คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1749/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เกี่ยวกับฟ้องขอให้เพิ่มโทษจำเลยนั้นอัยการโจทก์บรรยายว่า ” ก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องโทษทำร้ายร่างกาย ถูกศาลจังหวัดชุมพรพิพากษาจำคุก 10 วัน ปรับ 25 บาท คดีหมายเลขแดงที่ 347/2495 จำเลยพ้นโทษยังไม่ครบ 5 ปี กลับมากระทำผิดในคดีนี้อีก หาเข็ดหลาบไม่ขอให้ศาลเพิ่มโทษตาม ม.72 อีกโสดหนึ่งด้วย
ศาลสอบจำเลย ๆ รับว่าเคยต้องโทษตามฟ้องโจทก์เป็นความจริง
และจำเลยเบิกความตามคำซักค้านของโจทก์ว่า “ข้าพเจ้าจำเลยเคยต้องโทษของศาลฐานทำร้ายร่างกายนายเปรื่องมีบาดเจ็บ”
ดังนี้ข้อเพิ่มโทษ ตามที่บรรยายในฟ้องของโจทก์ ๆ ระบุเพียงว่าจำเลยเคยต้องโทษฐานทำร้ายร่างกาย ซึ่ง ก.ม.อาญา ระบุไว้ในส่วนที่ 7 หมวดที่ 2 ซึ่งกินความถึงความผิดฐานทำร้ายร่างกายบาดเจ็บ โดยเจตนา บาดเจ็บสาหัสโดยเจตนา บาดเจ็บโดยเจตนาและประมาทก็มี ระบุเป็นหัวข้อเรื่องละหุโทษตาม ม.338 ก็มีจึงไม่แน่ว่าตามที่โจทก์บรรยายมานั้นอยู่ในความผิดส่วนไหน เพราะอัตราโทษครั้งก่อนที่จำเลยรับโทษจำคุก 17 วันปรับ 25 บาท นั้นก็เบามีลักษณะเป็นได้ทั้งเจตนา ประมาท และลหุโทษ
จึงอาศัยแต่เพียงคำรับของจำเลยดังกล่าวมาเพิ่มโทษจำเลยตามฟ้องไม่ได้ ข้อเพิ่มโทษจึงต้องยกเสีย
อ้างฎีกาที่ 366/2499

