คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1389/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการสาขาของธนาคารจำเลยทำรายการซื้อตั๋วแลกเงินแทนลูกค้า จากนั้นเก็บตั๋วแลกเงินที่ขายให้ลูกค้าไว้แล้วออกสมุดเงินฝากให้แก่ลูกค้าโดยที่ลูกค้ามิได้ฝากเงินไว้กับจำเลย เป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบการทำงานของจำเลยซึ่งให้สาขาออกคู่ฉบับใบลงรับมอบให้ลูกค้าไว้เป็นหลักฐาน อาจเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายได้ เพราะหากลูกค้านำสมุดเงินฝากมาขอเบิกเงินจากจำเลย จำเลยอาจต้องรับผิดจ่ายเงินตามสมุดเงินฝากแก่ลูกค้า แม้จะยังไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยเนื่องจากโจทก์กระทำไปโดยได้รับความยินยอมจากลูกค้าและเพื่อประโยชน์ของจำเลยโดยโจทก์มิได้ทุจริตต่อหน้าที่ ก็ต้องถือว่าการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือคำสั่งของจำเลยอันเป็นกรณีร้ายแรงแล้ว จำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่จำต้องตักเตือนและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(4)
อุทธรณ์ของโจทก์ที่อ้างพยานบุคคล พยานเอกสารและเหตุผลต่าง ๆ เพื่อให้ศาลฎีการับฟังว่า พยานหลักฐานจำเลยยังรับฟังไม่ได้ว่าผู้แทนนิติบุคคลไม่ยินยอมให้ใช้ชื่อนิติบุคคลนั้นเป็นผู้ซื้อตั๋วแลกเงินก็ดี จ. เป็นผู้เก็บส่วนต่างของดอกเบี้ยจากการจำหน่ายตั๋วแลกเงินให้แก่ลูกค้าก็ดี ล้วนแต่เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54วรรคหนึ่ง
ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยและคณะกรรมการสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนทางวินัยโจทก์แล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า คณะกรรมการที่จำเลยแต่งตั้งขึ้นมิได้มีการสอบสวนทางวินัยและลงโทษโจทก์ จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางซึ่งเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
ศาลแรงงานกลางมิได้รับฟังข้อเท็จจริงว่า ท. กับ จ. กระทำการฝ่าฝืนต่อระเบียบหรือคำสั่งของจำเลยและจำเลยอนุมัติให้บุคคลทั้งสองลาออกดังที่โจทก์อ้างมาในอุทธรณ์ อุทธรณ์ของโจทก์เป็นการเพิ่มเติมข้อเท็จจริงนอกเหนือจากที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมา ถือว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2522 จำเลยว่าจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างซึ่งโจทก์ก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ตามคำสั่ง ระเบียบและข้อบังคับของจำเลยโดยเคร่งครัดตลอดมา มีประวัติการทำงานดีเด่น ทำให้ได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นตามลำดับจนถึงตำแหน่งผู้จัดการธนาคารจำเลยสาขาศรีสะเกษ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 35,005 บาท ต่อมาวันที่ 14 กันยายน 2541 จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงาน อ้างว่าโจทก์กระทำผิดวินัยร้ายแรง เนื่องจากปฏิบัติงานฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยในการจำหน่ายตั๋วแลกเงิน และใช้อำนาจหน้าที่ไม่เหมาะสม ทำให้จำเลยขาดความไว้วางใจโดยจำเลยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา ทำให้โจทก์ไม่มีโอกาสชี้แจงและนำพยานหลักฐานเข้าหักล้างข้อกล่าวหาของจำเลย ทั้งที่โจทก์ได้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวตามระเบียบคำสั่งและวิธีปฏิบัติของจำเลยทั้งสิ้นเป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อประโยชน์ของจำเลยในการระดมเงินทุน แต่วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการขายตั๋วแลกเงินของจำเลยขัดต่อกฎหมายและคำสั่งของกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 ประกอบกับมีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับการขายตั๋วแลกเงินของจำเลยสาขาศรีสะเกษไปยังสำนักงานสรรพากรภาค 9 แต่จำเลยไม่สามารถหาเหตุผลไปหักล้างข้อร้องเรียนดังกล่าวได้ จึงหาเหตุให้โจทก์ออกจากงาน การกระทำของจำเลยเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม หากโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยต่อไปจนครบเกษียณอายุซึ่งเหลืออยู่ถึง 16 ปี ก็จะได้รับเงินค่าตอบแทนการทำงานจากจำเลย 10,017,050 บาท การที่ถูกเลิกจ้างจึงทำให้โจทก์ขาดรายได้จำนวนดังกล่าว และเมื่อโจทก์ทำงานจนครบเกษียณอายุ โจทก์ก็จะมีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีก 10,886,675 บาท แต่โจทก์ขอคิดค่าเสียหายในสองส่วนนี้เพียง 20,000,000 บาท นอกจากนี้โจทก์ยังมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 70,009.80 บาท กับค่าชดเชย 350,049 บาท จากจำเลยด้วย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 20,000,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 70,009.80 บาท และค่าชดเชยจำนวน 350,049 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย โดยมีวันเริ่มปฏิบัติงาน วันที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงาน และค่าจ้างอัตราสุดท้ายตรงตามฟ้อง ในการปฏิบัติงานโจทก์จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระเบียบและคำสั่งของจำเลยโดยเคร่งครัดและสุจริต การที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานเพราะโจทก์กระทำผิดระเบียบของจำเลยในการจำหน่ายตั๋วแลกเงิน กล่าวคือโจทก์ได้รวบรวมเงินจากลูกค้าซึ่งเป็นบุคคลธรรมดามาลงทุนซื้อตั๋วแลกเงินในนามนิติบุคคล โดยผู้แทนนิติบุคคลนั้น ๆ ไม่ทราบการกระทำดังกล่าว รวมทั้งมีการใช้ชื่อนิติบุคคลปลอมที่ไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายมาซื้อตั๋วแลกเงินด้วยและโจทก์ได้มอบสมุดเงินฝากประจำให้ลูกค้าเป็นหลักฐานแทนการซื้อตั๋วแลกเงิน โดยใช้เครื่องพิมพ์ดีดพิมพ์รายละเอียดในสมุดเงินฝากประจำ แทนที่จะใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำรายการตามวิธีปฏิบัติของจำเลย เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้จำเลยตรวจพบการกระทำผิด อันเป็นข้อพิรุธแสดงความไม่สุจริตของโจทก์ และโจทก์ทำรายการถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของลูกค้าเพื่อซื้อตั๋วแลกเงิน โดยลูกค้าไม่ได้ลงนามในใบถอนเงิน นอกจากนี้โจทก์ยังได้นำส่วนต่างของดอกเบี้ยจากการลงทุนในตั๋วแลกเงินของลูกค้าไปจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากรายอื่น ๆ อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำสั่งของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง และจำเลยได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเกี่ยวกับการกระทำของโจทก์ดังกล่าวโดยชอบแล้ว ผลการสอบสวนปรากฏว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานและเหตุผลเพียงพอที่สามารถหักล้างข้อกล่าวหาของจำเลยได้ คณะกรรมการสอบสวนจึงมีความเห็นว่า การกระทำดังกล่าวของโจทก์เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ไม่เหมาะสมและปฏิบัติงานฝ่าฝืนระเบียบของจำเลยในการจำหน่ายตั๋วแลกเงิน ซึ่งเป็นกรณีร้ายแรงส่งผลให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างมาก ทำให้จำเลยขาดความไว้วางใจโจทก์ จำเลยจึงมีคำสั่งให้ออกจากงาน โดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า การกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของนายจ้างในการบริหารงานธุรกิจให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและเป็นธรรมไม่ได้กลั่นแกล้งเลิกจ้างโจทก์ จึงไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแต่อย่างใดซึ่งโจทก์ก็ได้อุทธรณ์คำสั่งเฉพาะโทษทางวินัยเพื่อขอเปลี่ยนโทษให้ออกจากการเป็นพนักงานเป็นขอลาออกเท่านั้น มิได้อุทธรณ์แก้ข้อกล่าวหาว่าไม่ได้กระทำผิด แต่จำเลยพิจารณาแล้วให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ เนื่องจากจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบ ข้อบังคับและคำสั่งของจำเลยในกรณีร้ายแรงอันเป็นการเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(4) จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ค่าเสียหาย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงินจำนวน 350,049บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2543 อันเป็นวันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์ได้ฝ่าฝืนระเบียบหรือคำสั่งของจำเลยอันเป็นกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ในระหว่างที่โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้จัดการธนาคารจำเลยสาขาศรีสะเกษ โจทก์ได้ใช้ชื่อนิติบุคคลที่ไม่ได้มีการจดทะเบียนตามกฎหมายทำรายการซื้อตั๋วแลกเงินแทนลูกค้าบุคคลธรรมดา ใช้ชื่อนิติบุคคลที่จดทะเบียนตามกฎหมายทำรายการซื้อตั๋วแลกเงินโดยผู้แทนนิติบุคคลนั้นไม่ได้รับทราบ เก็บตั๋วแลกเงินที่ขายให้ลูกค้าไว้โดยออกสมุดเงินฝากให้แทนทำรายการถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของลูกค้าเพื่อซื้อตั๋วแลกเงินโดยลูกค้าไม่ได้ลงนามในใบถอนเงินและนำส่วนต่างดอกเบี้ยจากการลงทุนในตั๋วแลกเงินของลูกค้าบางรายฝากเข้าบัญชีกองกลางของสาขา แม้โจทก์กระทำไปโดยความยินยอมของลูกค้า ก็ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย เรื่องวิธีปฏิบัติในการจำหน่ายตั๋วแลกเงินตามเอกสารหมาย ล.16 และ ล.17 จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2541 โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า เห็นว่า การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการสาขาของจำเลยทำรายการซื้อตั๋วแลกเงินแทนลูกค้าบุคคลธรรมดา จากนั้นเก็บตั๋วแลกเงินที่ขายให้ลูกค้าไว้แล้วออกสมุดเงินฝากให้แก่ลูกค้าโดยที่ลูกค้ามิได้ฝากเงินไว้กับจำเลยเป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบการทำงานของจำเลย เรื่อง วิธีปฏิบัติในการจำหน่ายตั๋วแลกเงินตามเอกสารหมาย ล.17 ข้อ 2.2 ซึ่งให้สาขาออกคู่ฉบับใบลงรับมอบให้ลูกค้าไว้เป็นหลักฐาน อาจเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายได้เพราะหากลูกค้านำสมุดเงินฝากมาขอเบิกเงินจากจำเลย จำเลยอาจต้องรับผิดจ่ายเงินตามสมุดเงินฝากแก่ลูกค้าแม้ว่าการกระทำของโจทก์ดังกล่าวจะยังไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่จำเลยเนื่องจากโจทก์กระทำไปโดยได้รับความยินยอมจากลูกค้าและเพื่อประโยชน์ของจำเลยโดยที่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ก็ตาม ก็ต้องถือว่าการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือคำสั่งของจำเลยอันเป็นกรณีร้ายแรงแล้ว ส่วนที่ฝ่ายตรวจสอบของจำเลยทำการตรวจสอบกิจการสาขาศรีสะเกษทุกปี แต่ไม่มีข้อทักท้วงหรือตำหนิการกระทำของโจทก์แต่อย่างใดนั้น ก็เป็นกรณีการตรวจสอบเฉพาะเรื่องการจำหน่ายตั๋วแลกเงินให้แก่ลูกค้าซึ่งอ้างว่าเป็นนิติบุคคลแต่มิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจริงเท่านั้นหาใช่กรณีตรวจสอบเรื่องที่โจทก์ออกสมุดเงินฝากให้ลูกค้ายึดถือแทนใบลงรับอันจะถือเป็นเหตุว่าจำเลยมิได้นับว่าการกระทำของโจทก์ในกรณีนี้มิใช่เป็นเรื่องร้ายแรงแต่อย่างใดไม่ จำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่จำต้องตักเตือนและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(4) กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่า การที่โจทก์นำชื่อนิติบุคคลไปซื้อตั๋วแลกเงิน โดยผู้แทนนิติบุคคลนั้นไม่ยินยอมก็ดีการกันส่วนต่างของดอกเบี้ยจากการลงทุนซื้อตั๋วแลกเงินของลูกค้าก็ดี จะเป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือคำสั่งของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น

