำเลยมีความผิดฐานแจ้งความเท็จตามมาตรา 118

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องหาว่า เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2495 นางแฉล้มบุนนาค (คุณหญิงทรงสุรัชฎ์) ได้กู้เงินจากจำเลยที่ 1 ไป 15,000 บาทมอบโฉนดเลขที่ 3579 สำหรับที่ดินเนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 56 ตารางวาอยู่ตำบลยานนาวา อำเภอยานนาวา จังหวัดพระนคร ราคา 500,000 บาทให้แก่จำเลยที่ 1 เก็บรักษาไว้เพื่อเป็นประกันเงินกู้รายนี้ครั้นวันเวลาใดไม่ปรากฏ ในระหว่างวันที่ 15 ถึง 24 กรกฎาคม 2495 จำเลยทั้งสามได้สมคบกันปลอมหรือใช้ให้ผู้อื่นปลอมหนังสือมอบอำนาจขึ้น 1 ฉบับ มีใจความว่า นางแฉล้ม บุนนาค มอบอำนาจให้จำเลยที่ 3ทำการโอนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินโแนดที่ 3579 แทนนางแฉล้มบุนนาค และปลอมลายมือชื่อนางแฉล้ม บุนนาค ลงในหนังสือมอบอำนาจในช่องผู้มอบอำนาจ โดยจำเลยทั้งสามเจตนาจะใช้เป็นหนังสืออันแท้จริงและในวันที่ 24 กรกฎาคม 2495 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามได้บังอาจสมคบกันนำหนังสือมอบอำนาจปลอมดังกล่าวไปใช้อย่างหนังสือแท้จริงโดยแสดงแก่หม่อมหลวงประพาส มนตรีกุล เจ้าพนักงานที่ดิน และนายภักดิ์ โตสง่า เจ้าพนักงานหอทะเบียนที่ดินจังหวัดพระนครและธนบุรี ผู้มีหน้าที่สอบสวนรับเรื่องราวต่าง ๆ เพื่อขอให้เจ้าพนักงานโอนขายที่ดินตามโฉนดที่ 3579 ของนางแฉล้ม บุนนาค ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 แสดงตนเป็นผู้รับมอบอำนาจทำการขายแทนตามหนังสือปลอมนั้น ทั้งนี้อาจเกิดความเสียหายแก่นางแฉล้ม บุนนาคและสาธารณชนหรือผู้อื่นได้ และในวันเวลาเดียวกันกับที่จำเลยสมคบกันนำหนังสือมอบอำนาจปลอมไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินดังกล่าวจำเลยทั้งสามได้บังอาจสมคบกันยักยอกโฉนดที่ดินที่ 3579 ของนางแฉล้ม บุนนาค ซึ่งมอบหมายให้จำเลยที่ 1 เก็บรักษาไว้เป็นประกันเงินกู้ดังกล่าวข้างต้นไปโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดนั้นให้แก่จำเลยที่ 2โดยอาศัยหนังสือมอบอำนาจปลอมนั้น จนเจ้าพนักงานที่ดินได้จัดการโอนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 3579 ของนางแฉล้ม บุนนาค ซึ่งมีราคา 500,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ต่อไปตามความประสงค์ของจำเลยทั้งสามเหตุเกิดที่ตำบลลุมพินี อำเภอปทุมวัน ตำบลพระยาไกร อำเภอยานนาวาและตำบลพระบรมมหาราชวัง อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร และในวันเวลาเดียวกันกับที่จำเลยใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมแก่เจ้าพนักงานที่ดินนั้น จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ต่างได้นำเอาข้อความเท็จซึ่งจำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่า เป็นเท็จไปให้ถ้อยคำในการสอบสวนตามระเบียบของเจ้าพนักงานทะเบียนที่ดินแก่นายภักดิ์ โตสง่า และหม่อมหลวงประพาส มนตรีกุล เจ้าพนักงานทะเบียนที่ดินจังหวัดพระนครและธนบุรี ให้จดข้อความเท็จลงในบันทึกหลังหนังสือมอบอำนาจอันสามารถจะใช้เป็นพยานได้ กล่าวคือจำเลยทั้งสามให้ถ้อยคำเท็จว่าได้รับมอบอำนาจจากนางแฉล้ม บุนนาค ซึ่งประสงค์จะขายที่ดินแปลงนี้จริง และลายเซ็นในหนังสือมอบอำนาจเป็นลายเซ็นอันแท้จริงของนางแฉล้ม บุนนาค และจำเลยที่ 2 ให้ถ้อยคำเท็จว่าถ้อยคำของจำเลยที่ 3 ดังกล่าว เป็นความจริงทุกประการ และจำเลยที่ 2ได้ติดต่อกับนางแฉล้ม บุนนาค เจ้าของที่ดินแปลงนี้ด้วยตนเองซึ่งความจริงนางแฉล้ม บุนนาค มิได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 ขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 และมิได้มีความประสงค์จะขายที่ดินกับมิได้ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจ หากแต่เป็นหนังสือปลอมทั้งจำเลยทั้งสองมิได้เคยพบติดต่อกับนางแฉล้ม บุนนาคเลยทั้งนี้อาจเกิดความเสียหายแก่นางแฉล้ม บุนนาค และสาธารณชนหรือผู้อื่นได้ เหตุเกิดที่ตำบลพระบรมมหาราชวัง อำเภอพระนครจังหวัดพระนครวันที่ 25 สิงหาคม 2495 นางแฉล้ม บุนนาคเจ้าทรัพย์ผู้เสียหายได้ทราบการกระทำผิดของจำเลย จึงได้ร้องทุกข์ขอให้เจ้าพนักงานจัดการสอบสวนดำเนินคดีฟ้องร้องจำเลยทั้งสามจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคนคนเดียวกันกับจำเลยในคดีอาญาเลขดำที่ 27/2497 ของศาลอาญาต้องหาว่าฉ้อโกง ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 222, 223, 227, 314, 118, 226 และขอให้นับโทษจำเลยที่ 1-2 ต่อกับโทษในคดีอาญาเลขดำที่ 27/2497 ของศาลอาญา กับบังคับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 500,000 บาทแก่นางแฉล้ม บุนนาค เจ้าทรัพย์ด้วย

จำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ และว่าผู้เสียหายจะขายที่ดินโฉนดที่ 3579 และสิ่งปลูกสร้างในที่ดินนี้ มีนายหน้ามาบอกจำเลยที่ 1-2 จำเลยที่ 1ประสงค์จะซื้อเพื่อค้ากำไร ดูที่ดินกันแล้วผู้เสียหายขาย 200,000 บาทจำเลยที่ 1-2 ต่อ 120,000 บาท ไม่ตกลงกัน ผู้เสียหายขอกู้เงินจำเลยที่ 1 สองหมื่นบาท จะมอบโฉนดไว้เป็นประกัน จำเลยที่ 1 ให้กู้เงิน 15,000 บาท แล้วยึดโฉนดไว้ต่อมาจำเลยที่ 1-2 นำไปมอบให้อีก 50,000 บาท จำเลยที่ 1ตรวจสอบโฉนดที่เกษตรดูเห็นถูกต้องติดใจจะซื้อ นายหน้ามาเตือนจำเลยที่ 1-2อีก จึงไปต่อรองราคากับผู้เสียหาย ตกลงขายกันในราคา 150,000 บาท ผู้เสียหายมอบหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินนี้จากผู้ขายเดิม เมื่อ พ.ศ. 2475 ราคา6,000 บาท ให้จำเลยที่ 1เพื่อให้ผู้ที่รับซื้อต่อจากจำเลยที่ 1 เทียบดูราคาเดิม จำเลยที่ 1 วิ่งเต้นหาเงินมาได้ 50,000 บาท จึงพร้อมกับพรรคพวกนำไปมอบให้กับผู้เสียหาย เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2495 จึงรวมเป็นเงิน 70,000 บาท ส่วนอีก 80,000 บาท ตกลงกันไปรับที่เกษตรโดยจำเลยจะได้จากนายทุนอีกคนหนึ่งในวันรุ่งขึ้น รุ่งขึ้นผู้เสียหายไม่ไปทำการโอนและรับเงินเอง ได้ลงลายมือในใบมอบอำนาจต่อหน้าจำเลยที่ 1-2-3 กับพวกมอบให้จำเลยที่ 1 รับไปจัดการและให้นายอำพรคนของผู้เสียหายไปรับเงินแทนในวันรุ่งขึ้นนั้น คือวันที่ 24 กรกฎาคม 2495 จำเลยที่ 1-2-3 กับพวก และนายอำพรก็ไปทำการโอนที่เกษตรทำกับพนักงานเจ้าหน้าที่โอนกันเป็นที่เรียบร้อย นายอำพรรับเงิน 80,000 บาทไปในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินรายนี้ จำเลยที่ 1 เป็นคนออกเงินจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับมอบอำนาจแทนผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการโอนหากำไรในที่ดินรายนี้ต่อไปภายหน้า เพราะจำเลยที่ 2 เป็นคนกว้างขวางในวงการค้าขายดีกว่าจำเลยที่ 1 การโอนกรรมสิทธิ์รายนี้เป็นไปโดยสุจริต คดีนี้เดิมพนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ เพื่อขอให้ฟ้องฐานปลอมหนังสือและฉ้อโกงยังศาลอาญา อัยการสั่งไม่ฟ้อง แต่เหตุใดโจทก์จึงมาฟ้องยังศาลแขวง ซึ่งไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาความผิดฐานปลอมหนังสือข้อหาฐานยักยอกซึ่งตั้งขึ้นใหม่ก็หาได้ทำการสอบสวนจำเลยทั้งสามไม่ ทั้งข้อหาฐานยักยอกตามฟ้องของโจทก์ก็ไม่เข้าเกณฑ์ความผิด เพราะโฉนดไม่ใช่ทรัพย์ โจทก์ไม่ได้ตีราคามา จำเลยทั้งสามจึงขอตัดฟ้องของโจทก์ อนึ่ง ผู้เสียหายได้ร่วมกับสามีฟ้องจำเลยที่ 2 ทางแพ่งคดีดำที่ 1344/2495 เพื่อบอกล้างนิติกรรมสามีผู้เสียหายได้บรรยายฟ้องแพ่งเป็นทำนองว่า ผู้เสียหายได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 ในคดีนี้โอนขายที่ดินรายนี้จริง เมื่อไม่ได้รับอนุญาตจากสามี ก็มีสิทธิบอกล้างได้ เวลานี้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณา การที่มีการฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาขึ้นก็เพราะจะบีบบังคับจำเลยให้คืนกรรมสิทธิ์ที่ดิน

