แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ได้ความชัดแจ้งว่า โจทก์ขอให้จำเลยจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลให้โจทก์จำนวนเท่าใด และที่ขอให้เพิกถอนมติคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ โจทก์ก็มิได้บรรยายมาในคำขอท้ายฟ้องด้วยว่าขอให้จำเลยจ่ายค่ารักษาพยาบาลจำนวนเท่าใด จึงเป็นคำฟ้องที่มิได้กล่าวแสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหากับข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในส่วนที่ขอให้จำเลยจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์ จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ.มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31 จึงเป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นพนักงานของจำเลย โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเบิกค่ารักษาพยาบาลของนายวิโรจน์ ธรรมวาทะกุล สามีโจทก์ต่อกองสวัสดิการของจำเลย ต่อมาโจทก์ได้รับแจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ครั้งที่ 4/2546 ว่าการเจ็บป่วยของนายวิโรจน์ ธรรมวาทะกุล สามารถเข้ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลเวชธานีซึ่งเป็นสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โจทก์จึงเบิกค่ารักษาพยาบาลไม่ได้ เนื่องจากขัดต่อระเบียบกองทุนสงเคราะห์ว่าด้วยการรักษาพยาบาล พ.ศ.2526 ข้อ 12 โจทก์อุทธรณ์ ต่อมาโจทก์ได้รับแจ้งผลการพิจารณาว่ายกอุทธรณ์ โจทก์ไม่เห็นด้วย จึงนำคดีมาฟ้อง ขอให้เพิกถอนมติคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ ครั้งที่ 4/2546 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2546 และมติที่ประชุมครั้งที่ 13/2546 วาระที่ 7 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2546 ให้จำเลยจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามข้อบังคับระเบียบ คำสั่งของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
จำเลยให้การว่า ระเบียบกองทุนสงเคราะห์ว่าด้วยการรักษาพยาบาล พ.ศ.2526 ข้อ 12 กำหนดว่า “ผู้ปฏิบัติงานไม่มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลสำหรับบุคคลในครอบครัวของตนในเมื่อบุคคลในครอบครัวผู้นั้นเป็นผู้มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลจากทางราชการหรือหน่วยงานอื่นอยู่แล้ว ทั้งนี้เว้นแต่สิทธิที่บุคคลในครอบครัวได้รับการช่วยเหลือต่ำกว่าที่จะพึงได้รับตามระเบียบนี้ ในกรณีเช่นนี้ ให้มีสิทธิเบิกเพิ่มเติมได้เท่าที่จำนวนที่ยังขาดอยู่” โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเบิกค่ารักษาพยาบาลของนายวิโรจน์ที่เข้ารักษาที่โรงพยาบาลพญาไทย 1 ซึ่งนายวิโรจน์เข้ารับบริการทางการแพทย์ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน 2545 ถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2545 รวม 10 วัน เป็นเงิน 368,189 บาท โดยไม่ได้แจ้งโรงพยาบาลเวชธานีซึ่งเป็นโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิตามประกาศสำนักงานประกันสังคมจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่ารักษาพยาบาลให้แก่โจทก์ และฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะมิได้ระบุว่าจะให้จำเลยจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลให้แก่โจทก์เท่าใด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนมติคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ครั้งที่ 4/2546 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2546 และมติที่ประชุมครั้งที่ 13/2546 วาระที่ 7 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2546 ของจำเลย ให้จำเลยจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามระเบียบกองทุนสงเคราะห์ว่าด้วยการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2526 ให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คงมีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเพียงว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่…เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องสรุปความว่า โจทก์เป็นพนักงานของจำเลยได้ยื่นขอเบิกค่ารักษาพยาบาลของนายวิโรจน์ ธรรมวาทะกุล สามีโจทก์พร้อมแนบหลักฐานภายในเวลาตามระเบียบ แต่จำเลยตัดสิทธิโจทก์ หรือทำให้สิทธิโจทก์ลดลง อ้างว่าการเจ็บป่วยของนายวิโรจน์สามารถเข้ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลเวชธานีซึ่งเป็นสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โจทก์จึงเบิกค่ารักษาพยาบาลไม่ได้ ขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ ครั้งที่ 4/2546 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2546 และครั้งที่ 13/2546 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2546 และให้จำเลยจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่งของจำเลย โดยโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ได้ความชัดแจ้งว่า โจทก์ขอให้จำเลยจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลให้แก่โจทก์เป็นจำนวนเท่าใด อีกทั้งคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนมติคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ โจทก์ก็มิได้บรรยายมาในคำขอท้ายฟ้องว่า ขอให้จำเลยจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นจำนวนเท่าใด ดังนี้ เมื่อโจทก์มิได้กล่าวแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา กับข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในส่วนที่ขอให้จำเลยจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์ คำฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 จึงเป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น…”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์