ที่โจทก์อุทธรณ์ข้อแรกโดยอ้างพยานบุคคล พยานเอกสารและเหตุผลต่าง ๆเพื่อให้ศาลฎีการับฟังว่า พยานหลักฐานจำเลยยังรับฟังไม่ได้ว่าผู้แทนนิติบุคคลไม่ยินยอมให้ใช้ชื่อนิติบุคคลนั้นเป็นผู้ซื้อตั๋วแลกเงินก็ดี นางสาวจินตนา ศานติยานันท์ เป็นผู้เก็บส่วนต่างของดอกเบี้ยจากการจำหน่ายตั๋วแลกเงินให้แก่ลูกค้าก็ดี ล้วนแต่เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางซึ่งรับฟังข้อเท็จจริงมาแล้วดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เมื่อข้ออ้างตามอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ทั้งได้วินิจฉัยแล้วว่าการกระทำของโจทก์ในกรณีที่โจทก์ทำรายการซื้อตั๋วแลกเงินแทนลูกค้าบุคคลธรรมดาจากนั้นเก็บตั๋วแลกเงินที่ขายให้ลูกค้าไว้แล้วออกสมุดเงินฝากให้แก่ลูกค้าโดยที่ลูกค้ามิได้ฝากเงินไว้กับจำเลย เป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบหรือคำสั่งของจำเลยในกรณีร้ายแรง ดังนั้น ไม่ว่าการกระทำอื่นของโจทก์ตามที่จำเลยกล่าวหาว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบหรือคำสั่งของจำเลยจะเป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบหรือคำสั่งของจำเลยตามที่โจทก์อุทธรณ์หรือไม่ก็ตาม ก็ไม่อาจทำให้ผลคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ที่โจทก์อุทธรณ์ข้อต่อไปในทำนองว่า คณะกรรมการสอบสวนที่จำเลยแต่งตั้งขึ้นเพียงแต่เชิญโจทก์มาชี้แจงเท่านั้น มิได้มีการสอบสวนทางวินัยและลงโทษโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้น คณะกรรมการสอบสวนของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.9 จึงดำเนินการโดยไม่ชอบไม่อาจรับฟังว่าเป็นกรรมการสอบสวนทางวินัยตามข้อบังคับของจำเลยเอกสารหมาย ล.2 นั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยแล้ววินิจฉัยว่า ตามบันทึกถ้อยคำของโจทก์เอกสารหมาย ล.8 มีข้อความชัดเจนว่าโจทก์ให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการสอบสวน ซึ่งในสถานภาพของโจทก์ย่อมจะทราบดีว่าจะต้องถูกสอบสวนทางวินัย ทั้งยังได้ให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการสอบสวนยอมรับว่ามีการกระทำตามที่ถูกกล่าวหาจริง จะเห็นได้ว่าศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยและคณะกรรมการสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนทางวินัยโจทก์แล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง ซึ่งเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ข้อสุดท้ายในทำนองว่า จำเลยเลือกปฏิบัติโดยนายทวีศักดิ์จิรวัฒนานุรักษ์ และนางสาวจินตนากระทำความผิดร้ายแรงยิ่งกว่าโจทก์ แต่จำเลยกลับอนุมัติให้บุคคลทั้งสองลาออกและเอาข้อมูลจากบุคคลทั้งสองมาลงโทษโจทก์โดยเลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางมิได้รับฟังข้อเท็จจริงว่านายทวีศักดิ์กับนางสาวจินตนากระทำการฝ่าฝืนต่อระเบียบหรือคำสั่งของจำเลยและจำเลยอนุมัติให้บุคคลทั้งสองลาออกดังที่โจทก์อ้างมาในอุทธรณ์แต่อย่างใด อุทธรณ์ของโจทก์เป็นการเพิ่มเติมข้อเท็จจริงนอกเหนือจากที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมา ถือว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งหมด

Share