ศาลแขวงพระนครใต้พิจารณาแล้ว เชื่อว่า ผู้เสียหายไม่ได้ตกลงขาย และไม่ได้มอบอำนาจให้ใตรขายที่พิพาทให้จำเลยเลย ข้อหาฐานปลอมใบมอบอำนาจหรือใช้ใบมอบอำนาจปลอมนั้น หลักฐานโจทก์ยังไม่พอที่จะพิสูจน์ได้ว่า ลายเซ็นผู้เสียหายในใบมอบอำนาจนั้นปลอม ส่วนข้อหาว่าจำเลยยักยอกโฉนดนั้น เห็นว่าการมอบโฉนดให้ยึดถือไว้เฉย ๆ หาเป็นการมอบให้เกิดสิทธิแก่ตัวทรัพย์ตามโฉนดนั้นขึ้นไม่ และการที่จำเลยกลับนำที่ดินไปขายภายหลังนี้ผลเกิดแก่ตัวทรัพย์นั้นเองต่างหาก ไม่ได้เกิดแก่กระดาษโฉนดเจตนาไม่เกี่ยวแก่กระดาษโฉนดเลย ถือไม่ได้ว่าจำเลยยักยอกโฉนดนั้น และข้อหาฐานนำความเท็จไปแจ้งต่อเจ้าพนักงาน ให้เจ้าพนักงานจดลงไว้นั้น ฟังว่าจำเลยที่ 2 รู้ว่าความที่แจ้งนั้นเป็นเท็จ ส่วนจำเลยที่ 3 อาจไม่รู้ถึงเหตุที่เป็นเท็จ จะเอาผิดแก่จำเลยที่ 3 ยังไม่ได้ จึงพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 ผู้เดียวมีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 118, 226 ให้จำคุก 6 เดือนข้อหาอื่นให้ยก สำหรับจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ให้ยกฟ้อง

โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า นางทิพวรรณจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานยักยอกตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 314 ให้จำคุก 1 ปี นายหลุย จำเลยที่ 2 มีผิด 2 กระทงตามมาตรา 314, 63 กระทงหนึ่ง ให้จำคุก 1 ปีผิดฐานแจ้งความเท็จตามมาตรา 118 กระทงหนึ่ง ให้จำคุก 3 เดือน รวมเป็นโทษ 1 ปี 3 เดือนนางอภิญญา จำเลยที่ 3 มีผิดฐานแจ้งความเท็จตามมาตรา 118 ให้จำคุก3 เดือน แต่ให้รอการลงโทษจำเลยที่ 3 ไว้ภายในกำหนด 3 ปี ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 41

จำเลยที่ 1, 3 ฎีกา แต่นายหลุย จำเลยที่ 2 ยังไม่ได้ตัวมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ศาลฎีกาตรวจสำนวนแล้ว ทางพิจารณาได้ความตามคำพยานโจทก์ว่าเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2495 นางแฉล้ม บุนนาค ผู้เสียหายเป็นภริยาพระยาทรงสุรัชฎ์ กู้เงินจำเลยที่ 1 จำนวน 15,000 บาท เซ็นสัญญากู้ให้จำเลยไว้ และมอบโฉนดที่ 3579 เป็นประกันด้วยต่อมาวันที่ 20 เดือนเดียวกัน จำเลยที่ 1 เอาแบบสัญญากู้ ไม่มีข้อความมาให้ผู้เสียหายเซ็นใหม่ อ้างว่าฉบับก่อนเซ็นไม่ถูกต้องเพราะไม่มีจุดท้ายดังเช่นในโฉนด ผู้เสียหายก็เซ็นให้ไป แล้วจำเลยที่ 1ฉีกสัญญากู้ฉบับแรก ต่อมาผู้เสียหายต้องการเงินอีก 7,000 บาท จำเลยก็นำมาให้อีก 3,000 บาท แล้วให้ผู้เสียหายเซ็นชื่อในแบบสัญญากู้อีกฉบับหนึ่งโดยมิได้กรอกข้อความผู้เสียหายก็เซ็นให้ไป

ครั้นวันที่ 19 สิงหาคม 2495 นางสัมฤทธิ์สุขุมวาทย์ไปดูที่บ้านผู้เสียหายเพราะจำเลยที่ 1-2 บอกฝากขาย ไปพบพระยาทรงฯ บอกว่าที่นี้ขายไปแล้วพระยาทรงฯ ไม่ทราบเรื่อง จึงถามภริยาเมื่อทราบความจึงไปดูที่หอทะเบียน ปรากฏว่าได้มีการโอนโฉนดขายแก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2495 โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับมอบอำนาจทำการโอนแทนผู้เสียหาย จึงได้แจ้งเรื่องต่อตำรวจ

ฝ่ายจำเลยคงสืบพยานว่า ชั้นแรกมีนางอรุณมาบอกขายที่พิพาท 200,000 บาท จำเลยต่อ 120,000 บาท ไม่ตกลง ผู้เสียหายเลยขอกู้เงินจำเลย 20,000 บาท ทำสัญญากู้ให้ไว้ แต่เมื่อไปตรวจดูที่หอทะเบียน ลายเซ็นผู้เสียหายไม่มีจุด จึงให้ผู้เสียหายทำสัญญาให้ใหม่ฉีกฉบับเก่า ต่อมาจำเลยที่ 1 ตกลงราคาซื้อขายที่พิพาทกับผู้เสียหาย 150,000 บาท แล้วนำเงินไปให้ก่อน50,000 บาท โดยให้ผู้เสียหายเซ็นชื่อให้ไว้ในสัญญากู้มิได้กรอกข้อความครั้นวันโอน ผู้เสียหายมอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้โอนแทนและให้นายอำพรเป็นผู้รับเงินที่ยังขาดอีก 80,000 บาท

