แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่อสิทธิเรียกร้องขาดอายุความประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/10และ 193/28 ให้จำเลยมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ได้ เมื่อจำเลยไม่ใช้สิทธินั้นโดยชำระหนี้บางส่วนแก่โจทก์ จึงมีผลเพียงว่า จำเลยจะเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนไม่ได้เท่านั้นส่วนการรับสภาพหนี้ด้วยการชำระหนี้บางส่วนที่จะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(1) จะต้องกระทำก่อนที่หนี้นั้นจะขาดอายุความ ดังนั้น การชำระหนี้ของจำเลยภายหลังที่สิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความแล้ว จึงไม่ใช่การรับสภาพหนี้ ไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2536 และวันที่ 11 ธันวาคม 2536 จำเลยซื้อยางรถยนต์จากโจทก์รวมเป็นเงิน 38,260 บาท ตกลงชำระหนี้ให้แก่โจทก์ภายใน7 วัน นับแต่วันที่ได้รับสินค้า ครบกำหนดจำเลยผิดสัญญานำเงินมาชำระให้แก่โจทก์ไม่ครบถ้วน โดยชำระในวันที่ 12 มกราคม 2542 จำนวน 1,000 บาท และวันที่ 16มิถุนายน 2542 จำนวน 1,000 บาท จำเลยยังค้างชำระอีกจำนวน 36,260 บาทจำเลยตกลงจะชำระหนี้ส่วนที่ค้างภายใน 1 เดือน แต่เมื่อครบกำหนดจำเลยไม่ชำระขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 37,930 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 36,260 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยซื้อสินค้าจากโจทก์ โจทก์มิได้ใช้สิทธิฟ้องเรียกค่าสินค้าภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2536 คดีโจทก์จึงขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 36,260 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเงินเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายและมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริง คำสั่งศาลชั้นต้นเป็นที่สุด
ระหว่างอุทธรณ์ จำเลยได้รับอนุญาตให้ทุเลาการบังคับคดี ต่อมาในวันพิจารณาหลักประกัน จำเลยขอเลื่อนคดีอ้างว่าจำเลยยังหาประกันมาวางศาลไม่ได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยไม่นำหลักประกันมาวางตามคำสั่งศาล ถือว่าจำเลยไม่ติดใจทุเลาการบังคับคดี ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่จำเลยชำระหนี้บางส่วนแก่โจทก์ภายหลังจากสิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความแล้วถือเป็นการรับสภาพหนี้ ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/10 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความ ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้” และมาตรา 193/28 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องซึ่งขาดอายุความแล้วนั้น ไม่ว่ามากน้อยเพียงใด จะเรียกคืนไม่ได้ แม้ว่าผู้ชำระหนี้ไม่รู้ว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วก็ตาม” ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จำเลยมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ได้ เมื่อจำเลยไม่ใช้สิทธินั้นโดยชำระหนี้บางส่วนแก่โจทก์ก็มีผลเพียงว่าจำเลยจะเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนไม่ได้เท่านั้น ทั้งการรับสารภาพหนี้ด้วยการชำระหนี้บางส่วนที่จะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(1) จะต้องกระทำก่อนที่หนี้นั้นจะขาดอายุความ ดังนั้น การชำระหนี้ของจำเลยดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นเรื่องการรับสภาพหนี้ไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน