แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นอาจารย์สอนวิชาพลศึกษา ได้สั่งให้นักเรียนชั้น ม.1 วิ่งรอบสนามระยะทาง 200 เมตร ต่อ 1 รอบ จำนวน 3 รอบ เป็นการอบอุ่นร่างกายก่อนการเรียนวิชาพลศึกษาในภาคปฏิบัติ และได้สั่งให้นักเรียนวิ่งรอบสนาม ต่ออีก 3 รอบ เป็นการกระทำโทษที่วิ่งไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งเหมาะสมตามสมควรแก่พฤติการณ์ แต่การที่สั่งให้วิ่งรอบสนามต่อไปอีก 3 รอบ และเมื่อนักเรียนยังทำไม่ได้เรียบร้อย ก็สั่งให้วิ่งต่อไปอีก 3 รอบ ในช่วงเวลาหลังเที่ยงวันเพียงเล็กน้อย สภาพอากาศร้อนและมีแสงแดดแรง นับเป็นการใช้วิธีการลงโทษนักเรียนที่ไม่เหมาะสมและไม่ชอบเพราะจำเลยที่ 1 น่าจะเล็งเห็นได้ว่าการลงโทษนักเรียนซึ่งมีอายุระหว่าง 11 ถึง 12 ปี ด้วยวิธีการดังกล่าวอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของนักเรียนได้ เป็นความประมาทเลินเล่อ จนทำให้เด็กชาย พ. ซึ่งเป็นโรคหัวใจอยู่ก่อนล้มลง ในการวิ่งรอบสนามรอบที่ 11 และถึงแก่ความตายในเวลาต่อมาเพราะสาเหตุระบบหัวใจล้มเหลว การตายของเด็กชาย พ. จึงเป็นผลโดยตรงจากการวิ่งออกกำลังตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ทราบว่าเด็กชาย พ. เป็นโรคหัวใจ ก็ตาม มิใช่เกิดจากเหตุสุดวิสัย ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดเป็นเหตุให้เด็กชาย พ. ถึงแก่ความตาย แต่ความไม่รู้ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นเหตุประกอบดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้น้อยลง
การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลยที่ 2 ทำการสอนวิชาพลศึกษาในชั่วโมงวิชาพลศึกษาของนักเรียนชั้น ม.1 ห้อง 1/4 ของโรงเรียน ว. เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการในฐานะผู้แทนกรมสามัญศึกษาจำเลยที่ 2 การออกคำสั่งให้นักเรียนวิ่งรอบสนามเพื่ออบอุ่นร่างกายและการลงโทษนักเรียนให้วิ่งรอบสนาม ก็ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วย เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ทำให้เด็กชาย พ. นักเรียนคนหนึ่งในชั้นดังกล่าวถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายแก่โจทก์ผู้เป็นมารดาของเด็กชาย พ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 76 วรรคหนึ่ง
แม้เหตุละเมิดคดีนี้เกิดขึ้นก่อนที่ พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ใช้บังคับ แต่เมื่อโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้นั้น พ.ร.บ. ฉบับนี้ใช้บังคับแล้ว สิทธิของโจทก์ในการฟ้องเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐให้รับผิดทางละเมิดต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ ฉะนั้น เมื่อคดีปรากฏว่าการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ของกรมสามัญศึกษาจำเลยที่ 2 โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ดังกล่าว ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาว่า โจทก์เป็นมารดาเด็กชายพงศกร สังฆมณี จำเลยที่ ๑ เป็นข้าราชการครู สังกัดกรมสามัญศึกษากระทรวงศึกษาธิการ โดยมีตำแหน่งเป็นอาจารย์ ๒ ระดับ ๗ โรงเรียน วชิรธรรมสาธิต กรมสามัญศึกษา จำเลยที่ ๒ เป็นหน่วยงานของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคล สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และเป็นผู้บังคับบัญชาการของจำเลยที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๓๙ เวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา จำเลยที่ ๑ ในฐานะอาจารย์ผู้สอนวิชาพลศึกษาออกคำสั่งให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ห้อง ๑/๔ โรงเรียนวชิรธรรมสาธิต วิ่งรอบสนามบาสเก็ตบอล เพื่อเป็นการอบอุ่นร่างกายก่อนการสอน จำนวน ๑๑ รอบ จนเป็นเหตุให้เด็กชายพงศกรนักเรียนในชั้นเรียนดังกล่าว ซึ่งป่วยเป็นโรคหัวใจล้มลงขณะวิ่งรอบที่ ๑๑ และหมดสติไป จำเลยที่ ๑ กลับนิ่งเฉยไม่ให้ความช่วยเหลือในทันทีทันใด ต่อมามีอาจารย์อื่นได้นำเด็กชายพงศกรไปส่งโรงพยาบาล เมื่อไปถึงโรงพยาบาลเด็กชายพงศกรก็ถึงแก่ความตาย การตายของเด็กชายพงศกรสืบเนื่องมาจากขาดการเอาใจใส่ของจำเลยที่ ๑ โดยไม่ตรวจสอบดูว่าเด็กชายพงศกรป่วย เป็นโรคหัวใจหรือไม่ และให้เด็กชายพงศกรวิ่งกลางแดดในเวลาบ่ายโมงจำนวนหลายรอบจนทำให้เด็กชายพงศกร ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๑ จึงต้องร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๒ ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน ๑,๕๐๐,๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ สำหรับค่าธรรมเนียมศาลที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถานั้น ให้จำเลยทั้งสองร่วมกัน นำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๕,๐๐๐ บาท
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๒ ในข้อแรกว่า จำเลยที่ ๑ กระทำละเมิดเป็นเหตุให้เด็กชายพงศกรถึงแก่ความตายหรือไม่ เห็นว่า เหตุเกิดในชั่วโมงวิชาพลศึกษาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ห้อง ๑/๔ ซึ่งจำเลยที่ ๑ ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่สอนวิชาดังกล่าวแก่นักเรียนในชั้นนี้ ดังนั้น นอกจากจำเลยที่ ๑ จะต้องทำหน้าที่ให้ความรู้ อบรมสั่งสอนนักเรียนในวิชาพลศึกษาแล้ว ยังถือว่าจำเลยทั้งสองได้รับมอบหมายให้ดูแลนักเรียนซึ่งยังเป็นผู้เยาว์ให้ได้รับความปลอดภัย ให้ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในระเบียบข้อบังคับของโรงเรียน ไม่ไปก่อเรื่องเดือนร้อนเสียหายอย่างใด ๆ แก่ผู้อื่นในชั่วโมงดังกล่าวด้วย การสั่งให้นักเรียนวิ่งรอบสนามซึ่งมีระยะทางประมาณ ๒๐๐ เมตร ต่อ ๑ รอบ จำนวน ๓ รอบ ถือเป็นการอบอุ่นร่างกายก่อนการเรียนวิชาพลศึกษาในภาคปฏิบัตินับเป็นสิ่ง ที่เหมาะสม แม้เมื่อนักเรียนวิ่งไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยในการวิ่งรอบสนาม ๓ รอบแล้ว จำเลยที่ ๑ ได้สั่งให้นักเรียน วิ่งรอบสนามต่ออีก ๓ รอบ จะถือเป็นวิธีการทำโทษนักเรียนที่เหมาะสมตามควรแก่พฤติการณ์แล้วก็ตาม แต่การที่นักเรียนทั้งหมดยังวิ่งได้ไม่เรียบร้อยและไม่เป็นระเบียบแบบเดิมอีก จำเลยที่ ๑ ก็ควรหามาตรการหรือวิธีการลงโทษโดยวิธีอื่น การสั่งให้นักเรียนวิ่งรอบสนามต่อไปอีก ๓ รอบ และเมื่อนักเรียนยังทำได้ไม่เรียบร้อย จำเลยที่ ๑ ก็สั่งให้นักเรียนวิ่ง ต่อไปอีก ๓ รอบ ในช่วงหลังเที่ยงวันเพียงเล็กน้อยซึ่งได้ความตามคำเบิกความของเด็กชายกวิน กาญจนไพโรจน์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นนักเรียนห้องเดียวกับเด็กชายพงศกรในขณะเกิดเหตุว่า ขณะเกิดเหตุอากาศร้อนและมีแสงแดดแรงนับเป็นการใช้วิธีการลงโทษนักเรียนที่ไม่เหมาะสม เพราะจำเลยที่ ๑ น่าจะเล็งเห็นได้ว่าสภาพอากาศและแสงแดด ในขณะนั้นการลงโทษนักเรียนซึ่งมีอายุระหว่าง ๑๑ ปี ถึง ๑๒ ปี ด้วยวิธีการดังกล่าวอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของ นักเรียนได้ แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่าไม่มีนักเรียนคนใดได้รับอันตรายแก่ภายในการปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ยกเว้นเด็กชายพงศกร ก็ไม่อาจถือได้ว่าคำสั่งลงโทษนักเรียนของจำเลยที่ ๑ เป็นวิธีการที่ถูกต้องและเหมาะสม คำสั่งให้นักเรียนวิ่งรอบสนาม ๓ รอบ ในครั้งที่ ๓ และครั้งที่ ๔ จึงเป็นการกระทำโดยไม่ชอบและเป็นความประมาทเลินเล่อ การออกกำลังกายโดยการวิ่งรอบสนามย่อมทำให้หัวใจเต้นแรงกว่าปกติ นักเรียนวิ่งรอบสนามจำนวนรอบที่เพิ่มมากขึ้น ย่อมทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น เมื่อเป็นเวลานานย่อมเป็นอันตรายต่อหัวใจที่ไม่ปกติ จนทำให้เด็กชายพงศกร ซึ่งเป็นโรคหัวใจอยู่ก่อนแล้วล้มลงในการวิ่งรอบสนามรอบที่ ๑๑ แม้จะมีการปฐมพยาบาลในเบื้องต้นและนำส่ง โรงพยาบาลทันที ก็ไม่สามารถทำให้อาการของเด็กชายพงศกรดีขึ้น และถึงแก่ความตายในเวลาต่อมาเพราะสาเหตุระบบหัวใจล้มเหลว การตายของเด็กชายพงศกรจึงเป็นผลโดยตรงจากการวิ่งออกกำลังตามคำสั่งของจำเลยที่ ๑ แม้จำเลยที่ ๑ จะไม่ทราบว่าเด็กชายพงศกรเป็นโรคหัวใจก็ตาม มิใช่เกิดจากเหตุสุดวิสัยตามที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาแต่อย่างใด ถือได้ว่าจำเลยที่ ๑ กระทำละเมิดเป็นเหตุให้เด็กชายพงศกรถึงแก่ความตาย
ส่วนที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า จำเลยที่ ๒ ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ ๑ ทำการสอนวิชาพลศึกษาในชั่วโมงวิชาพลศึกษาของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ห้อง ๑/๔ ของโรงเรียนวชิรธรรมสาธิต เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการในฐานะผู้แทนของกรมสามัญศึกษาจำเลยที่ ๒ การออกคำสั่งให้นักเรียนวิ่งรอบสนามเพื่ออบอุ่นร่างกายและการลงโทษนักเรียนให้วิ่งรอบสนาม ก็ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วย เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ ราชการดังกล่าวของจำเลยที่ ๑ ทำให้เด็กชายพงศกรนักเรียนคนหนึ่งในชั้นดังกล่าวถึงแก่ความตาย จำเลยที่ ๒ จึงต้อง รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายแก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๖ วรรคหนึ่ง
อนึ่ง แม้เหตุละเมิดคดีนี้เกิดขึ้นก่อนที่พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ใช้บังคับ แต่เมื่อโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้นั้นพระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับแล้ว สิทธิของโจทก์ในการฟ้องเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐให้รับผิดทางละเมิดจึงต้องไปตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ ฉะนั้น เมื่อคดีปรากฏว่าการทำละเมิดของจำเลยที่ ๑ ต่อโจทก์เป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องจำเลยที่ ๑ ตามมาตรา ๕ แห่ง พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ดังกล่าว ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ (๕) ประกอบมาตรา ๒๔๖, ๒๔๗
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๒ ชำระเงินจำนวน ๖๐๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์.