ข้อเท็จจริงที่ต่างนำมาสืบมานี้ พิจารณาเห็นว่า เป็นเรื่องกู้เงินแล้วมอบโฉนดพิพาทให้จำเลยผู้เป็นเจ้าหนี้ยึดไว้เป็นประกันเท่านั้น มิใช่เป็นการขายที่พิพาทให้จำเลยตามข้อต่อสู้ดังที่ศาลล่างทั้งสองได้บรรยายข้อเท็จจริงให้เหตุผลไว้อย่างละเอียดแล้วกล่าวโดยเฉพาะจำเลยซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ซื้อก็ยังชี้เขตที่ไม่ถูกว่ามีแค่ไหน เป็นเรื่องที่เห็นได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อกระบัดสินส่วนเหตุที่ใบมอบอำนาจโอนขายมีลายเซ็นผู้เสียหาย และศาลล่างวินิจฉัยว่า ไม่พอฟังว่าจำเลยได้ทำปลอมขึ้นนั้น ไม่เป็นเหตุพอให้ถือว่า ผู้เสียหายเซ็นชื่อในใบมอบอำนาจด้วยความยินยอมขายที่แก่จำเลย เพราะเป็นข้อเท็จจริงในเรื่องลายเซ็นซึ่งศาลฟังไม่แน่ว่าเป็นลายเซ็นใคร และคดีปรากฏว่า จำเลยได้ขอให้ผู้เสียหายเซ็นชื่อในกระดาษที่มิได้กรอกข้อความหลายครั้งผู้เสียหายก็เซ็นให้ไป ใบมอบอำนาจที่ว่ามิได้ปลอมลายเซ็นอาจเกิดขึ้นด้วยเหตุนี้ก็ได้

คดีมีข้อวินิจฉัยต่อไปว่า การที่จำเลยนำโฉนดซึ่งผู้เสียหายมอบให้ไว้แก่จำเลยที่ 1 เป็นประกันหนี้ แล้วไปทำสัญญาโอนขายแก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 แสดงว่าเป็นผู้รับมอบอำนาจทำการโอนเช่นนี้จะปรับเข้ากฎหมายบทใด เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้เสียหายมิได้ขายที่พิพาทดังจำเลยต่อสู้แล้ว ก็เป็นอันถือได้ว่าจำเลยทั้งสามสมคบกันกระทำการทุจริตเรื่องโอนกรรมสิทธิ์ขึ้น

การที่เขามอบโฉนดให้ไว้เป็นประกันหนี้ แล้วเอาโฉนดไปโอนขายเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่า จำเลยทุจริตเบียดบังทรัพย์ที่เขามอบหมายไว้ไปผิดความประสงค์ของผู้เจ้าของ เป็นผิดฐานยักยอกตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 314 ดังคำวินิจฉัยศาลอุทธรณ์

ส่วนในเรื่องแจ้งความเท็จตามมาตรา 118 ซึ่งศาลอุทธรณ์เอาผิดแก่จำเลยที่ 3 นั้น ก็ได้ความว่า จำเลยที่ 3 แสดงตนว่ารู้เห็นในการที่ผู้เสียหายมอบอำนาจให้ไปทำการโอนต่อหน้าจำเลย แล้วไปแจ้งแก่เจ้าพนักงานว่าการมอบอำนาจนั้นเป็นจริงเช่นนี้ เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยรู้เรื่องดีอยู่ก่อนแล้ว จำเลยไม่พ้นผิด ดังที่ศาลอุทธรณ์กล่าวไว้

เหตุนี้ จึงพิพากษายืนเฉพาะคดีของจำเลยที่ 1, 3 ที่ฎีกาขึ้นมา

Share