คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5121/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ตายเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรแหล่งน้ำ 1 รับผิดชอบเป็นผู้จัดการโครงการวางท่อส่งน้ำ โดยทำงานร่วมกับบริษัทช.ผู้ตายต้องรับผิดชอบงานหลายด้าน เช่น การบริหารงานบุคคลดูแลงบประมาณและติดต่อกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งยังต้องเร่งรัดให้งานแล้วเสร็จในกำหนด ต้องทำงานหนักตลอดสัปดาห์และทำงานล่วงเวลาด้วย เมื่อความเครียด จะเป็นตัวกระตุ้นให้หัวใจขาดเลือดเพิ่มขึ้นและทำให้หัวใจหยุดเต้นทันทีได้การที่ผู้ตายถึงแก่ความตายในขณะทำงานเป็นผลเนื่องจากสภาพของการที่ผู้ตายต้องตรากตรำทำงานหนักมากตลอดทั้งสัปดาห์ และทำงานล่วงเวลาด้วยเป็นสาเหตุแห่งความเครียด ทำให้ หัวใจขาดเลือดและทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ถือได้ว่าผู้ตาย ถึงแก่ความตายด้วยโรคหรือการเจ็บป่วยซึ่งเป็นผลเนื่องจาก การทำงานให้แก่นายจ้าง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องโรคซึ่งเกิดขึ้นเกี่ยวเนื่อง กับการทำงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 22

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนผลการวินิจฉัยเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนที่ มท 1331/14224 ลงวันที่ 12 มีนาคม 2536 และผลการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่ มท 1331/40817 ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2536 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินทดแทนจำนวน 1,801,800 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า นายจริง ศัลยพงษ์ มิได้ถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง การตายของนายจริงเกิดจากระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลวเนื่องจากพยาธิสภาพของหัวใจและปอดโดยจากการตรวจศพพบว่าเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจตีบตันบางส่วน ปอดอักเสบในเนื้อปอด 2 ข้าง ถุงลมปอดโป่งพอง ซึ่งลักษณะของอวัยวะดังกล่าวมิได้เกี่ยวข้องกับสภาพการทำงานให้แก่นายจ้างลักษณะของงานไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายแก่หัวใจและปอด การเกิดโรคหรือเจ็บป่วยของนายจริงเกิดจากสภาพของอวัยวะนั้นนั้นเอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นภริยาของนายจริง ศัลยพงษ์ผู้ตาย ก่อนตายผู้ตายมีอาชีพเป็นวิศวกรทำงานอยู่ที่บริษัททีม คอนซัลติ้ง เอ็นจิเนียร์ จำกัด ตั้งแต่ปี 2527ครั้งสุดท้ายมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรแหล่งน้ำ 1ได้รับเงินเดือนอัตราสุดท้าย 50,050 บาท รับผิดชอบเป็นผู้จัดการโครงการวางท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ โดยร่วมทำงานกับบริษัทซันยู่ คอนเซ้าท์แตนท์ จำกัด ผู้ตายรับผิดชอบงานหลายด้าน เช่น การบริหารงานบุคคล ดูแลงบประมาณ และติดต่อกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งยังต้องเร่งรัดให้งานแล้วเสร็จในกำหนดต้องทำงานหนักตลอดสัปดาห์ และต้องทำงานล่วงเวลาด้วย เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2535 เวลาประมาณ 20 นาฬิกา ผู้ตายถึงแก่ความตายขณะนั่งทำงานอยู่ที่บริษัทซันยู่ คอนเซ้าท์แตนท์ จำกัดแพทย์ผ่าตัดตรวจพิสูจน์แล้วมีความเห็นว่า ตายเพราะระบบหายใจไหลเวียนโลหิตล้มเหลวเนื่องจากพยาธิสภาพของหัวใจและปอดตามใบรับรองการตาย และรายงานการตรวจสภาพเอกสารหมายจ.5 และ จ.6 และข้อเท็จจริงฟังได้ต่อไปว่าในเชิงวิชาการเป็นที่ยอมรับว่า ความเครียดจะเป็นตัวกระตุ้นให้หลอดเลือดหัวใจขาดเลือดเพิ่มขึ้น และทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นทันทีได้ตามหนังสือตำราทางอายุรกรรมเอกสารหมาย จ.25 และ จ.26คดีมีปัญหาว่าที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่ผู้ตายถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างหรือไม่พิเคราะห์แล้วประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 26 เมษายน 2515 ข้อ 54 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 9) ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2525 ข้อ 2 ความว่า “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย หรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตาย ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทน ฯลฯ” ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 ให้คำนิยามว่า “เจ็บป่วย”หมายความว่า การที่ลูกจ้างป่วยเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างด้วยโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือโรคซึ่งเกิดขึ้นจากการทำงานตามที่กระทรวงมหาดไทยจะได้กำหนดชนิดของโรคนั้น และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องโรคซึ่งเกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกับการทำงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515คือ “22. โรคหรือการเจ็บป่วยอย่างอื่นซึ่งเป็นผลเนื่องจากการทำงาน”ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงมาว่า ผู้ตายเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรแหล่งน้ำ 1 รับผิดชอบเป็นผู้จัดการโครงการวางท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ โดยทำงานร่วมกับบริษัทซันยู่ คอนเซ้าท์แต้นท์จำกัด ผู้ตายต้องรับผิดชอบงานหลายด้าน เช่น การบริหารงานบุคคลดูแลงบประมาณและติดต่อกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งยังต้องเร่งรัดให้งานแล้วเสร็จในกำหนด ต้องทำงานหนักตลอดสัปดาห์ และทำงานล่วงเวลาด้วย ทั้งได้ความว่าความเครียดจะเป็นตัวกระตุ้นให้หัวใจขาดเลือดเพิ่มขึ้นและทำให้หัวใจหยุดเต้นทันทีได้ เห็นว่า ผู้ตายถึงแก่ความตายในขณะทำงาน การที่ผู้ตายถึงแก่ความตายนั้นเป็นผลเนื่องจากสภาพของการที่ผู้ตายต้องตรากตรำทำงานหนักมากตลอดทั้งสัปดาห์ และทำงานล่วงเวลาอีกด้วยเป็นสาเหตุแห่งความเครียดทำให้หัวใจขาดเลือดและทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายถือได้ว่าผู้ตายถึงแก่ความตายด้วยโรคหรือการเจ็บป่วยซึ่งเป็นผลเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง โจทก์ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายมีสิทธิได้รับค่าทดแทนตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 54(4)ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดการจ่ายค่าทดแทนลงวันที่16 เมษายน 2515 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การกำหนดจ่ายค่าทดแทน (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2525ข้อ 4 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น อย่างไรก็ตามไม่ปรากฏว่ามีการผิดนัดไม่จ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ย”
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าทดแทนให้แก่โจทก์เดือนละ 6,000 บาท มีกำหนด 5 ปีนับแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2535 คำขอนอกจากนี้ให้ยก

Share