ย่อยาว

คดีนี้จำเลยต่อสู้ว่าได้กระทำร้ายนายแม้นโดยทางป้องกันตัว แต่ศาลทั้งสองพิพากษาต้องกันว่ามิใช่ป้องกันตัว จำเลยบังอาจกระทำร้ายนายแม้นบาดเจ็บ สาหัสตามฟ้อง มีความผิดตาม ก.ม.อาญา ม.๒๕๖ จำคุกจำเลย ๒ ปี ข้อนี้ยุติเพียงชั้นศาลอุทธรณ์
เหลือแต่ข้อขอให้เพิ่มโทษจำเลยซึ่งโจทก์ยกขึ้นโต้เถึยงตั้งแต่ชั้นศาลอุทธรณ์ตลอดมาจนฎีกา
ประเด็นข้อนี้โจทก์ระบุในคำฟ้องว่า “ก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องโทษฐานทำร้ายร่างกายถูกศาลจังหวัดชุมพรพิพากษาจำคุก ๑๐ วัน ปรับ ๒๕ บาท ตามคดีหมายเลขแดงที่ ๒๔๗/๒๔๙๕ จำเลยพ้นโทษไปยังไม่ครบ ๕ ปี กลับมากระทำผิดในคดีนี้อีก หาเข็ดหลาบไม่ขอศาลได้โปรดเพิ่มโทษจำเลยตาม ม.๗๒ อีกโสดหนึ่งด้วย”
ศาลสอบจำเลย ๆ รับเคยต้องโทษตามฟ้องโจทก์เป็นความจริง
และจำเลยเบิกความตามข้อซักค้านของโจทก์ว่า “ข้าพเจ้าเคยต้องโทษของศาลฐานทำร้ายร่างกายนายเปรื่องมีบาดเจ็บ”
ศาลชั้นต้นเห็นว่าโทษที่จำเลยได้รับครั้งก่อนนั้น ไม่ทราบว่าเป็นความผิดลหุโทษหรือความผิดอย่างอื่น โจทก์เพียงแต่บรรยายไว้ในฟ้องเท่านั้นจะให้ศาลหยิบยกสำนวนแดงที่ ๓๔๗/๒๔๙๕ ซึ่งโจทก์มิได้อ้างหลักฐานในระบุพยานขึ้นมาเป็นทางเพิ่มโทษนั้นไม่ชอบ จึงให้ยกคำขอข้อนี้เสียและศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่มีผู้พิพากษานายหนึ่งแย้งว่าข้อที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษจำเลย ๆ เข้าใจข้อหาได้ดี ทั้งมิได้แก้ว่าเป็นความผิดฐานประมาทหรือลหุโทษ จึงเป็นการเพียงพอที่จะเพิ่มโทษจำเลยตามที่โจทก์ขอได้หรืออย่างน้อยก็ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะเรียกเอาสำนวนนั้นมาตรวจดูเสียก่อนเพราะการตรวจเช่นนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องฟังพยานหลักฐานแต่เป็นเรื่องที่ศาลเอาสำนวนที่จำเลยรับอยู่แล้วโดยไม่มีข้อโต้แย้งมาวินิจฉัยตาม ๑๒๐๑-๑๒๐๓/๒๔๙๘ ระหว่างอัยการจังหวัดนราธิวาสโจทก์ นายอัมรินทร์ จินตานนท์ กับพวกจำเลย
ศาลฎีกาเห็นว่าตามที่โจทก์บรรยายขอเพิ่มโทษมานั้นระบุมาเพียงว่าจำเลยเคยต้องโทษฐานทำร้ายร่างกายหรืออีกรับหนึ่งก็คือฐานประทุษร้ายร่างกายอันความผิดฐานประทุษร้ายร่างกายนี้ ก.ม.อาญาระบุเป็นหัวข้อหมวดไว้ในส่วนที่ ๗ หมวดที่ ๒ (ซึ่งกินถึงฐานทำร้ายร่างกายบาดเจ็บโดยเจตนา บาดเจ็บสาหัสโดยเจตนาและประมาท) ก็มีระบุเป็นหัวข้อเรื่องลหุโทษภายใต้ ม.๓๓๘ ก็มี จึงไม่แน่ว่าตามที่โจทก์บรรยายมานั้นอยู่ในความผิดส่วนไหน เพราะอัตราโทษครั้งก่อนที่จำเลยได้รับโทษจำคุก ๑๐ วันและปรับ ๒๕ บาท นั้นก็เมา มีลักษณะเป็นได้ทั้งเจตนา ประมาทและลหุโทษ
หากจำเลยไม่คัดค้านหรือรับรองยอมข้อหาเพิ่มโทษฐานไม่เข็ดหลาบด้วยก็พอเป็นทางให้เห็นว่า คงรับฐานเคยทำให้เขาบาดเจ็บโดยเจตนา แต่จำเลยก็มิได้รับถึงขนาดนั้นเป็นแต่รับว่าเคยต้องโทษตามฟ้องโจทก์เป็นความจริง เมื่อโจทก์ไม่ระบุในฟ้องให้ชัดแจ้งแล้วจะเกณฑ์ให้ศาลไปดูสำนวนเก่าของเอาเองโดยมิได้ระบุเป็นพยานหลักฐานไว้นั้นหาชอบไม่ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๖๖/๒๔๙๙ ระหว่างอัยการจังหวัดลำปาง โจทก์ นายอ้าย หรือโอ ตะริกุล จำเลย และจำเลยจะเบิกความว่าเคยทำร้ายร่างกายนายเปรื่องมีบาดเจ็บ แต่จะเป็นรายเดียวกับคดีแดงที่ ๓๔๗/๒๔๙๕ หรือไม่ ก็ไม่ปรากฎ เพราะดูตามคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยก็ปรากฎว่าเคยทำร้ายร่างกายคนอื่นมาแล้ว ๒ ครั้งมิใช่ครั้งเดียว
พิพากษายืน

Share